ผักชีไทยราคาตกต่ำ เกษตรกรราชบุรีน้ำตาตก โดนผักจีนทะลักเข้ามาตีตลาด บางรายขาดทุน บางรายต้องปล่อยทิ้งให้เน่าคาสวน เพราะพ่อค้าไม่รับซื้อ
วันที่ 28 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไร่ผักชีใน ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี หลังทราบว่ากำลังประสบกับปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ ปลูกแล้วขาดทุน เนื่องจากผักจีนตีตลาด โดยได้พบกับ นายพิเชษฐ์ หรือ ลุงเปี๊ยก อายุ 66 ปี เกษตรกรผู้ปลูกผักกินใบ ที่กำลังร่วมกับคนงานถอนผักชีในไร่ให้ทันก่อนที่ฝนจะตก จนทำให้ผลผลิตเสียหายไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้
ลุงเปี๊ยกเปิดเผยว่า ตนปลูกผักใบแบบหมุนเวียนบนพื้นที่ 5 ไร่ จำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อหน้าสวน ก่อนส่งต่อไปตลาดค้าส่งในตัวจังหวัดเพื่อหาเลี้ยงชีพ ซึ่งรอบการปลูกครั้งนี้ คือ ผักชี ซึ่งหากเป็นช่วงฤดูฝน ตามกลไกปกติของการจำหน่ายผักในประเทศราคาค่อนข้างดี ทำกำไรได้พอสมควร
แต่ในรอบการผลิตนี้ ต้นทุนค่าปุ๋ย ยา น้ำมันสูบน้ำ และเมล็ดพันธุ์ อยู่ประมาณไร่ละ 10,000 บาท ค่าแรงคนงานเก็บผลผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท โดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ ราคารับซื้อหน้าสวนเหลือไม่ถึงกิโลกรัมละ 20 บาท ดังนั้นเมื่อหักลบกำไรต้นทุนแล้ว ผักชีรอบนี้ตนขาดทุนไปกว่า 30,000 บาท
หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาตกต่ำ คาดว่าเกิดจากการนำเข้าผักใบจากประเทศจีนมากอย่างไม่มีการจำกัด จนเกิดสถานการณ์ผักล้นตลาด และผักจีนที่เข้ามา มีต้นทุนการปลูกที่ต่ำกว่าของไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบโดยตรง บางรายปลูกผักมาขายไม่ได้ ต้องปล่อยทิ้งให้เน่าคาสวน เพราะพ่อค้าไม่รับซื้อ หรือหากรับซื้อก็ให้ในราคาเกือบจะเท่าทุนหรือขาดทุน หากเกษตรกรไม่ตัดสินใจขาย ก็จะไม่ได้ทุนคืนเลย
ทั้งนี้ การนำเข้าผักจากประเทศจีนมาจำหน่ายในประเทศโดยไม่ควบคุม จะทำให้เกษตรกรแย่ลงไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นเลิกทำอาชีพเกษตรกรรมกันหมด เพราะทำไปก็ไม่ได้อะไร แถมต้องมาทนแบกรับราคาต้นทุน และความเจ็บใจ
อย่างไรก็ตาม ตนอยากฝากถึงหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ ช่วยเห็นใจเกษตรกรไทย วางแผนมาตรการควบคุมสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค โดยยึดหลักให้เกษตรกรไทยได้ประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตให้ลดลง ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ให้สามารถผลิตสินค้าในราคาที่สู้กับต่างประเทศได้ ถ้าไม่เช่นนั้น “ประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกรปลูกผักให้คุณกิน”