“เสรี สุวรรณภานนท์” ห่วง 8 พรรคโหวต “พิธา” นั่ง นายกฯ อาจขัด รธน. มาตรา 159 ซัดนัด “ด้อมส้ม” ชุมนุมให้กำลังใจ 13 ก.ค. ไร้วุฒิภาวะ
วันที่ 10 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา นาย เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติของนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีถือครองหุ้นสื่อว่าจะส่งผลต่อการโหวตเลือกนายกฯหรือไม่ ว่า
เราต้องพิจารณาคุณสมบัติด้วยอยู่แล้ว การที่ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นแนวทางที่สร้างความชัดเจน ช่วยแก้ปัญหาความเห็นต่างๆ กกต.จึงเป็นทางออก เมื่อสอบสวนไต่สวนชัดเจนแล้วสามารถสรุปเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก็เป็นแนวทางที่จบปัญหา ถ้าทำเสร็จจริงก็ควรส่งไป
เมื่อถามว่า อาจถูกมองว่าเป็นการสกัดกั้นนาย พิธา ไม่ให้เป็นนายกฯหรือไม่ นาย เสรี กล่าวว่า มันไม่ใช่เรื่องสกัดหรือไม่สกัด ถ้าใช้คำนั้นเหมือนตั้งใจไม่ให้นาย พิธาเป็นนายกฯ แต่เป็นเรื่องของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกฯ ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ส่วนมาตรา 159 ส.ส. และ ส.ว. ต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามคือห้ามถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผิดในตัวเองอยู่แล้ว แต่การส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหาข้อยุติให้ชัดเจน เพราะการถือหุ้นคือเหตุ ส่วนผลคือรอศาลตัดสิน แต่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ส.ส. และ ส.ว. ต้องทำตามบทบัญญัติในมาตรา 159 ให้ชัดเจน
“ผมเป็นห่วง 8 พรรคที่เซ็นเอ็มโอยู ว่าจะกล้าตัดสินใจเลือกคนที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเลือกคนขัดรัฐธรรมนูญ คนขาดคุณสมบัติ ทั้งหมดจะเหมือนปลาในข้องเดียวกัน จะมีปัญหากับพรรคเหล่านั้นได้ จึงอยากฝากไปพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเหล่านี้ด้วย การที่แต่ละพรรคจะโหวตนาย พิธา ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 159 หรือยัง ว่าต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม แต่ละพรรคท่านต้องไปดู มิเช่นนั้นจะกลายเป็นท่านทำขัดรัฐธรรมนูญเอง จะกลายเป็นท่านล้มล้างการปกครองหรือไม่ เพราะขัดมาตรา 159 ซึ่งจะไปไกลถูกตีความอีกเยอะ สุดท้ายจะทำร้ายตัวคุณเอง อาจจะไปไกลถึงถูกยุบพรรค” นาย เสรี กล่าว
เมื่อถามว่า มีการพูดกันว่าส.ว.ไม่เคารพเสียงประชาชน นาย เสรี กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ 14 ล้านเสียง และรวมกับพรรคอื่นๆ ต้องเข้าใจว่าเสียงแต่ละพรรคที่ได้มาคือประชาชนลงคะแนนให้แต่ละพรรค เช่น ลงให้พรรคเพื่อไทย เพราะจะให้แคนดิเดตนายกฯทั้ง 3 คน ของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ เขาไม่ได้ให้เอาคะแนนไปบวกกับพรรคอื่นแล้วเลือกพรรคอื่นเป็นนายกฯ หากแต่ละพรรคเอาเสียงประชาขนไปบวกพรรคก้าวไกล จะกลายเป็นแต่ละพรรคไปทำขัดเจตนารมณ์ประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆมา ดังนั้น อย่าไปรวมกันเลย มันเป็นกระบวนการผ่านความเห็นชอบจากประชาชนมาระดับหนึ่ง แต่การเลือกนายกฯ ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาทำตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคนละส่วนกัน สิ่งสำคัญคืออย่ายุยงคนให้ชุมนุมเรียกร้อง เพราะจะปั่นป่วนนักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองและประชาชน ยิ่งแสดงออกพฤติกรรมเหล่านี้ยิ่งแสดงว่าไม่เหมาะสมบริหารประเทศ
“วันที่ 13 ก.ค.ที่มีการนัดให้กำลังใจนาย พิธา หน้ารัฐสภา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่ไม่รับผิดชอบ ซึ่ง ส.ว.ไม่กังวล เพราะทำถูกต้องตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ หากเราหวาดหวั่นต่อสิ่งผิด แสดงว่าเราเป็นคนใช้ไม่ได้ไม่รับผิดชอบที่กลัวม็อบกลัวแรงกดดัน ทำให้ทำลายหลักการสำคัญของของบ้านเมือง ซึ่งเชื่อว่าคนทั้งประเทศไม่ต้องการให้ผมเป็นคนแบบนั้น” นาย เสรี กล่าว
เมื่อถามว่า ขณะนี้ ส.ว.มีความชัดเจนในการโหวตเลือกนายกฯอย่างไร นาย เสรี กล่าวว่า กลุ่มเราชัดเจนว่าจะไม่เลือกคน และพรรค ที่ทำเรื่องซึ่งกระทบสถาบัน และกระทบมาตรา 112 เช็คเสียงตอนนี้ยังโหวตไม่ถึง 5 คน หรืออาจบวกลบนิดหน่อย ส่วนตัวเชื่อว่าเป็นแบบนั้น
เมื่อถามว่า ส.ว.หลายคนยินดีโหวต นายกฯเสียงข้างมากกังวลหรือไม่ว่าอาจเป็นพลังเงียบ นาย เสรี กล่าวว่า เงียบก็คือเงียบ มันไม่มีหรอก ถามว่ามีใครออกมาแสดงตัวบ้างว่าสนับสนุน รายชื่อที่ออกมาก็มีแต่ถอย แต่ถ้ามีจริงก็ให้สาธารณชนเห็นด้วยคนจะได้เชื่อ
เมื่อถามว่า ทางพรรคก้าวไกลได้ติดต่อมาบ้างหรือไม่ นาย เสรี กล่าวว่า ไม่มีการติดต่อมายังตน แต่ได้ข่าวว่ามีติดต่อมาหาเพื่อน ส.ว. แต่ก็ถูกปฏิเสธไป บอกว่าถ้าไม่ถอยเรื่อง 112 เขาก็ไม่เลือก เขาก็ตอบชัดเจน ส่วนวันโหวตส.ว.จะงดหรือไม่เห็นชอบ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะเลือกเอง