สาวขำแห้งทำตามทฤษฎี เปิดแอร์ 27+พัดลม ค่าไฟแพงขึ้น ชาวเน็ตรัวคอมเมนต์ทฤษฎีไม่ตรงปก? ล่าสุด "อ.เจษฎ์" ไขคำตอบ คาดความผันแปรอาจเกิดจากสิ่งนี้
วันที่ 4 มิถุนายน 2567 "อ.เจษฎ์" รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จุฬาฯ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เผยถึงกรณี
คลิปติ๊กต๊อก "เปิดแอร์ 27 องศา + เปิดพัดลม แล้วค่าไฟขึ้น" เอามาอ้างอิงได้ จริงหรือ ? ผมว่าไม่นะครับ
มีนักข่าวสองสามช่อง โทรมาถามถึงกรณีที่มีคลิปติ๊กต๊อก ของหญิงสาวรายหนึ่ง ทำตามวิธีลดค่าไฟด้วยการ "เปิดแอร์ 27 องศา และเปิดพัดลม" หวังลดค่าไฟ แต่ค่าไฟกลับสูงขึ้น โดยบิลค่าไฟเดือนนี้พุ่งไป 6,000 บาท ทำเอาชาวเน็ตสับสน เพราะมีบางส่วนทำแล้ว ได้ผลดีเกินคาด
#โดยสรุป การทดลองในคลิปติ๊กต๊อกที่แชร์กันนั้น ยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องการควบคุมตัวแปรต่างๆ และผมยังเชื่อว่า การเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมเป่าตัว ช่วยทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ มากกว่าการเปิดแอร์ 25 องศา (โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นแอร์ Inverter ยิ่งประหยัดขึ้นไปอีก) ไม่น่าจะทำให้กินไฟขึ้นมาก อย่างในคลิปดังกล่าวครับ
ตามรายงานข่าว ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง แชร์คลิป ลองทำตามวิธีลดค่าไฟ ตามที่แชร์กันในโลกโซเชียล https://www.tiktok.com/@siri70993/video/7375493759070407944 โดยเปิดแอร์ที่ 27 องศา แล้วเปิดพัดลมควบคู่ กับห้อง 3 ห้องที่บ้าน
ในคลิปเธอบอกว่า ปกติแล้วเปิดแอร์ 25 องศา เพียงอย่างเดียว ใช้ไฟไปทั้งหมด 1,000 หน่วย ค่าไฟอยู่ 5,100 บาท แต่เมื่อได้รับบิลค่าไฟ กลับพบว่าใช้ไฟไป 1,200 หน่วย และค่าไฟพุ่งสูงขึ้น 6,100 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 1,000 บาท เธอได้พูดแนวขบขับว่าน่าจะเป็นค่าพัดลม 3 ตัว พร้อมแนะชาวเน็ตอย่าหาทำ ไม่เวิร์ก โดนหลอก !?
ประเด็นสำคัญที่ต้องคิดคือ คลิปการทดลองดังกล่าว ไม่มีรายละเอียดใดๆ เลยว่าที่ทำการทดลองไปหนึ่งเดือนนั้น ได้ควบคุมปัจจัยอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะจากเครื่องแอร์ พัดลม รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ในบ้าน ให้เหมือนกันตลอดทั้งสองเดือนที่นำมาเทียบกัน
พูดง่ายๆ คือ ถ้าเดือนแรก เปิดแอร์ 25 องศา แต่เปิดไม่เยอะ ไม่บ่อย / แล้วเดือนที่สอง เปิดแอร์ 27 องศาพร้อมเปิดพัดลม แล้วเปิดบ่อย เปิดเยอะ ค่าไฟฟ้า (ซึ่งคิดคำนวณตามจำนวนชั่วโมงที่ใช้ไฟ) ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ในขณะที่ ถ้าเป็นการทดลองโดยอยู่ในสภาวะควบคุมปัจจัยต่างๆ ให้คงที่ และเปิดแอร์เป็นเวลานานเท่ากัน การตั้งค่าอุณหภูมิเครื่องแอร์ที่สูงขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 10% (ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง) ทำให้การตั้งค่าอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศที่ 27 องศาเซลเซียส จะประหยัดไฟฟ้ามากกว่าที่ 25 องศา
และการเปิดพัดลมช่วย ให้ลมปะทะร่างกาย ก็จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกเย็นสบายมากขึ้นกว่าเดิมได้ถึง 2 องศาเซลเซียส .. จึงแนะนำให้เปิดแอร์ที่ 27 องศา+เปิดพัดลมเป่าตัว เพื่อให้ได้ "ความรู้สึก" เย็นสบายเหมือนเปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส ... พูดง่ายๆ คือ ให้แอร์สร้างอากาศที่เย็น แล้วใช้พัดลมเป่าเข้ามา ให้ร่างกายรับอากาศเย็นนั้น
และการเปิดพัดลมนานๆ นั้น ก็ไม่ได้จะส่งต่อค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น เพราะเมื่อเทียบกับแอร์แล้ว พัดลมใช้ไฟฟ้าน้อยกว่ากันมาก ... โดยส่วนใหญ่แล้ว พัดลมไฟฟ้าขนาดใบพัด 16 นิ้ว เปิดลมเบอร์ 1 จะกินไฟแค่ประมาณ 40 วัตต์เท่านั้น / หรือคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเปิดแอร์ขนาด 9000 bTU จะใช้ไฟฟ้าไป พอกับพัดลมขนาด 16 นิ้ว มากถึง 16 ตัว / หรือถ้าคิดแบบหยาบๆ เครื่องแอร์ 1 เครื่อง จะกินไฟตกชั่วโมงละประมาณ 1 หน่วย ขณะที่พัดลม ใช้ไฟฟ้าแค่ 0.05 หน่วยต่อชั่วโมงเท่านั้น
ดังนั้น จริงๆ แล้ว ถ้าจะทำการทดลองเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ ก็คงต้องทำกันโดยควบคุมปัจจัยต่างๆ ให้คงที่ เช่น จำนวนชั่วโมงที่เปิดแอร์ในแต่ละวันต้องเท่าวัน ช่วงเวลาที่เปิดแอร์ก็ต้องเป็นช่วงเดียวกัน (กี่โมงถึงกี่โมง) เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ก็ต้องไม่เปิดเพิ่มให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าแปรปรวนไป
หรืออย่างน้อย ถ้าดูจากคลิปวิดีโอยูทูปที่มีคนเคยทดลองเอาไว้ แบบควบคุมปัจจัย (ช่อง Clear Energy ตอน "เปิดแอร์ 25องศา กับ 27องศาและเปิดพัดลม ค่าไฟต่างกันแค่ไหน? " https://youtu.be/eEtjqLjh7sA?si=kmmGrn3UdXWMDzHt ซึ่งทดลองกับเครื่องแอร์แบบ Inverter และเมื่อวัดกระแสไฟฟ้า ระหว่างเปิดแอร์ 25 องศาเซลเซียส พบว่าอยู่ที่ 8.58 แอมป์
ขณะที่วัดกระแสไฟฟ้าระหว่างเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมพัดลม จะอยู่ที่ 4.36 แอมป์ / ถ้าเปิดแอร์วันละ 9 ชั่วโมง คือตั้งแต่ 8 โมงเช้า - 5 โมงเย็น ได้ผลว่า ค่าไฟจะลดลงถึงประมาณ 50% เลยทีเดียว
ส่วนแอร์แบบรุ่นเก่าทั่วไป ที่ส่วนเครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานแบบ fixed speed ที่ความเร็วรอบคงที่ ไม่ได้ปรับให้เร็วช้าได้แบบแอร์ Inverter และไม่ได้ประหยัดไฟเท่าแบบ Inverter อยู่แล้วนั้น ผลที่ได้จากการเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียสแล้วเปิดพัดลม ก็ไม่น่าจะประหยัดไฟฟ้าไปได้ถึง 50% ดังว่า แต่ก็น่าจะประหยัดไฟขึ้นแน่ๆ (ถ้าอ้างอิงข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง ก็น่าจะได้ประมาณ 20%)
เมื่อย้อนกลับมาดูที่คลิปติ๊กต๊อก ที่บอกว่าการเปิดวิธีเปิดแอร์ ทำให้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 200 หน่วย ซึ่งขึ้นสูงกว่าเดิมมากถึง 20% จากเดิม .. ก็น่าสงสัยมาก ว่าจริงๆ แล้ว ได้มีการใช้งานแอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ หนักขึ้นกว่าเดิม ด้วยหรือเปล่า ถึงได้มีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นขนาดนั้นครับ
#โดยสรุป การทดลองในคลิปติ๊กต๊อกที่แชร์กันนั้น ยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องการควบคุมตัวแปรต่างๆ และผมยังเชื่อว่า การเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมเป่าตัว ช่วยทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ มากกว่าการเปิดแอร์ 25 องศา (โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นแอร์ Inverter ยิ่งประหยัดขึ้นไปอีก) ไม่น่าจะทำให้กินไฟขึ้นมาก อย่างในคลิปดังกล่าวครับ
Advertisement