เตือน! 6 โรคอันตรายที่มากับน้ำท่วมในฤดูฝน และหลังน้ำท่วม พร้อมเผยสาเหตุการเกิดโรค อาการ และวิธีการป้องกันก่อนเกิดโรค
โรคที่มากับน้ำท่วม
1.โรคน้ำกัดเท้าหรือ ฮ่องกงฟุต
สาเหตุ
มีอาการคันซึ่งเกิดจากเชื้อราที่เท้า เมื่อเท้าเปียก ๆ ชื้น ๆ จะเป็นบ่อเกิดของเชื้อราที่เรียกว่า Dermatophytes เนื่องจากเชื้อราจะเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น การติดเชื้อส่วนใหญ่ หากไม่ใช่ฤดูฝน มักจะเกิดจากเหงื่อออก หมักหมม ไม่รักษาความสะอาดให้ดี แต่หากในช่วงน้ำท่วม มักเป็นจากเท้าที่เปียกๆ ชื้นๆ บ่อยๆ แล้วไม่ดูแลรักษาความสะอาดให้ดี
อาการ
คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย มีผิวหนังอักเสบบวมแดงเป็นผื่นพุพอง หรือมีลักษณะเท้าเปื่อยและเป็นหนอง
วิธีการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ลุยโคลน
- ล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้งเมื่อเดินลุยน้ำ น้ำท่วมขัง น้ำที่ไม่สะอาด ลุยโคลน
- หากเท้ามีบาดแผลไม่ควรเดินลุยน้ำท่วมขัง น้ำที่ไม่สะอาด โคลน หรือหากจำเป็น เลี่ยงไม่ได้ควรสวมองเท้าบูธป้องกัน
2.โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค โรคบิด ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบ
สาเหตุ
เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าไป การสัมผัสเชื้อจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลที่มาจากน้ำท่วม หรือจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาดชำระล้างภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น
อาการ
ถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง
วิธีการป้องกัน
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก
- ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนทำอาหาร ก่อนทานอาหาร และหลังทานอาหาร รวมถึงหลังการขับถ่าย
- ห้ามถ่ายอุจจาระลงไปในแหล่งน้ำ หากใช้ส้วมไม่ได้ ควรถ่ายลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในถุงขยะ
3.โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคฉี่หนู
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อ Leptospira interogans มักจะพบการระบาดในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เนื่องจากเป็นฤดูฝนและมีน้ำขัง เชื้อนี้สามารถพบได้สัตว์หลายชนิด แต่พบมากในหนู โดยเชื้อโรคในตัวหนูจะออกมากับฉี่ของหนู และปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำ ซึ่งเชื้อที่อยู่ตามแหล่งน้ำนี้ สามารถเข้าทางผิวหนังของผู้ป่วยที่มีบาดแผล หรือรอยถลอกที่ผิวหนัง และหากบริเวณบาดแผลไปสัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อโรคฉี่หนู เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ตัวผู้ป่วย และก่อโรคได้
อาการ
มีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา หรือหลัง บางรายอาจมีอาการตาแดง มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน ตัวเหลือง ตาเหลือง และปัสสาวะน้อย
วิธีการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ แช่ ลุยในน้ำที่อาจปนเปื้อนเชื้อปัสสาวะของสัตว์นำโรค
- ล้างเท้าหรือส่วนที่แช่อยู่ในน้ำเมื่อขึ้นจากการแช่น้ำทุกครั้ง และรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
- เมื่อมีอาการน่าสงสัย เช่น มีไข้ ปวดศรีษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อน่อง โคนขา หลังหรือมีอาการตาแดง ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน
4.โรคไข้เลือดออก
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการ
มีไข้สูงลอย (อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติตลอด 24 ชม. โดยอุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันมีความแตกต่างกัน ไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรืออาจมีเลือดออกตามไรฟัน
วิธีการป้องกัน
- ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือใช้สารไล่ยุง (Mosquito Repellents) แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ DEET ทาผิวนอกเสื้อผ้า
- กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก
- ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อนอะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเล็ดลอดเข้าใปวางไข่ได้
- หมั่นเปลี่ยนน้ำทุกวัน ซึ่งเหมาะสำหรับภาชนะเล็ก ๆ ที่มีน้ำไม่มาก เช่น แจกันดอกไม้สด ทั้งที่เป็นแจกันที่หิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ หรือแจกันประดับตามโต๊ะ รวมทั้งภาชนะและขวดประเภทต่างๆ ฯลฯ
- ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้าต้นไม้ไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสาหรับกระถางต้นไม้ที่ใหญ่และหนัก ส่วนต้นไม้เล็กอาจใช้วิธีเทน้ำที่ขังอยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้งไปทุกวัน
- การเก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด ไห กระป๋อง ฯลฯ และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ หรือคลุมให้มิดชิดเพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้
- ฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี และลดความรุนแรงของโรคได้เฉพาะในผู้ใหญ่ หรือเด็กอายุมากกว่า 6 ปี เนื่องจากวัคซีนจะได้ผลดีเฉพาะในผู้ที่เคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกีมาก่อนเท่านั้น จึงควรมีการตรวจเลือดก่อนการฉีด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีน
5.โรคตาแดง
สาเหตุ
ใช้มือสกปรกที่อาจมีเชื้อโรคขยี้ตา ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ที่เป็นโรค หรือเล่นกับผู้ป่วย แมลงวันหรือแมงหวี่ตอมตา หรือฝุ่นละอองเข้าตามาก ๆ จนตาอักเสบ อาบน้ำในคลองสกปรก หรือที่มีตาแดงระบาด
อาการ
มีอาการระคายเคืองตา ตาแดง หนังตาบวม ตาสู้แสงไม่ได้ หรือมีน้ำตาไหล
วิธีการป้องกัน
- เมื่อมีฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกเข้าตา ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที
- เมื่อมีอาการคันตา ไม่ควรขยี้ตาด้วยมือที่สกปรกหรือยังไม่ได้ล้าง
- หากพบผู้ป่วยที่มีอาการของโรคตาแดง ควรแยกผู้ป่วยออกจากผู้อื่นก่อน
- ไม่ควรใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาแดง เพื่อป้องกันการระบาดและการติดโรค
6.โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว หรือโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
อาการ
มีไข้ มีน้ำมูก คัดจมูก ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร
วิธีการป้องกัน
- ดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น
- เช็ดตัวให้แห้ง
- หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด
- ปิดปากและจมูกเวลาไอ หรือ จาม
- ล้างมือเป็นประจำ ด้วยน้ำ และสบู่
ขอบคุณข้อมูล อ้างอิงจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล,โรงพยาบาลเปาโล,โรงพยาบาลกรุงเทพ