บรรยากาศประชาชนร่วมชมดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี เมื่อคืนที่ผ่านมาคึกคักทุกภูมิภาคหลายพื้นที่ฟ้าเป็นใจมองเห็นดาวเสาร์ได้ชัดเจน สามารถชมดาวเสาร์ได้ถึงเดือน กุมภาพันธ์ ปีหน้า
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ (สดร.) กล่าวว่าปรากฏการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” เมื่อคืนที่ผ่านมา (27 ส.ค. 66) เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึงดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าดาวเสาร์จะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่ายาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า
โดยพื้นที่ทั่วประเทศไทยสามารถสังเกตการณ์ได้แม้จะอยู่ในช่วงมรสุมมีเมฆมาก แต่ก็มีจังหวะ
ที่ดาวเสาร์โผล่พ้นเมฆออกมาให้ชมกันสำหรับจุดสังเกตการณ์หลักของ สดร. ที่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาจ.ฉะเชิงเทรา และ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.สงขลา มีประชาชนให้ความสนใจร่วมชมวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์เป็นจำนวนมาก สามารถสังเกตเห็นช่องว่างแคสสินีระหว่างวงแหวนของดาวเสาร์และดวงจันทร์บริวารได้อย่างชัดเจน
หลังจากนี้ดาวเสาร์จะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าไปจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หากคืนไหนสภาพอากาศดีจะสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้
สำหรับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ “ซูเปอร์บลูมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีและยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือนซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักเริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 31 สิงหาคม 2566
สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดังกล่าวสามารถเข้าร่วมได้ที่จุดสังเกตการณ์หลัก4แห่งได้แก่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธรเชียงใหม่ หอดูดาวภูมิภาคโคราชฉะเชิงเทรา และสงขลารวมถึงโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 18:00-22:00น. ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ได้ทางเฟซบุ๊ก NARITสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage