"หมึกบลูริง" อันตราย! คนกินเข้าโรงพยาบาล มีอาการคลื่นไส้ แน่นหน้าอก ผู้เชี่ยวชาญเตือนห้ามนำ"หมึกบลูริง" มารับประทาน แม้ทำให้สุกก็มีพิษ
30 ส.ค.2566 จากกรณที่เมื่อวานนี้ (29 ส.ค.2566) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความสอบถาม ผ่านกลุ่ม “งูไทยอะไรก็ได้ all about Thailand snakes” เกี่ยวกับสายพันธุ์ของหมึกที่ถูกนำมาเป็นอาหารว่า ใช่หมึกพิษบลูริงหรือไม่ ระบุว่า “อันนี้หมึกอะไรหรือครับ มีพิษไหม”
หลังเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก รายละเอียดระบุว่า “บลูริงนั่นล่ะครับ รูปโพสต์นี้ชัดเจน อันตราย,วงจุดยันหางแบบนี้บลูริงครับ หมึกอิกคิวมีแค่สองจุดตรงตัวมัน,บลูริงครับ แต่ในข่าวที่ไม่มีคนตายเพราะเขาไม่มีแผลในกระเพราะหรือแผลภายใน แต่ถ้าคนกินมีแผลภายในกินเข้าไปจังหวะเหมาะเจาะคือถึงตายได้เลยครับ”
หลังการแสดงความคิดเห็นของชาวเน็ต ล่าสุดเจ้าของโพสต์ได้ออกมาอัปเดตอาการหลังทานเจ้าหมึกดังกล่าวเข้าไปว่า “อัพเดทครับ ตอนนี้เเจ้งทางร้านเเล้ว เขาบอกไม่ใช่ครับ อัพเดทอาการครับ ตอนนี้มีอาการคลื่นไส้ครับ ส่วนเเฟนเเน่นหน้าอกครับผม ตอนนี้นอนรอดูอาการที่โรงพยาบาลครับผม ขอบคุณทุกคนมากครับ ”
เกี่ยวกับประเด็นนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นผ่านเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ รายละเอียดระบุว่า “หมึกสายวงน้ำเงิน ห้ามนำมารับประทานนะครับ แม้จะทำให้สุกก็ตาม
เมื่อวานนี้ มีคนนำภาพของปลาหมึกในอาหาร (น่าจะประเภทปิ้งย่าง หรือจิ้มจุ่ม) มาโพสต์ถามในกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย 3 กลุ่ม (คือ กลุ่ม งูไทยอะไรก็ได้, siamensis.org , นี่มันตัวอะไรกัน ) ด้วยความที่เขาสงสัยว่าเป็น "หมึกบลูริง" หรือเปล่า
และคำตอบก็ออกมาค่อนข้างเป็นเอกฉันท์นะครับ ว่าเจ้านี่น่าจะเป็น "หมึกบลูริง หรือหมึกสายวงน้ำเงิน" สายพันธุ์หนึ่งของปลาหมึกที่มีพิษร้ายแรงมาก พบได้ในประเทศไทย และมีคำเตือนกันมาหลายครั้ังแล้ว ว่าห้ามนำมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคเด็ดขาด เพราะถึงแม้จะเอาไปทำให้สุกก็ตาม แต่สารพิษในตัวมันก็ทนความร้อนสูงได้ถึง 200 องศา ต่อมพิษของหมึกบลูริงจะอยู่ที่ปาก (ที่ต่อมน้ำลาย salivary gland) ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ที่ได้รับพิษนั้นจึงมักเกิดจากการถูกมันกัด ไม่ใช่จากการสัมผัสโดนตัว แต่ก็ไม่ควรรับประทานเข้าไปอยู่ดี เพราะอาจเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้
วิธีสังเกตก็คือ มันเป็นหมึกสาย รูปทรงแบบเดียวกับปลาหมึกยักษ์ตัวเล็กๆ หัวโตๆ หนวดเยอะๆ (ไม่ใช่แบบปลาหมึกกล้วย หรือหมึกกระดอง) และที่สำคัญคือ มีลวดลายรูปวงแหวนอยู่ทั่วไป ทั้งที่ตัวและหนวด ซึ่งจะแตกต่างกับพวกหมึกสายอิ๊กคิว ที่มีวงแหวนแค่ 1-2 วงที่ตัว อันนั้นไม่มีพิษ สามารถนำมาทานได้”