รู้จัก ตัวริ้นฝอยทราย ตัวเล็กแต่ร้าย พาหะนำโรคลิชมาเนีย สามารถติดจากสัตว์สู่คน เผยสถานที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะเป็นแหล่งเชื้อโรคอาศัยอยู่
ลักษณะ ตัวริ้นฝอยทราย
ตัวมีขนาดเล็กกว่ายุง 4-5 เท่า อาจมีสีดำ ขาว น้ำตาล มีขนปกคลุมทั่วตัว รูปปีกเหมือนปลายหอก ปีกตั้งเป็นรูปตัว V ตัวเมียกินเลือดทั้งคนและสัตว์ หากินไม่ไกลจากแหล่งอาการ ออกหากินมากตอนพลบค่ำ และออกหากินตลอดทั้งคืน ช่วงเวลากลางวันที่มืดครึ้มก็ออกหากินได้เหมือนกัน ตัวเมียจะวางไข่ตามพื้นดินชื้นแฉะที่มีอินทรีย์สูง เช่น คอกสัตว์ กองขยะ ใบ้ไม้ทับถม รูหนู โพรงไม้ โพรงดิน เป็นต้น
แหล่งเชื้อโรคอยู่ที่ไหนบ้าง
โรคลิซมาเนีย สามารถติดต่อสู่คนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งเพราะพันธุ์ของริ้นฝอยทราย เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม หากเข้าป่าไปตัดฟืน หาของป่า ล่าสัตว์ อยู่เป็นประจำ ควรสวมเสื้อผ้าผกปิดทั่วร่างกายและเก็บกวาดบริเวณใกล้บ้านให้ปราศจากรูหนู กองไม้ กองขยะ กองฟืน แหล่งใบไม้ทับถม โพรงไม้เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ริ้นฝอยทราย รวมถึงดูแลสัตว์เลี้ยง ได้แก่ สุนัข แมว วัว ควาย ไม่ให้ริ้นฝอยทรายมากินเลือดได้
อาการของโรค เกิดได้ 3 ลักษณะ คือ
1. เกิดแผลที่ผิวหนัง (Cutaneous Leishmaniasis:CL) อาการ เช่น ตุ่มนูนพองใสและแดง แผล ซึ่งอาจเป็นแผลเปียก หรือแผลแห้ง แผลมักมีขอบ อาจแผลเดียวหรือหลายแผล แผลลุกลามรวมกันเป็นแผลใหญ่ได้ หรืออาจเป็นตุ่มๆ กระจายทั่วตัว
2. เกิดแผลที่เยื่อบุบริเวณปาก จมูก (Mucocutaneous Leishmaniasis : MCL) เป็นแผลตามใบหน้าโพรงจมูก ปาก และลำคอ อาจทำให้รูปหน้าผิดไปจากเดิม มีไข้ ซีด อ่อนเพลีย นํ้าหนักลด หากอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาก็ถึงกับเสียชีวิตได้
3. พยาธิสภาพกับอวัยวะภายใน (Visceral Leishmaniasis: VL หรือปัจจุบันนิยมเรียกว่าคาลา - อซาร์ (Kala - azar)) ข้อบ่งชี้ที่สำคัญตามนิยามขององค์การอนามัยโลก คือ ไข้เรื้อรังมากกว่า 10 วัน ผอม (weight loss) ซีด (pale) ม้ามโต (splenomegary) ตับโต (hepatomegary) ผู้ป่วยหลังให้การรักษาจนหายแล้วอาจปรากฏอาการทางผิวหนังที่เรียกว่า Post Kala-azar Dermal Lesion (PKDL) เช่น ตุ่มนูน (nodule) ปื้น (papule) ด่างดวง(macular) หรือหลายลักษณะร่วมกัน (mixed)
การรักษา
ยารักษามีทั้งชนิดทาแผล รับประทาน และฉีด แต่ยาประเภทหลังมีอาการข้างเคียงค่อนข้างรุนแรงต่อผู้ป่วยซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ในโรงพยาบาล
รวบรวมข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข / สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย