แพทย์เผยอุทาหรณ์ ติดเชื้อเพราะต่อเล็บปลอม

16 ธ.ค. 62
นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเคสการทำเล็บเสริมความงามจนเกิดเป็นแผลติดเชื้อภายหลัง ระบุว่า หญิงสาวอายุ 35 ปี รายหนึ่งไปทำเล็บร้านเสริมความงาม มีการขูดร่องเล็บและตัดแต่ง ต่อเล็บปลอมด้วยกาวตราช้าง อีกสามวันต่อมารู้สึกเริ่มปวด คิดว่าไปน่าเป็นอะไรมาก ต่อมาบวมมากขึ้น ซื้อยากินเอง ยุบลงเล็กน้อย ทิ้งระยะมาหลายวันทนเอา รู้สึกเป็นไข้ บวมแดง ร้อนลามจากปลายนิ้วไปถึงโคนนิ้วงอนิ้วไม่ได้ ปวดทรมานมาก จนต้องตัดสินใจเอาเล็บปลอมออก ทำให้เนื้อเยื่อขอบเล็บหลุดออกมาด้วย ปวดทนไม่ไหวจึงมาพบแพทย์ ส่งเอกซเรย์ที่มือพบว่า กระดูกนิ้วหัวแม่มือส่วนปลายเริ่มกร่อนเป็นลักษณะติดเชื้อที่กระดูก จนต้องเข้านอนในโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัด พบว่ามีหนองรอบๆ เนื้อเยื่อหัวแม่มือ ลามเข้าข้อ กระดูก และให้ยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือด ใช้เวลารักษา อีกหลายวัน เสียค่าใช้จ่ายอีกหลายหมื่นบาท อีกทั้งมีโอกาสเสี่ยงพิการงอนิ้วหัวแม่มือไม่ได้ตามมา นอกจากนั้นต้องตรวจหาว่าติดเชื้อ HIV ร่วมด้วยหรือไม่? เพราะเคยมีรายงานการติดเชื้อเอดส์จากการทำเล็บมาแล้วแต่งเล็บจึงต้องพึงระวัง เครื่องมืออาจไม่สะอาด หรือผ่านการใช้งานมาจากหลายๆ คนแล้วไม่ได้ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ จนติดเชื้อได้ ทั้งนี้สาเหตุของกระดูกอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย แล้วแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้เกิดการติดเชื้อที่กระดูก โดยแบคทีเรียอาจเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ดังนี้ 1.การติดเชื้อทางกระแสเลือด หรือการติดเชื้อที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบริเวณปอดหรือกระเพาะปัสสาวะแล้วเชื้อแพร่กระจายไปยังกระดูกส่วนต่างๆ ในร่างกายจนผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ เป็นต้น 2.การติดเชื้อจากแผลเปิด เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายเมื่อเกิดบาดแผลและอาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปถึงกระดูกได้ โดยการเกิดแผลอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การผ่าตัด การบาดเจ็บ การทำเล็บ เป็นต้น 3.การติดเชื้อจากเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใกล้เคียง บาดแผลที่เกิดขึ้นอาจอักเสบจนลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ แล้วแพร่กระจายไปยังกระดูกที่อยู่ใกล้เคียงกันด้วย อาการของกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) แบบเฉียบพลันมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในช่วง 7-10 วัน แต่อาจเป็นอาการเรื้อรังที่ค่อยๆ เกิดขึ้น โดยลักษณะอาการที่พบส่วนใหญ่มักมีความคล้ายคลึงกัน ดังนี้ 1.มีอาการปวด บวม หรือแดงในบริเวณที่มีการติดเชื้อ และอาจพบหนองร่วมด้วย 2.มีไข้ หนาวสั่น 3.อ่อนเพลีย 4.คลื่นไส้ เบื่ออาหาร 5.ไม่สามารถเคลื่อนไหวบริเวณข้อต่อที่มีอาการได้ หรือเคลื่อนไหวได้ลำบาก การใช้ยา แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหรือยาแก้ปวด โดยอาจฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำหรือให้ยาแบบรับประทาน ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อรุนแรง อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือน จึงอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกคนที่จะไปเสริมสวย เพราะอาจเกิดเหตุเช่นนี้ได้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ