เปิดพิกัดไหว้พระปีใหม่ 10 วัดทั่ว กทม. เสริมความเป็นสิริมงคลรับปี 2567

7 ธ.ค. 66

เปิดพิกัดไหว้พระ ขอพรต้อนรับปีใหม่ 10 วัดทั่ว กทม. เพื่อความเป็นสิริมงคลรับปี 2567

ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่เข้ามา เวียนครบจบศักราช 2566 เริ่มต้นศักราชใหม่ปี 2567 หลายคนอาจอาศัยช่วงวันหยุดยาวปีใหม่พักผ่อน ท่องเที่ยวกับครอบครัว หรือเดินสายทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลในศักราชใหม่ 2567 นี้

วันนี้ทีมงานอมรินทร์ออนไลน์ ได้รวบรวม 10 พิกัดวัดสำหรับไหว้พระขอพรต้อนรับปีใหม่ปี 2567 ทั่วกรุงเทพมหานคร จะมีที่ไหนบ้าง ไปติดตามกันเลยยยย

 

1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

2.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

3.วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

4.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

5.วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

6.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

7.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

8.วัดปากน้ำภาษีเจริญ

9.วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

10.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

 

132580

1.วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญทางศาสนา เป็นพระอารามหลวงอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง เป็นที่ประดิษฐานพระมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญทางศาสนา วัดพระแก้วสร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2327 และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 ตลอดทุกรัชกาล ภายในพระอุโบสถและระเบียงรอบวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง “รามเกียรติ์” ซึี่งสวยงามมาก สิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ ภายในวัด ได้แก่ พระปรางค์แปดองค์ พระศรีรัตนเจดีย์ปราสาท นครวัดจำลอง ปราสาทพระเทพบิดร ฯลฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-15.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 500 บาท

ประวัติพระมหามณีรัตนปฏิมากร

เดิมองค์พระพอกปูนหุ้มไว้อยู่ในวัดพระแก้ว เมืองเชียงรายตั้งแต่ พุทธศักราช 1979 เมื่อปูนกระเทาะพบพระแก้วมรกตอยู่ภายในได้อัญเชิญไป ประดิษฐาน ณ เมืองสำคัญในล้านนาและล้านช้าง เมืองลำปาง เชียงใหม่ เมืองหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และพุทธศักราช 2321 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬโลกมหาราช เมื่อดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นแม่ทัพจัดความเรียบร้อย เมืองเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมากรุงธนบุรีด้วย ประดิษฐานในอาคารชั่วคราวใกล้พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร ทรงจัดพิธีสมโภชเป็นเวลา 3 วัน

พุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษก ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสร้างพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จึงอัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐาน เป็นพระพุทธปฏิมาประธาน ถวายนามว่า พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อพุทธศักราช 2327 เป็นพระพุทธปฏิมาสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานเป็นประธานในพระราชพิธีสำคัญทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และบ้านเมืองตั้งแต่บัดนั้นตราบปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงและถวายสักการะอย่างยิ่งใหญ่ ได้สร้างเครื่องทรงสำหรับ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาวถวาย มีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงกำหนดไว้ประจำ

การพระราชพิธีเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เช่น จารึกพระสุพรรณบัฏ พระราชลัญจกร ประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและพระราชพิธีประจำแต่ละรัชกาล ล้วนประกอบพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เบื้องพระพักตร์แห่งพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรทั้งสิ้น

 

 

678652

2.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม

อยู่ที่ถนนมหาราช ข้างพระบรมมหาราชวัง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดเก่าแก่ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม วัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดโพธิ์ใหม่ทั้งหมด และนำตำราวิชาการด้านต่าง ๆ มาจารึกไว้โดยรอบ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ถือว่าวัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย นอกจากนี้ วัดโพธิ์มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูนปิดทองทั้งองค์ ยาว 46 เมตร สูง 15 เมตร ที่ฝ่าพระบาทแต่ละข้างมีลวดลายประดับมุกเป็นภาพมงคล 108 ประการ อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของมหาบุรุษตามคติของอินเดีย เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 200 บาท

 

 

983419

3.วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวิหาร สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีนเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะทรงผนวชในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

อยู่ที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวิหาร สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2367-2375 ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงเป็นแม่กองก่อสร้าง และเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ขณะทรงผนวชในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนี้ ได้แก่ พระอุโบสถ สร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 มีมุขหน้ายื่นออกมาเป็นพระอุโบสถ และมีปีกยื่นออกซ้ายขวา เป็นวิหารมุขหน้า ที่เป็นพระอุโบสถ มีเสาเหลี่ยมมีพาไลรอบซุ้มประตูและหน้าต่าง หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้น สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ ซึ่งเป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาท สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเคยผนวช ณ วัดแห่งนี้ พระเจดีย์ทอง เจดีย์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ถัดจากพระอุโบสถ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่องค์พระเจดีย์มีซุ้มเป็นทางเข้าสู่คูหา 4 ซุ้ม ตรงกลางประดิษฐานพระเจดีย์กาไหล่ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และมีพระเจดีย์ประดิษฐานอยู่โดยรอบพระเจดีย์กาไหล่ทองอีก 4 องค์ คือ พระไพรีพินาศเจดีย์ พระเจดีย์บรมราชานุสรณ์พระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระเจดีย์ไม้ปิดทอง พระเจดีย์โลหะปิดทอง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.

 

 

630256

4.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร เป็นวัดที่มีเสมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาสลักรูปเสมาธรรมจักรอยู่บนเสาตั้งอยู่ที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร เป็นวัดที่มีเสมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาสลักรูปเสมาธรรมจักรอยู่บนเสา อยู่ที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ บริเวณวัดเดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ วัดราชบพิธฯ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2412 (สมัยรัชกาลที่ 5) เสร็จในปี พ.ศ. 2413 โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษา พร้อมอัญเชิญ พระพุทธนิรันตราย มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ศิลปกรรมที่สำคัญในวัด ได้แก่ บานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถที่มีลายไทยลงรักประดับมุกเป็นรูปดวงตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ สวยงามมาก

 

 

 

811858

5.วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศน์เทพวราราม อยู่ที่ถนนบำรุงเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์สร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง ให้เป็นศรีสง่าแก่พระนคร พระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส แต่สร้างยังมิทันสำเร็จได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงดำเนินงานต่อ และพระราชทานนามว่า วัดสุทัศน์เทพวราราม สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดสุทัศน์ไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่น ๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็น อุเทสิกเจดีย์ (คือต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา 7 ชนิด) แทนที่

สิ่งที่น่าสนใจในวัดได้แก่ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) พระประธานของวัดที่ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร - เสาชิงช้า อยู่ใกล้วัดสุทัศน์เทพวราราม การสร้างเสาชิงช้านี้มีที่มาจากการที่วัฒนธรรมของชาวไทยมีวิถีของศาสนาพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวพันอยู่มาก เมื่อสร้างกรุงเทพฯ เสร็จจึงมีการสร้างโบสถ์พราหมณ์ และเสาชิงช้า เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ทางที่เลี้ยวไปถนนดินสอ มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 และย้ายมาตั้งที่ถนนบำรุงเมืองในปัจจุบันเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 บริษัท หลุยส์ ที.เลียวโนแวนส์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าไม้ได้อุทิศซุงไม้สักเพื่อสร้างเสาชิงช้าใหม่ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2463 ทำการซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. 2548 มีส่วนสูง 21 เมตร เสาชิงช้านี้ใช้ประกอบ พิธีตรียัมพวาย หรือ พิธีโล้ชิงช้าของศาสนาพราหมณ์ จัดในเดือนยี่ของทุกปี และยกเลิกเมื่อปี พ.ศ. 2478

 

 

 

882655

6.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

ตั้งอยู่ที่ถนนศรีอยุธยาเขตดุสิต เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น โดยมีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้างศิลปะ สถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามและเป็นระเบียบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในชื่อ "Marble temple" พระประธานของวัดจำลองมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก บริเวณพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถเรียงรายด้วยพระพุทธรูปโบราณปางต่าง ๆ 52 องค์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่าง ๆ และต่างประเทศ

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร (Wat Benchamabophit) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบ และมีพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) เป็นนายช่างก่อสร้าง จึงถือได้ว่าเป็นการก่อสร้างศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามและเป็นระเบียบ จนได้รับการยกย่องว่า เป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง ทั้งยังประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในชื่อ "Marble temple" สถาปัตยกรรมที่สำคัญภายในวัด พระพุทธชินราช (จำลอง) พระประธานของวัด จำลองมาจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก พระอุโบสถ ประดับตกแต่งด้วยหินอ่อนทั้งหลัง อาคารทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อนกัน 5 ชั้น มุงกระเบื้องกาบูสีเหลือง ลักษณะเป็นกาบโค้ง พระพุทธรูปโบราณปางต่าง ๆ จำนวน 52 องค์

บริเวณพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่าง ๆ และต่างประเทศ ศาลาสี่สมเด็จ เป็นแบบจัตุรมุข หน้าบันจำหลักลายและตราต่าง ๆ ทั้ง 4 ด้าน พระระเบียงคด พื้นระเบียงปูหินอ่อน เสากลมหินอ่อนทั้งแท่ง 64 ต้น เสาเหลี่ยมประกบแผ่นหินอ่อน 28 ต้น ปลายเสาปั้นบัวปิดทองประดับกระจก พระที่นั่งทรงผนวช เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวชใน พ.ศ. 2416 พระที่นั่งทรงธรรม สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา โปรดให้สร้างเพื่ออุทิศถวายเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระวิหาร ส.ผ. สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอพระธรรมมีชื่อว่า หอสมุดพุทธสาสนสังคหะ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนรสิงห์จำลอง พระฝาง และพระพุทธรูปโบราณต่าง ๆ หอระฆังบวรวงศ์ เป็นหอสูง ประดับดัวยแผ่นหินอ่อน ที่ตั้ง : 9 ถนนนครปฐม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 สถานที่สำคัญใกล้เคียง : พระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งอนันตสมาคม สวนสัตว์ดุสิต ค่าเข้าชม : ชาวต่างชาติ 50 บาท

 

 

625747

7.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์

ตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอัมรินทร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่าวัดแจ้ง ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ กำหนดให้วัดแจ้งเป็นวัดในเขตพระราชฐาน และสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงถือเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อบูรณะแล้วเสร็จได้พระราชทานนามว่าวัดอรุณราชธาราม ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ ความสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร เสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดอรุณราชวราราม ดังที่เรียกในปัจจุบันนี้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 100 บาท สอบถามข้อมูล โทร. 0 2891 2185

 

 

210556

8.วัดปากน้ำภาษีเจริญ

วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นวัดเก่าแก่ก่อตั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านเชื่อมกับคลองบางกอกใหญ่จึงเรียกกันว่า วัดปากน้ำ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่ยังให้คงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ และได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 วัดปากน้ำไม่ได้รับการดูแลเนื่องจากไม่มีเจ้าอาวาส ทางเจ้าคณะอำเภอส่งหลวงพ่อสด จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามมาเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. 2459 หลวงพ่อสดได้ทำให้วัดปากน้ำกลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม มีภิกษุ สามเณร รวมถึงประชาชนได้เข้ามาปฏิบัติธรรมที่วัดเป็นจำนวนมากสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หลวงพ่อสดมรณภาพเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 แต่สังขารยังถูกเก็บไว้ ณ หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต วัดปากน้ำภาษีเจริญ และยังเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าไปสักการะได้

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล ใช้ระยะเวลาสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2547 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555 เจดีย์เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์และล้านนาประยุกต์เข้าด้วยกัน ฐานของเจดีย์ได้ต้นแบบมาจากวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงออกเป็นชั้น ถึง 5 ชั้นด้วยกัน โดยแต่ละชั้นจะจัดแสดงแตกต่างกันไป ในส่วนของชั้นที่ 1 จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาบริจาค เช่น รถเก่า จักรเย็บผ้า พระพุทธรูปแกะสลัก ถ้าเพื่อน ๆได้มาที่นี่จะสังเกตเห็นตาลปัตรโชว์อยู่รอบเจดีย์ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์ ชั้น 2 เป็นห้องปฏิบัติธรรม ต่อมาชั้นที่ 3 เป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) จัดแสดงเครื่องใช้ของส่วนตัวและของที่ลูกศิษย์นำมาถวาย ชั้นที่ 4 เป็นห้องประดิษฐานพระทองคำรูปเหมือนหลวงพ่อสด และบูรพาจารย์ท่านอื่น ๆ ชั้นที่ 5 ประดิษฐาน เจดีย์แก้วมรกต ภายในบรรจุพระบรมสารีริกราตุ มีเพดานเป็นทรงโดมระบายด้วยภาพวาดจิตรกรรมเป็นจักรวาล

และอีกไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้ คือ พระพุทธธรรมกายเทพมงคล เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหน้าตักกว้าง 40 เมตร สูง 69 เมตร ประดิษฐานเจดีย์พระมหาเจดีมหารัชมงคล สร้างขึ้นตามนิมิตของหลวงพ่อสดซึ่งท่านเห็นลักษณะของพระพุทธรูปนี้ในขณะที่กำลังเจริญสมาธิกรรมฐานนอกจากจะสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา ยังสร้างเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชลกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดซมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.

 

 

 

 

542833

9.วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง)

วัดสระเกศ หรือ วัดภูเขาทอง (temple of the Golden Mount Bangkok) เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจุดเด่นคือ พระบรมบรรพต หรือที่เรียกกันว่าภูเขาทอง

อยู่ใกล้แยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนหลานหลวง ในอดีตคือนอกกำแพงเมือง ริมคลองมหานาค บริเวณที่บรรจบกับคลองบางลำพูเดิม เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร แต่เดิมชื่อว่าวัดสะแก ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ ทั้งพระอารามในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระราชทานนามใหม่ว่าวัดสระเกศ ส่วนเจดีย์ภูเขาทองเริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงนำแบบมาจากภูเขาทองในสมัยกรุงศรีอยุธยา

ก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่าสุวรรณบรรพต มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันได้รับจากประเทศอินเดีย ซึ่งขุดจากเนินพระเจดีย์เก่าในเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นปูชนียสถานและสัญลักษณ์อยู่คู่วัดสระเกศ อีกทั้งยังถือเป็นสะดือเมือง ในทุก ๆ ปี ช่วงเทศกาลลอยกระทงจะมีงานเฉลิมฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน กลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน อันเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์และเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-19.00 น. ค่าเข้าชม คนไทยไม่เสียค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 50 บาท

 

 

 

 

182453

10.วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี เดิมชื่อว่าวัดบางหว้าใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในครั้งสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางหว้าใหญ่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และยกเป็นพระอารามหลวง เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังเป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ ตำหนักแดง ลักษณะเป็นเรือนไม้สัก ฝาปะกน เชื่อกันว่าเคยเป็นตำหนักสำหรับทรงกรรมฐานของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายในพระตำหนักมีหลักฐานที่ใช้อ้างอิง คือ ฝาประจันกั้นห้องภายในตำหนักเดิม ภาพเขียนรูปอสุภชนิดต่าง ๆ อีกทั้งภาพพระภิกษุเจริญกรรมฐาน ซึ่งสอดคล้องกันกับพระอุปนิสัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ปัจจุบันภาพเหล่านี้แทบจะไม่เหลือร่องรอยที่ยังปรากฏให้เห็น รวมทั้งสถาปัตยกรรมไทยที่งดงามอย่างมาก คือ หอพระไตรปิฎก ลักษณะเป็นเรือนแฝดสามหลัง สร้างขึ้นจากไม้ที่รื้อจากพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังทรงรับราชการอยู่ในกรุงธนบุรี ชายคาเป็นรูปเทพนมเรียงรายเป็นระยะ ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง ภายในมีตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่เขียนลายรดน้ำ ประดิษฐานอยู่ที่หอด้านเหนือและหอด้านใต้ ด้านในเป็นภาพเขียนฝีมืออาจารย์นาคที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยกรุงธนบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม