วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ แอพพลิเคชั่น ระบบสารสนเทศ (Software) เพื่อการจัดการศูนย์การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบ มุ่งหวังพัฒนาระบบการให้บริการที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่ไร้รอยต่อ โดยใช้ IT and Innovation Technology ในการจัดการศูนย์การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ รองศาสตราจารย์ ดร.อรพรรณ โตสิงห์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ เป็นประธานการแถลงข่าว พิธีเปิดโครงการ "การพัฒนาต้นแบบศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร" กับ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "แอพพลิเคชั่น" ระบบสารสนเทศ (Software) เพื่อการจัดการศูนย์การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบ ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เขตหลักสี่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ในครั้งนี้จะแบ่งการอบรมเป็น 2 ส่วนใหญ่ ได้แก่ หลักสูตรการใช้งานสำหรับผู้ป่วย ผู้ดูแล ญาติพี่น้องคนในครอบครัว และหลักสูตรการใช้งานสำหรับผู้ดูแลระบบโดยมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน
กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ "แอพพลิเคชั่น" ระบบสารสนเทศ (Software) เพื่อการจัดการศูนย์การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้และทักษะในการใช้งานแอพพลิเคชั่นระบบสารสนเทศ (Software) เพื่อการจัดการศูนย์การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบและการให้บริการแก่ผู้ป่วย
สำหรับเป้าหมายของโครงการ การพัฒนาต้นแบบศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร ปี 2566 เพื่อการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจรตามบริบทของประเทศไทย โดยผู้วิจัยจะใช้แนวคิดของการคิดเชิงออกแบบ ผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดมความเห็น โดยวางแผนกำหนดรูปแบบศูนย์บริการที่เป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร
โดยมีองค์ประกอบหลักตามเกณฑ์สากลของศูนย์บริการที่เป็นเลิศ (excellent center) ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างการดําเนินงาน (Structure) 2) ด้านบุคคลากร (Personnel) 3) ด้านการวิจัยและผลงานวิชาการ (Research and Development Center) 4) การบริการวิชาการ การสอน การถ่ายทอดเทคโนโลยี (Training Center) และ 5) การเป็นศูนย์อ้างอิง ( Reference Center) โดยผู้วิจัยคาดว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการและได้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจรแล้ว ประชาชนจะได้รับการประเมินสุขภาพเพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ประชาชนที่มีความเสี่ยงจะได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยการเกิดโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
ผู้ป่วยมะเร็งจะเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างรวดเร็วในระยะแรกของการเป็นโรค และได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนําองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านบริการโรคมะเร็งแบบครบวงจร โดยการระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาโครงสร้างการดําเนินงาน (Structure) กำหนดคุณลักษณะและสมรรถนะด้านบุคคลากร (Personnel) กำหนดลักษณะงาน ด้านการวิจัยและผลงานวิชาการ (Research and Development Center) การบริการวิชาการ การสอน การถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดตั้งศูนย์การฝึกอบรม (Training Center) และการทำให้เป็นศูนย์อ้างอิง ( Reference Center) กล่าวคือเป็นศูนย์รวมของข้อมูลสำคัญด้านผู้ป่วยมะเร็ง ที่สามารถนําไปใช้ในการประเมินคุณภาพ พัฒนาคุณภาพ สร้างองค์ความรู้ทางด้านการบริการผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ ครบทั้งวงจร