รวบ แก๊งนักล่าสมบัติ ลักลอบค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ผ่านช่องทางออนไลน์

4 ก.ย. 66

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ร่วมกรมศิลปากร ปราบแก๊งนักล่าสมบัติโบราณ นำโบราณวัตถุประกาศขายผ่านเฟซบุ๊ก ตรวจยึดโบราณวัตถุได้กว่า 1,000 ชิ้น

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ร่วมมือกับ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรร สำนักศิลปากรจับกุม 3 ผู้ต้องหา

  1. นายทศพรฯ อายุ 26 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2759/2566 ลง 28 สิงหาคม 2566 จับกุมได้ในพื้นที่ ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  2. นายทศพลฯ อายุ 19 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2760/2566 ลง 28 สิงหาคม 2566 จับกุมได้ในพื้นที่ ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  3. นายศรีออนฯ อายุ 46 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2761/2566 ลง 28 สิงหาคม 2566 จับกุมได้ในพื้นที่ ต.ท่าวังทอง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา

โดยกล่าวหาว่ากระทำผิดฐาน “เป็นผู้เก็บได้ซึ่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุ ที่ซ่อนหรือฝังหรือทอดทิ้งโดยพฤติการณ์ ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถอ้างว่าเป็นเจ้าของได้และเบียดบังเอาโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้น เป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย และ จำหน่าย เอาไปเสีย ซึ่งโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ โดยผิดกฎหมาย”           

นักล่าสมบัติ     

พร้อมตรวจยึด

  1. เครื่องสแกนโลหะ 11 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์การขุด
  2. สิ่งของคล้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำนวน 970 ชิ้น
  3. สมุดบัญชีธนาคาร 4 เล่ม

สถานที่ตรวจค้น จำนวน 9 จุด ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, ลำปาง, พะเยา และสุโขทัย

พฤติการณ์  สืบเนื่องมาจากตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กก.4 บก.ป. ได้รับแจ้งเบาะแสจากกลุ่มผู้อนุรักษ์โบราณวัตถุ ว่ามีกลุ่มบุคคลลักลอบขุด ค้า โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยมีการนำโบราณวัตถุต่างๆ มาเสนอขายผ่านช่องทางออนไลน์โดยผิดกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร

จากการตรวจสอบพบบัญชีเฟซบุ๊กของกลุ่มผู้ต้องหา ลงโพสต์ภาพการขุดค้นหาโบราณวัตถุ พร้อมประกาศขายสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุจำนวนหลายรายการ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการติดต่อซื้อสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุดังกล่าว โดยเมื่อทางเจ้าหน้าที่ได้รับสิ่งของคล้ายวัตถุโบราณมาแล้ว ได้มีการส่งตรวจพิสูจน์ที่สำนักศิลปากร กรมศิลปากร ผลการตรวจสอบพบว่าวัตถุดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) จริง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ห้ามมิให้มีการขุด ค้นหา หรือซื้อขายโบราณวัตถุ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว

นักล่าสมบัติ

จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มคนร้ายมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน โดยผู้ต้องหาที่ 1 และผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งเป็นพี่น้องกัน มีการโพสต์ภาพผ่านทางเฟซบุ๊กขณะไปร่วมกันขุดหาโบราณวัตถุตามสถานที่ต่างๆ หลังจากนั้นจะนำโบราณวัตถุต่างๆ มาประกาศขายผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยในภาพที่ผู้ต้องหาโพสต์ยังปรากฎบุคคลอื่นๆ ที่ร่วมกันขุดหาสิ่งของโบราณวัตถุกับผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐาน และขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดจำนวน 3 หมายจับ พร้อมขออนุมัติศาลออกหมายค้นสถานที่ที่เชื่อว่าน่าจะมีการซุกซ่อนโบราณวัตถุหรือสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

จากการตรวจสอบบัญชีธนาคารของผู้กระทำความผิด พบมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 200,000 บาท และมียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 10 ล้านบาท ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กก.4 บก.ป. จึงได้วางแผนพร้อมประสานความร่วมมือกับกรมศิลปากร บูรณาการร่วมกันตรวจค้นสถานที่เป้าหมายซึ่งเป็นที่พักอาศัยของผู้ต้องหาตามหมายจับและเป็นสถานที่เชื่อว่ามีการซุกซ่อนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่, พะเยา, สุโขทัย และลำปาง รวม 9 จุด โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ ได้จำนวน 3 ราย พร้อมทั้งตรวจยึดสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ รวมจำนวนกว่า 1,000 ชิ้น นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นักล่าสมบัติ

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาที่ 1 และ 2 ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ส่วนผู้ต้องหาที่ 3 ให้การปฏิเสธ 

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เตือนภัยประชาชน กรณีพบเจอสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ขอให้ท่านนำส่งกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ไม่ควรยึดถือไว้เป็นของตน เนื่องจาก ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาตรา 24 “โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ซ่อน หรือฝัง หรือทอดทิ้งไว้ในราชอาณาจักร ให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน” และสำหรับผู้ใดที่ลักลอบขุด ค้นหา โบราณวัตถุตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนำไปประกาศขาย รวมไปถึงผู้รับซื้อโบราณวัตถุต่างๆ จะถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด มีโทษตามกฎหมาย

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส