EMGS ขน 8 สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศมาเลเซียแนะแนวทางการศึกษาต่อให้กับนักเรียนไทย ที่ต้องการศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซีย เผยจุดแข็งคุณภาพระดับโลกแต่อุ่นใจเหมือนอยู่บ้านเกิด
เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับงาน “OCSC International Education Expo 2023” มหกรรมศึกษาต่อต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครั้งที่ 18 ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 21-22 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้น ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ด้วยทุนการศึกษาสำหรับ นักเรียน-นิสิต/นักศึกษา-ข้าราชการ ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทั้งระยะสั้นและยาว พบข้อมูลกว่า 300 สถาบันชั้นนำจากทั่วโลก โดยมี Education Malaysia Global Services (EMGS) จากประเทศมาเลเซีย เป็นหนึ่งในสถาบันชั้นนำเข้าร่วมงานด้วย โดยในครั้งนี้ EMGS ได้พา 8 สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมงานเพื่อให้คำแนะนำและแนะแนวทางการศึกษาต่อให้กับนักเรียนไทย ที่ต้องการศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซีย
นายโนวี ทาจุดดิน (Mr.Novie Tajuddin) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ฝ่าย Education Malaysia Global Services (EMGS) ให้สัมภาษณ์กับทีมออนไลน์อมรินทร์ทีวี ว่า การตัดสินใจมาร่วมงานเพราะอยากจะส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนไทยได้ไปศึกษาต่อที่มาเลเซียเยอะๆ เพราะมาเลเซียถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านอยู่ใกล้กันกับไทยเดินทางง่าย มีวัฒนธรรม และอาหารที่คล้ายคลึงกัน จุดขายอีกอย่างหนึ่งก็คือในเรื่องของภาษาอังกฤษ ไปมาเลเซียก็ได้เรียนภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งก็จะเป็นการต่อยอดหากต้องการไปศึกษาต่อที่อื่นก็สามารถทำได้อีกในทั่วโลกเลย นอกเหนือจากนั้นก็ยังเรื่องของคุณภาพด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยของมาเลเซียติดอันดับโลกสูงๆ กว่าบางมหาวิทยาลัยของนิวซีแลนด์ หรือออสเตรเลีย อย่างเช่นมลายายูนิเวอร์ซิตี้ ก็ติด 1 ใน TOP 100
ซึ่งทาง EMGS จะมีการดูแลสนับสนุนนักเรียนที่สนใจจะไปเรียนต่อตั้งแต่เรื่องการสมัครวีซ่า จนกระทั่งอนุมัติวีซ่า และเมื่อนักเรียนเดินทางไปถึงประเทศมาเลเซียแล้ว บางคนอาจจะรู้สึกตื่นเต้น ประหม่า ทาง EMGS ก็จะมีเคาท์เตอร์ตั้งอยู่ก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อสร้างความอุ่นใจกับนักเรียน และเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างนักเรียนกับทางมหาวิทยาลัยก่อนเข้าสู่ ตม. นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษา Malaysia International Scholarship (MIS) จากทางด้านกระทรวงการศึกษาให้กับนักศึกษาต่างชาติในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งดูแลครอบคลุมไปจนถึงค่ายังชีพราว 15,000 บาท/เดือน ในส่วนของปริญญาตรีลงมา ทาง EMGS ก็จะพยายามประสานแต่ละมหาวิทยาลัยเพื่อขอส่วนลดให้ได้มากที่สุดตั้งแต่ 10%-50% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกเรียนกับมหาวิทยาลัยใด
นายโนวียังเผยถึงสถิติที่ผ่านมาหลักสูตร 5 อันดับแรก ที่นักเรียนไทยเลือกไปศึกษาต่อที่ประเทศมาเลเซีย ได้แก่ หลักสูตรทั่วไป, ด้านบริหารธุรกิจ, มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งก้าวต่อไปตนวางแผนที่จะได้มีการพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการของไทย เพื่อที่จะได้ทราบถึงตลาดในไทยต้องการอะไรแบบไหน อย่างเช่น ถ้าตอนนี้ตลาดในไทยกำลังต้องการนักบัญชี ทางเราก็จะได้แนะนำสาขาการบัญชีให้กับนักเรียนเพิ่มเติมว่าจะต้องเรียนในรูปแบบไหน เพื่อตอบโจทย์กับตลาด อย่างในมาเลเซียก็ค่อนข้างที่จะโดดเด่นทางด้านการบัญชีเช่นเดียวกัน รวมถึงตนมองว่ารัฐบาลไทยก็คงอยากให้คนไทยกลับมาทำงานที่ไทย
และจากสถิติที่ผ่านมา จะพบว่ามีนักเรียนไปศึกษาต่อที่มาเลเซียมาจากกรุงเทพฯ มากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ ซึ่งตนได้มาวิเคราะห์ถึงสาเหตุเพราะอะไร จนพบว่าอาจเป็นเพราะใกล้ชิดกัน อีกทางนึงก็คือคนในครอบครัวก็มีทำงานที่มาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นทำงานที่ร้านอาหารหรืออะไรก็ตาม ดังนั้น นักเรียนก็จะมีความรู้สึกคุ้นเคยและรู้จักมาเลเซียมากยิ่งขึ้นและอยากที่จะไปเรียนที่มาเลเซียมากขึ้น จึงอยากจะนำรูปแบบที่เกิดขึ้นนี้ไปประยุกต์ต่อกับภาคอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย คนก็จะได้ไปเรียนมาเลเซียมากยิ่งขึ้น นายโนวีกล่าวทิ้งท้าย.