โปรดักชั่นระดับโลก! เผยสถิติเบื้องหลัง 'เดอะ ไลอ้อน คิง' เปิดการแสดงที่กรุงเทพ

21 ก.ย. 62
ไมเคิล แคสเซิล กรุ๊ป (Michael Cassel Group) ร่วมกับ ดิสนีย์ เธียทริคัล โปรดักชั่นส์ (Disney Theatrical Productions) นำละครเพลง ดิสนีย์ เดอะ ไลอ้อน คิง (DISNEY’S THE LION KING) มาเปิดการแสดงที่กรุงเทพ เป็นครั้งแรก นำสู่สายตาชาวไทยโดย บริษัท บีอีซี-เทโร ซีเนริโอ “พูดสั้นๆว่า นี่คือการแสดงที่ไม่เหมือนใคร” หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ “เป็นละครเวทีที่น่าตื่นเต้นที่สุด แปลกใหม่ที่สุด และตราตรึงใจที่สุดเท่าที่เคยจัดแสดง ในบรอดเวย์” นิตยสารนิวส์วีค เดอะ ไลอ้อน คิง มิวสิคัล (THE LION KING) ถือเป็นปรากฎการณ์ระดับโลก และโปรดักชั่นนี้ถือเป็นทัวร์ในระดับนานาชาติครั้งแรกของโลก ซึ่งเริ่มต้นออกทัวร์เมื่อปีที่แล้วที่กรุงมะนิลา โดยบัตรเข้าชม การแสดงหลายรอบในหลายประเทศถูกจำหน่ายหมด และวันนี้ เดอะ ไลอ้อน คิง ได้เดินทางมา เปิดการแสดงที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก การแสดงชุดนี้สามารถตีความใหม่และถ่ายทอดออกมาได้อย่างสร้างสรรค์และชาญฉลาด จากภาพยนตร์ดิสนีย์อันเป็นที่รักของผู้คนมากมาย สู่ละครเพลงสุดอลังการ ที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยฝีไม้ลายมือของ จูลี่ เทย์มอร์ (Julie Taymor) สุดยอดผู้กำกับที่ทำให้ละครเพลง เรื่องนี้สร้างความประทับใจให้กับแฟนละครเพลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ และผู้ชมในประเทศไทยจะได้สัมผัสกับเสียงร้องอันทรงพลังและการแสดงที่จะสะกดทุกสายตาของคณะนักแสดงระดับโลกจาก 19 ประเทศที่มารวมตัวกันเพื่อทัวร์ครั้งนี้โดยเฉพาะ “โปรดักชั่นระดับโลกชุดนี้ ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอย่างมหาศาล ด้วยความสามารถอันน่าทึ่งของศิลปินนักแสดงจากทั่วโลก เราตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสมาเปิดการแสดงมิวสิคัลชั้นเลิศเช่นนี้ ที่เมืองไทยเป็นครั้งแรก” ไมเคิล แคสเซิล ผู้อำนวยการสร้างทัวร์ระดับนานาชาติชุดนี้กล่าว นักแสดงหลักของ เดอะ ไลอ้อน คิง มิวสิคัล (THE LION KING) ได้แก่ เเซปา พิทเจง ที่กลับมารับบท “ราฟิกิ” อีกครั้ง หลังจากเคยแสดงบทเดียวกันนี้ในโปรดักชั่นที่เปิดการแสดงในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน บราซิล และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วน จอร์แดน ชอว์ นักแสดงหนุ่มที่ส่งตรงมาจากกรุงลอนดอน รับบท “ซิมบ้า” มีโทโคซีสิ เอ็มเคย์ คานยาล รับบท “มุฟาซา” และอีกหนึ่งนักแสดงละครเวทีจากอังกฤษก็คือ แอนโทนี่ ลอเรนซ์ มารับบท “สการ์” นักแสดงชาวออสเตรเลีย อองเดรย์ จิวสัน รับบท “ซาซู” ส่วน นิค เมอร์เซอร์ จะกลับมารับบท “ทีโมน” ซึ่งเขาเคยแสดงในโปรดักชั่นที่เปิดแสดงในสหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งสุดยอดนักแสดงชาวแอฟริกาใต้ ปีแอร์ แว เฮียเด ที่จะมารับบท “พุมบ้า” ในส่วนของตัวละครหลักของเรื่องก็ได้ทีมนักแสดงจากแอฟริกาใต้ อย่าง อแมนด้า คูนีน นักแสดง ดาวรุ่งมารับบท “นาล่า” แคนดีดา โมโซมา กลับมารับบท “เซนซี” อีกครั้ง ส่วน บียอร์น บลิกนอท รับบท “บันไซ” และมาร์ค ทาแทม รับบท “เอ็ด” 4 นักแสดงชาวเอเชียที่มาร่วมทีมในครั้งนี้ คือ เอียน อัลเบิร์ต มากาโลน่า จากฟิลิปปินส์ และ เจย์เดน ลีโอเนล อินแกรม จากอินโดนีเซีย ที่รับบทซิมบ้าวัยเด็ก ส่วนบทนาล่าวัยเด็ก รับบทโดยสองนักแสดงจากฟิลิปปินส์ เวย์นฮาท แคลร์ จีออนซอน และ โซอี้ อาราเบลล่า การ์เซีย คณะนักแสดงหมู่ของ เดอะ ไลอ้อน คิง มิวสิคัล (THE LION KING) ประกอบด้วย ชาชาโน่ บาแอซ, ดายาน คิงส์ลีย์ บอกส์, มโฟ โบดีบ, รีโอจายล์ ชาวบี้, เทอร์เทีย โคทซี-ดิปเปนนาร์, วิริเดียนา คอร์เตส, ลิโซ่ จีซีวาเบ, เชียล่า เออร์นานเดซ, พูเมเลเล่ จีลี, คัดไซ คริสตีน แคปส์วาราห์, ลังจายล์ เคมบูล, ซีโซ่ แมตลาล่า, ซีโฟ มอมบายล์, ฟูเมน โมเก็ตซี, โนลูยันดา แมควาน่า, ซอดวา มราสิ, ลวาซิ มิสมาซี, ธาโต งวี, ทาบานี่ นูลิ, พีซ ไนราวา, โนโนโฟ โอลีเกง,คีราน ปาเตล, แองเจเลส เรย์ส, พูเมเลเล่ สิคะแคน, โอเป โซวานดี, โรมี่ โจ สเวลส์, ลูเยลวา โทชโชน่า, โทโล โทสเทตสิ, ซี-รอง วู, มอนเด ซอนดิ, แซนไดล์ ซอนดิ, บอนกา ซาลู ข้อมูล และสถิติเบื้องหลังที่น่าสนใจ 1. การปรับ เดอะ ไลอ้อน คิง (THE LION KING) จากภาพยนตร์มาเป็นละครเพลงใช้เวลานานถึง 3 ปี 2. ในภาพยนตร์อะนิเมชั่น ราฟิกิ ลิงบาบูนเป็นตัวละครผู้ชาย แต่ในเวอร์ชั่นละครเพลง ตัวละครนี้เปลี่ยนมาเป็นตัวละครผู้หญิงที่มีบุคลิกแข็งแกร่ง 3. ละครเพลงเรื่องนี้แสดงรอบแรกที่โรงละคร เดอะ ออร์เฟิม เธียเตอร์ ในเมืองมินเนอาโปลิส เมื่อเดือน กรกฎาคม 2540 4. ประโยค “ฮาคูนา มาทาทา” (แปลว่า “ไม่ต้องกังวล”) ถูกเอ่ยขึ้นในละครเพลงถึง 25 ครั้ง 5. จูลี่ เทย์มอร์ (Julie Taymor) เป็นผู้กำกับละครหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของบรอดเวย์ ที่ได้รับรางวัลโทนี่ อวอร์ด ในสาขาผู้กำกับละครเพลงยอดเยี่ยมในปี 2541 6. เดอะ ไลอ้อน คิง ฉลองครบรอบ 20 ปี ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และถือเป็นละครเพลงที่ทำการแสดงมายาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ของบรอดเวย์ 7. นับจนถึงปัจจุบัน เดอะ ไลอ้อน คิง คว้ารางวัลทางผลงานละครเวทีจากทั่วโลกมาแล้วมากกว่า 70 รางวัล 8. ละครเพลงเรื่องนี้คว้ารางวัลโทนี่ อวอร์ด ได้ถึง 6 รางวัลในปี 2541 ในสาขาละครเพลงยอดเยี่ยม กำกับการแสดงละครเพลงยอดเยี่ยม ออกแบบฉากยอดเยี่ยม ออกแบบชุดยอดเยี่ยม ออกแบบแสงยอดเยี่ยม และออกแบบท่าเต้นยอดเยี่ยม 9. ต้องใช้เวลาถึง 34,000 ชั่วโมงในการสร้างสรรค์หน้ากากและหุ่นเชิดต่างๆ ที่ใช้ในการแสดง โปรดักชั่นบรอดเวย์ชุดแรก 10. มีการใช้หุ่นเชิดกว่า 200 ตัวในโชว์ชุดนี้ ทั้งหุ่นเชิดด้วยลวด หุ่นเชิดเงา และหุ่นเชิดขนาด เท่าตัวจริง 11. ยีราฟ 2 ตัวในฉาก “ไอ จัสท์ แคนท์ เวท ทู บี คิง” (“I Just Can’t Wait to be King” scene) เป็นตัวละครสัตว์ที่สูงที่สุดในโชว์ชุดนี้ ด้วยความสูงถึง 5.5 เมตร 12. ตัวละครช้างที่มีชื่อเล่นว่าเบอร์ธา (Bertha) ที่ควบคุมโดยทีมงานหลังเวทีในปี 2540 เป็นตัวละครสัตว์ที่มีขนาดใหญ่และยาวที่สุดในการแสดง ด้วยความยาว 4 เมตร และกว้าง 3 เมตร 13. มีการใช้ภาษาชนเผ่าแอฟริกันถึง 6 ภาษาในการแสดงชุดนี้ คือ สวาฮิลี ซูลู คลิโฮซ่า (ภาษาดีดลิ้น) โซโธ สวาน่า และคองโกล 14. เดอะ ไลอ้อน คิง ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 8 ภาษา คือ ญี่ปุ่น เยอรมัน เกาหลี ฝรั่งเศส ดัตช์ จีนกลาง สเปน และโปรตุเกส 15. เดอะ ไลอ้อน คิง มีผู้ชมเข้าชมมาแล้วกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก การเดินทางมาเปิดการแสดงของ เดอะ ไลอ้อน คิง ในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นที่จับตามองอย่างมาก ด้วยรอบการแสดงที่เปิดให้เข้าชมยาวนานที่สุด เท่าที่ละครเพลงจากต่างประเทศเคยมาจัดการแสดง ในประเทศไทย.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวบันเทิง เป็นกระแส