“ชลน่าน” โอด เพื่อไทยเป็นหนังหน้าไฟ หากหมดปัญญา ส่งไม้ต่อ พรรคภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาล ยัน ไม่คิดบีบ พรรคก้าวไกล เสียสละ ถอยเป็นฝ่ายค้าน
วันที่ 24 ก.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ถึงประเด็นการจัดตั้งรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า
มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนการทำงานของ พรรคเพื่อไทย ใน 2 ประเด็น คือ 1. เราเชิญมาพูดคุย เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขของ 8 พรรค ที่ให้พรรคเพื่อไทยไปหาเสียงเพิ่ม ไม่ใช่เป็นการจัดตั้งรัฐบาล
และ 2. รูปแบบที่ พรรคเพื่อไทยทำ หลายคนไปตีความว่าเราไปกดดัน ไปผลักดัน ตอนแรกเราคิดถึงธรรมเนียมเดิม ก็กลัวจะตีความว่าเราไปส่งเทียบเชิญ เพราะตามธรรมเนียมเดิม คือถ้าจะเทียบเชิญไปร่วมรัฐบาลจะต้องไปหาเขา เหมือนกับไปสู่ขอ เลย แต่ครั้งนี้ต้องขอให้ พรรคภูมิใจไทยมาที่พรรคเพื่อไทย ดังนั้นสัญลักษณ์มันชัด
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การพูดคุยกับ 5 พรรค วิธีการก็อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเหมือนให้พรรค 5 ไม่เอา พรรคก้าวไกล เหมือนประกาศ และกดดัน พรรคก้าวไกลในทางอ้อม ยอมรับว่าเป็นสิทธิเสรีภาพทางความคิดของคน ทั้งนี้มีหลายพรรค มีเงื่อนไขเรื่อง มาตรา 112 เรารับโจทย์ในทางประชุมว่า จะไปถามในรายละเอียดว่าจะลดเงื่อนไขอย่างไร เพื่อให้ที่ประชุม 8 พรรคมาพิจารณา และเพื่อให้ พรรคก้าวไกลนำรายละเอียดเหล่านั้นไปพิจารณาว่าจะตอบคำถามตรงนั้นได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากทั้ง 5 พรรคแล้ว จะเป็นคำตอบที่จะไปตอบ 8 พรรคต่อไป ยอมรับว่าคำตอบก็คือ ไม่ใช่เฉพาะ มาตรา 112 แต่ 4 พรรคมองว่าไม่สามารถร่วมงานกับพรรคก้าวไกลได้ เพราะแนวทางวิธีการไม่ตรงกัน มีแค่พรรคชาติพัฒนากล้าเท่านั้น ที่ร่วมงาน พรรคก้าวไกลได้ แต่ต้องไม่แตะ มาตรา 112
เมื่อถามว่า เมื่อไม่ได้เสียง สส.แล้ว เหลือคณะทำงานที่ไปหาเสียงสนับสนุนจาก สว. ซึ่งทางพรรคเพื่อไทย เคยบอกว่าถ้าจะโหวตแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพ่ือไทย ต้องมั่นใจว่าจะต้องได้ ถ้าเป็นไปตามแนวโน้ว เสียง สว.ไม่ได้ ทำให้ 8 พรรค มีทางเลือก 2 ทาง คือ 1.พรรคก้าวไกล ยอมเสียงสละออกไป จะได้ทั้งเสียงจาก สส. และได้เสียงจาก สว. มาเติมด้วย จะได้ตั้งรัฐบาลแน่ 2. ยืนหยัด 8 พรรคแล้วรอให้ สว.หมดอำนาจ ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวยอมรับว่า ใช่ แต่อาจจะมีแนวทางอื่น ตนพยายามอยู่ว่าจะมีแนวทางใดที่ 8 พรรคร่วมยังอยู่ด้วยกัน หรืออย่างน้อยหลักสำคัญยังมี พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลจับกันอยู่ และพยายามมุ่งมั่นหาคะแนนเพิ่ม หรืออาจจะมีทางเลือกอื่นที่มีคนเสนออีก เช่น พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับสอง ที่ได้รับมอบหมายจากพรรคอันดับหนึ่ง เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดไม่ได้ ในเมื่อเราหมดปัญญาแล้ว ทำไมไม่ส่งต่อให้คนอื่น ก็คือพรรคอันดับสาม นั้นหมายความว่า เรายกเสียงข้างมากเราไปให้เสียงข้างน้อย
“ทั้งหลายทั้งปวง หลังจากที่พูดคุยกันในวัน 25 ก.ค. ก็จะเป็นข้อวิเคราะห์ ข้อตัดสินว่าเราเดินอย่างไร ส่วนทางเลือกที่สอง คือ มัดกันแล้วรอจังหวะเวลา ซึ่งรอได้ระดับไหน มันก็มีระดับ เช่น รอ 11 เดือน รอ 1 -2 อาทิตย์ ต้องไปพิจารณา อย่างไรก็ตามทางเลือกที่ 2 ภายใต้เงื่อนไขที่เราเอาประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่แค่ พรรคเพื่อไทย ที่เห็นว่ามันเป็นปัญหากับประเทศชาติ และประชาชนคาดหวังว่าเลือกตั้งมาแล้ว ต้องมีรัฐบาลของประชาชน มาแก้ปัญหา เพราะรัฐบาลรักษาการทำงานลำบากภายใต้เงื่อนไขนี้ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่ต้องพูดถึงพัฒนา ถ้าเราจะปล่อยมันก็มีความลำบาก ซึ่งเป็นข้อสรุปของ พรรคเพื่อไทยที่มองจากทุกมิติโดยรวม” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นคนจะมองว่า พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคที่ถูกกล่าวหาว่าไปร่วมเป็นนั่งร้านให้เผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ปิดสวิตช์ 3 ป. ถ้าเป็นอย่างนั้น โดนแน่ๆ โดยเฉพาะไปยกอำนาจให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ อันนี้เต็มๆ แม้ให้ พรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำ และให้พรรคเหล่านั้นร่วมรัฐบาล ก็จะโดนอยู่ดี โจทย์เหล่านี้ เรามาคำนวณใคร่ควรคิดอย่างรอบคอบ เราเคยอภิปรายไว้ในสภาไว้ชัดว่าเรื่องเด็ดหัว สอยนั่งร้าน แต่เราใช้กลไกทุกอย่าง เพื่อขออำนาจจากประชาชน แต่พวกเราไม่มีใครได้อำนาจเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย
อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าในวันที่ 25 ก.ค. ถ้าไม่มีข้อสรุปที่ดี ยังไม่ตัดสินว่าจะไปไหน เช่น พรรคเพื่อไทยกระโดดตั้งข้ามฝาก ซึ่งสมมติฐานนี้ทุกฝ่ายทุกคนเห็นว่าไม่ดี เรามาจากประชาชน เราคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นอย่าเพิ่งด่วนตัดสิน และถ้าไม่มีทางออก ที่เสียน้อยที่สุด เช่น จำเป็นต้องเอาเสียงฝั่งโน้นมาบวก โดยมีเงื่อนไขที่ทุกพรรคพอรับได้ มันก็อาจจะเป็นทางออก ซึ่งทุกพรรคที่วางกติการไว้ ก็เพื่อบ้านเมืองทุกสิ่งที่อย่างคำนึงถึงประโยชน์โดยรวม ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลง ปลดเงื่อนไข และหันหน้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชนไปก่อน มั่นใจว่าจะมีทางพอที่จะรับได้
“ทั้งนี้วันที่ 27 ก.ค. จะขอเลื่อนการประชุมเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วันที่ 25 ก.ค. จะเป็นตัวตัดสิน ถ้าวันที่ 25 ก.ค. ยังไม่มีแนวทางที่น่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย อาจจะเลื่อนไปสักสัปดาห์หนึ่งก่อนหรือไม่ ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดี ส่วนถ้า พรรคก้าวไกลยืนยันขอให้จับแน่น 8 พรรค ถ้ามีข้อเสนอเช่นนั้น เราต้องมาทำงานต่อว่าเราจะเป็นรัฐบาลได้อย่างไร ส่วนจะต้องให้ พรรคก้าวไกลถอยอะไรหรือไม่ มองว่า พรรคเพื่อไทยเป็นคนบอกกับ พรรคก้าวไกลไม่ได้ แต่จะเอาข้อมูลข้อเท็จจริงให้ 8 พรรค และจะต้องให้เกียรติ พรรคก้าวไกลตัดสิน” นพ.ชลน่าน กล่าว