ปกป้องสิทธิ รักลูกที่ถูกต้องไม่ควรตี แต่ใช้การอธิบายให้เข้าใจ "พ.ร.บ. ไม่ตีเด็ก" หมุดหมายความก้าวหน้าทางสังคม ร่างกม.แรกของฝ่ายค้านที่ผ่านโดยไม่มีร่างรัฐบาลประกบ
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี เป็นสุภาษิตไทยที่สอนพ่อแม่ส่วนใหญ่ในการเลี้ยงลูก เพื่อให้เด็กจดจำเวลาทำผิด จะได้ไม่ต้องทำซ้ำอีก แต่หลายครั้งสิ่งนี้ก็ถูกตั้งคำถามกลับเช่นกัน ว่าการตีที่ส่วนหนึ่งเป็นการสร้างบาดแผลทางร่างกายและจิตใจให้เด็ก จะช่วยให้เด็กเป็นคนดีได้จริงหรือ?
โดยเฉพาะเมื่อล่าสุด ฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชน ดันร่าง พ.ร.บ. ไม่ตีเด็ก จนผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างกฎหมายแรกของฝ่ายค้านที่ไม่มีร่างของรัฐบาลประกบ เพื่อปกป้องสิทธิเด็กไม่ให้ถูกทารุณกรรม ดังที่ปรากฎตามหน้าสื่อในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา
แต่รู้หรือไม่ว่ากว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาได้ ก็เกือบถูก "คว่ำร่าง" มาก่อน หลังความเห็นของ ส.ส. ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเห็นต่างกันอย่างหนัก เป็นเหตุให้ กมธ.กฎหมายห้ามตีเด็ก เคยขอถอนร่างกลับไปทบทวนใหม่
จนกระทั่งล่าสุด 30 ต.ค. ที่ผ่านมา สภามีการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ. นี้อีกครั้ง แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..พ.ศ… หรือกฎหมายห้ามตีเด็ก ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาวาระที่2 และวาระที่3 โดยนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานกมธ.ฯ ชี้แจงว่า ในที่ประชุมกมธ.ได้มีการถกเถียงกัน โดยกมธ.เสียงข้างมากให้มีวลีที่ว่า ไม่เป็นการเฆี่ยนตี ส่วนกมธ.เสียงข้างน้อย เห็นว่าไม่ต้องมีข้อความว่าเป็นการเฆี่ยนตี นอกจากนี้กมธ.ได้มีข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ และดำเนินการให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้จะมีการอภิปรายกันอีกรอบ แต่ในที่สุดก็จบลงที่การลงมติ และผลออกมาว่าที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับเสียงข้างน้อย 253 เสียงให้ตัดคำว่า ไม่เป็นการเฆี่ยนตี เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก ให้ใส่คำว่า ไม่เป็นการเฆี่ยนตี 145 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นเป็นการลงมติวาระ 3 ที่ประชุมเห็นด้วย 391 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และเห็นด้วยกับข้อสังเกตุ จากนั้นจะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้วุฒิสภา พิจารณาต่อไป
สส.กานต์ ภัสริน รามวงศ์ สส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ในฐานะผู้ผลักดันร่างนี้ ชวนคุยและทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ไม่ตีเด็ก ร่วมกับ วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และ รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน เปิดเผยว่ากฎหมายไม่ตีเด็ก หลายๆ ครั้งที่เราเห็นตามหน้าสื่อที่พูดว่าห้ามตีเด็ก ซึ่งมันคนละอย่างกับไม่ตีเด็ก เราในฐานะกรรมาธิการก็ได้สื่อสารรณรงค์ว่ากฎหมายนี้คือกฎหมายไม่ตีเด็ก และย้ำเสมอว่าเป็นแพ่งและพาณิชย์ ไม่มีใครจะต้องโดนเข้าคุกด้วยคดีอาญาต่างๆ เพราะเรามีกฎหมายคุ้มครองเด็กอยู่แล้ว พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก 2546 ถ้าทำร้ายเด็กก็เป็นกฎหมายอาญา แต่อันนี้เป็นกฎหมายที่ปักหมุด และเป็นกฎหมายของครอบครัวด้วย โดยที่ 1. กำหนดที่อยู่ของบุตร และ 2.ผู้ปกครองสามารถทำโทษบุตรได้ตามสมควร ซึ่งกฎหมายนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2478 เป็นจุดที่ภาคประชาสังคมเขาสู้กันมาหนักมาก สู้มาเป็นมา 20-30 ปี ซึ่งสมัยนั้นก็มีคำถามนะว่าสังคมไทยจะเลิกการตีได้อย่างไร?
แต่มันก็มีคนมองเห็นว่าการตีเด็กไม่ใช่ทางออกสำหรับการทำให้คนๆ หนึ่งได้ดีหรือเติบโตมาอย่างดี กฎหมายนี้ที่ใช้มานานถึง 98 ปี ไม่ได้ตอบโจทย์กับสังคมไทยอีกต่อไป ว่าการเลี้ยงดูลูกต้องเท่ากับการทำโทษลูก ลูกถึงจะได้ดี มันจึงเป็นที่มาของวาระ 1 2 3 จนถึงสุดท้าย ที่เราบอกว่าในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ซึ่งมี สส. ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.ปารมี ไวจงเจริญ และภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้มานาน ไม่ว่าจะเป็นป้ามล ทิชา จากบ้านกาญจนาภิเษก หมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน และภาคประชาสังคมอื่น ที่เขาเป็นผู้มีประสบการณ์ในการคลุกคลีกับเด็กและเห็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่มองเห็นว่าไม่ได้สร้างสังคมมาเพื่อเลี้ยงให้เด็กเป็นปิศาจ แล้วเด็กไม่ได้เป็นปิศาจตลอดไป เด็กจะมีวันที่เขาแก้ไขตัวเองได้
ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่พูดแทนเด็ก เราก็อย่ามาเป็นผู้ใหญ่เลย
สส.กานต์ได้ยกตัวอย่างคำพูดของ ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กรรมาธิการสัดส่วนพรรคประชาชน หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ. นี้ ยืนยันว่าผู้แทนราษฎรหรือกรรมาธิการทุกคนที่รับภารกิจนี้มาต้องยืนตัวตรง ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่พูดแทนเด็ก เราก็อย่ามาเป็นผู้ใหญ่เลย
สส.กานต์ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นหลักการของเราเลยนำไปสู่เรื่องที่ว่าเราเป็นกรรมาธิการเสียงข้างมาก เรายังต้องพูดถึงว่าต้องไม่เป็นการเฆี่ยนตี แต่สุดท้ายเราก็ตกผลึก ตกตะกอน ในชั้นกรรมธิการได้ว่า ทั้งทารุณกรรม ทั้งความรุนแรง และการกระทำอื่นใดอันไม่ชอบ เราในฐานะผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้ไร้เดียงสาจนเกินไป จนไม่รู้ว่าการด้อยค่าหรือว่าการกระทำไม่ชอบกับเด็กมีอะไรบ้าง บังคับกินนู่นกินนี่ทั้งที่เด็กไม่ได้อยากกิน ขังเด็ก 24 ชั่วโมง ทุกอย่างอยู่ในคำพูดที่ว่าการกระทำไม่ชอบ คุณไม่ชอบให้ใครทำร้ายอะไรกับเรา เราก็ไม่ควรทำกับเด็ก
การถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการ ทำให้ฉุกคิดได้อย่างหนึ่งคือ เป็นเรื่องความไม่มั่นคงหรือไม่ กับการเอาคำว่าเด็ก ที่เป็นประชากร ที่จะมาเปลี่ยนประเทศนี้ มาสร้างสังคมใหม่ สร้างประเทศนี้ใหม่ คำกำกับเก่าๆ อย่างคำว่า เฆี่ยนตี ที่ใช้กันมานานก็เป็นการควบคุมทางร่างกาย ส่งผลทางร่างกายไปยังสมอง-ความคิดในการแก้ปัญหา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือในการตัดสินใจต่างๆ ให้คุณอยู่กับร่องกับรอย เพราะฉะนั้นหรือเป็นความไม่มั่นคงที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนกฎหมายนี้ แต่เราพรรคประชาชนกับสัดส่วนพรรคประชาชน ก็สู้กันมาจนถึงว่ากฎหมายนี้ต้องไม่ตาย ก่อนที่ ส.ส. กานต์จะย้ำอีกว่า กฎหมายเด็กต้องพูดวันนี้ คุณจะไปรออีก 20 ปี หรอ
กานต์มองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นแพ่งและพาณิชย์ ส่วนกฎหมายอื่นที่ทำร้ายเด็กอยู่แล้ว มันมีอยู่แล้ว อย่างคุ้มครองเด็กปี 2546 แต่พอไม่เป็นการเฆี่ยนตี ดิฉันนึกถึงอำนาจนิยมเหมือนกันนะ ว่าเขาเป็นเจ้าของชีวิตเรา แล้วหาคำอธิบายหรือเหตุผลใดๆ ไม่ได้ สิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดก็คืออุปกรณ์ใกล้มือเรานั่นแหละ ตีไปจะได้หยุด
แต่ว่าผลงานวิจัยต่างๆ ก็มากมาย งบประมาณที่เราทุ่มเทมหาศาล อย่างพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรก็ยืนยันว่าการไม่ตีเด็ก หรือการหล่อหลอมให้ประชากรมีคุณภาพ มันต้องเริ่มต้นที่เขาไม่ได้รับความรุนแรง กฎหมายมันต้องมีการปรับเปลี่ยน ถ้ามันถูกแช่ช่องแข็งเอาไว้ มันก็ไม่สมควร
ด้าน วรภพ วิริยะโรจน์ กล่าวว่า กฎหมายนี้คือหมุดหมายความก้าวหน้าทางสังคม เพราะฉะนั้นเราเลยบอกว่าถึงจะเป็นประมวลแพ่งก็ตาม เราคิดว่านี่คือความก้าวหน้าทางสังคมที่เราจะมองว่า ผู้ปกครองไม่ควรตีเด็ก เพราะถ้าย้อนกลับไปสาระสำคัญ ผมก็ยืนยันนะ รักลูกที่ถูกต้อง ไม่ควรตีเด็ก เอาเรื่องนี้เลยเรื่องที่เป็นประโยชน์กับลูกเรา เพราะการตีไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจ มีแต่สร้างความกลัว วิธีที่ถูกต้องคือการอธิบายว่าทำไมเขาถึงไม่ควรทำอะไร เพราะด้วยความที่เราเป็นผู้ปกครองเราหวังดีในอนาคตของลูกของเด็กคนนั้น ก็ขอย้ำอีกรอบว่าทำไมถึงบอกว่า รักลูกจริงๆ ไม่ควรตีเด็ก
"มันมีคำที่อยากจะให้สังคมรู้ว่าคุณค่าของกฎหมายอันนี้ ว่ามันมีวิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตรที่เป็นวิธีเชิงบวกเยอะแยะมากมายใช่ไหมคะ ไม่ใช่แค่ว่ารักวัวให้ผูกแล้วรักลูกต้องตี ให้ทางเลือกคุณค่าของกฎหมายฉบับนี้ที่จะออกสู่สังคม เราจะปักหมุดว่ามีวิธีหลากหลายมากที่จะเลี้ยงดูลูกขึ้นมาให้เขาได้เติบโตอย่างเบิกบานและสร้างสรรค์" สส.กานต์ กล่าว พร้อมยกข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 ประเทศไทยมีคนและประชากรได้รับการอบรมโดยวิธีรุนแรง 5,439,835 คน หรือคิดเป็น 53% และในจำนวนดังกล่าวมีเด็ก 3 ล้านคน ได้รับการกระทำโดยการใช้ความรุนแรง
สส. กานต์ กล่าวต่อว่า ขนาดอัลกอริทึมในโซเชียลมีเดีย ยังเซนเซอร์คำว่าไม่ตี ฆาตกรรม ทารุณกรรม คำเหล่านี้ยังถูกเซ็นเซอร์ ทำให้อัลกอริทึมไม่จับหรือโดนแบนไปเลย แม้จะเป็นแค่คำพูดก็ตาม แล้วทำไมเราคนออกกฎหมายถึงไม่ทำ เราก็เลยต้องออกกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่พูดแทนเขาวันนี้ แล้วเราจะรอไปอีกเมื่อไร และอย่าลืมว่าอัตราประชากรในประเทศไทยเกิดน้อยมาก เทียบเท่ากับญี่ปุ่น เกาหลี ที่ตอนนี้อัตราการเกิดใหม่ของประชากรต่ำมาก แล้วรัฐบาลหรือนโยบายต่างๆ ก็อยากผลักดันให้เรามีประชากร มีลูก เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะต้องหล่อหลอมไปด้วยกันก็คือ การมีลูกอย่างไรให้เขาเติบโตขึ้นมามีสภาพแวดล้อมที่ดี มีจิตใจที่ดีพร้อมที่จะไปสร้างประเทศนี้ให้สวยงามต่อไป เรื่องนี้ภาคประชาสังคมเขาสู้กันมากเลยนะคะ สู้เพื่อสิทธิเด็ก หรือเด็กอาจจะไม่ใช้ควิกวินหรือเปล่า อาจจะดูเผินๆ ว่าเป็นนโยบายไม่ได้เป็นกงล้อทางเศรษฐกิจหรือเปล่า แต่กานต์มองว่าถ้าเราไม่สนใจประชากร ไม่สนใจเรื่องเด็ก นี่คือระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ต้องรับมือกัน
ก่อนที่ วรภพ วิริยะโรจน์ จะขยายเพิ่มเติมต่อว่า อยากให้มองว่าการใช้ความรุนแรงมันไม่ใช่ทางออกในทุกรูปแบบอยู่แล้ว ก็เลยเป็นที่มาต้องการผลักวาระเรื่องนี้ออกมา ซึ่งอย่างที่ผมบอกว่ามันก็เป็นหมุดหมายสำคัญ ผ่านวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรมาได้ โดยเกิดจากพรรคของเรายื่นเข้ามาฉบับเดียว ผมมองเป็นเรื่องเล็กที่สำคัญ คือแม้จะบอกว่าเราเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้ามันเป็นกฎหมายที่เราสามารถนำเสนอได้และหาทางพูดคุย แน่นอนมันไม่ใช่ทั้งหมดอย่างที่เราต้องการ แต่อย่างน้อยสาระใหญ่ใจความมันก็ยังผ่านออกมาได้ อันนี้ก็เป็นหมุดหมายสำคัญที่เราอยากจะพิสูจน์ให้เห็นการทำงานของเราที่ขยับวาระทางสังคมไปด้วย
เราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของชีวิตใคร แม้แต่พ่อแม่ก็ตาม
สส. กานต์ ภัสริน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นเหมือนการโยนลูกบอล เพราะคุณค่าของกฎหมายฉบับนี้ มันไม่ใช่แค่ในพื้นที่ครอบครัว เชื่อมั่นว่ามันอาจจะขยายไปเป็นบทสนทนาในชีวิตประจำวันก็ได้ มันเป็นคุณค่าในเรื่องที่เราต้องผลักดัน และยังยืนยันว่า เราไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของชีวิตใคร แม้ว่าคุณจะเป็นพ่อแม่ก็ตาม
อันนี้เป็นแคมเปญที่ใช้ในวันเด็กปีหน้าได้เลยนะ ของขวัญที่เราจะมอบให้เด็กจริงๆ ในปีหน้า ไม่ใช่คำขวัญแบบลมๆ แล้งๆ หรือคำพูดที่ไม่สามารถเอาไปทำอะไรได้ แต่ว่าสภาแห่งนี้ ผู้ใหญ่ทุกคนในสภาแห่งนี้กำลังที่จะมองสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้กับเขา ก็คือมอบการปกป้องจากพระราชบัญญัติไม่ตีเด็กที่ออกโดยสภาแห่งนี้ สส.รักชนก กล่าว
ด้าน หมอโอ๋-ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก เลี้ยงลูกนอกบ้าน ถึงร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้วยืนยันทำไมถึงไม่ควรตีเด็ก ในฐานะที่เจ้าตัวเป็นหนึ่งในกรรมาธิการผลักดันร่างฯ นี้เอาไว้ว่า
#กฏหมายไม่ตีเด็ก
ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
ขอบคุณสส. และคณะกรรมาธิการทุกท่าน ที่ร่วมกันปกป้องสิทธิในการเติบโตอย่างปลอดภัยของเด็กๆ นะคะ
การเติบโตแบบมีความมั่นคงภายใน และการเติบโตกับการมี “บ้าน” ที่ปลอดภัย มันมีความหมายกับการพัฒนามนุษย์คนหนึ่งจริงๆ การไม่ตีลูก ไม่ได้แปลว่าเราไม่ฝึกวินัยลูก มีวิธีการฝึกวินัยที่ดีมากมายที่ทำได้โดยไม่ต้องทำร้ายร่างกายและจิตใจกัน เพราะหลักการสำคัญของการเลี้ยงเด็ก คือการ
“สร้างตัวตน”
“สร้างทักษะและคุณลักษณะสำคัญ”
“สร้างสายสัมพันธ์ที่ดี”
ทำได้แบบนี้เราก็สามารถสร้างเด็กที่มีคุณภาพได้กฎหมายนี้เป็นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้เป็นกฎหมายอาญา (เพราะจริงๆมีพรบ. คุ้มครองสิทธิเด็กอยู่แล้ว) คุณพ่อคุณแม่ที่ตีลูกไม่ต้องตกใจนะคะ แค่อยากให้ลองลุกขึ้นมามองหาวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก ที่ทำให้เราเลี้ยงดูลูกแบบที่ไม่ต้องทำร้ายกันดูนะคะ แล้วเราจะพบว่า คนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นมากที่สุด อาจไม่ใช่แค่ลูก แต่เป็นตัวเราเอง
#หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้านป.ล. กฎหมายฉบับนี้จะทำใหหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ มีหน้าที่ทำงานเพื่อให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวกได้อย่างจริงจังขึ้นด้วยค่ะ
สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการขับเคลื่อนมาตั้งแต่สภาสมัยที่แล้ว และคนที่มาผลักดันกฎหมายเรื่องนี้ก็คือ สส.กานต์ ภัสริน รามวงศ์ ที่ทำมาตั้งแต่ยังเป็นผู้สมัคร สส. ของพรรคก้าวไกล จนในวันนี้เธอได้ก้าวเข้ามาเป็น สส. เต็มตัว ในฐานะผู้แทนราษฎรชาวบางซื่อ ดุสิต (แขวงถนนนครไชยศรี) กทม.เขต 7 จากพรรคประชาชน
แต่อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ยังต้องรอการไฟเขียวจาก สว. อีกที ซึ่งจะได้เป็นของขวัญให้เด็กและเยาวชนเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 2568 หรือไม่ ต้องรอดู...