“ชลน่าน” มั่นใจ คุมลูกพรรคโหวต “วันนอร์” นั่งเก้าอี้ ประธานสภา ได้ พร้อมย้ำนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ไร้มาตรา 112
วันที่ 4 ก.ค. 66 ที่อาคารัฐสภา (เกียกกาย) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ถึงกรณีตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลมีมติโหวตให้นาย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ วันนอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และหัวหน้าพรรคประชาชาติว่า ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยทุกฝ่ายยอมรับ และมั่นใจจะสามารถคุมเสียงทุกพรรคไม่ให้แตกแถวได้ ในการโหวตเราได้พูดคุยกันอย่างชัดเจน ด้วยเหตุผล เพื่อดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยทำงานร่วมกัน ขอให้มั่นใจว่าจะสามารถคุมเสียง ส.ส.ภายในพรรคเพื่อไทยได้
เมื่อถามว่า ในกรณีที่ระบุจากผลักดันนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจนได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็ต้องเป็นไปตามกลไกของรัฐสภา ซึ่งอาจจะครั้งเดียวได้เลย ยืนยันว่าจะไม่มีการเสนอ แคนดิเดตแข่ง
เมื่อถามถึงแถลงการณ์ร่วม ที่มีเรื่องเกี่ยวกับนิรโทษกรรมตรงนี้เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกลเพิ่มเติมมาใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่าเราคุยกับ 8 พรรคการเมืองซึ่งมีความชัดเจนว่าไม่มีประเด็นเหล่านี้อยู่ ซึ่งต้องให้เกียรติกับ 8 พรรค โดยข้อตกลงนี้เป็นเพียงแค่ 2 พรรคเท่านั้น ขอย้ำว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองต้องตีความตรงนี้ให้ชัด ซึ่งในส่วนของ 6 พรรคร่วมรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้อยู่แล้ว เพราะจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของพรรคเขา ทั้งนี้ยืนยันว่าข้อแถลงการณ์ร่วมของ 2 พรรคเมื่อวานนี้ไม่ได้มัดรวมกับ 6 พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะข้อที่ 4 ไม่ได้มัด 6 พรรคเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย แต่ถือเป็นเจตนารมณ์เดิม โดยข้อ 1 ถึงข้อ 3 เป็นแนวทางเดิมที่เราพูดคุยอยู่แล้ว
เมื่อถามย้ำว่าในแถลงการข้อ 3 หมายรวมไปถึงการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยหรือไม่นพ.ชลน่าน กล่าวว่าไม่เกี่ยว ซึ่งการผลักดันในเรื่องของกฎหมายอยู่ในข้อที่ 4 ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นทุกอย่างต้องผ่านกลไกขบวนการของสภาอยู่แล้ว ดังนั้นถือเป็นความเห็นของสองพรรคที่จะร่วมกันผลักดัน จะได้หรือไม่ก็เป็นไปตามกลไกของสภา เมื่อถามว่าการนิรโทษกรรมหมายความรวมไปถึงกรณีของพันธมิตร กปปส. เสื้อแดงด้วยใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องของการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น อย่างไรก็ตามเราให้ความระมัดระวังในเรื่องนี้ เนื่องจากปี 2557 มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาแล้ว จึงได้เน้นถามในเรื่องของนิยามการแสดงออกทางการเมือง ว่าต้องมีข้อจำกัดเฉพาะ และต้องมีคณะทำงานไปศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อน ที่จะนำเสนอในรายละเอียด ตรงนี้ถือเป็นแค่หลักการเท่านั้น และยืนยันว่าการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อยู่ในเรื่องนี้ เพราะเราพูดคุยกันชัดเจนแล้ว ซึ่งถือเป็นนโยบายของแต่ละพรรคไป แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเราพูดกันชัดเจนแล้ว