จากกรณีที่ พบปลาออร์ฟิช oarfish ที่จังหวัดสตูล ซึ่งติดมากับเรืออวนดำ ก.เทพเจริญพร15 มาขึ้นที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ฝั่งทะเลอันดามัน โดยปลาออร์ฟิช สามารถรับรู้การเกิดแผ่นดินไหวได้จนหลายคนเรียกกันว่าเป็น ปลาแผ่นดินไหว และชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าหากเห็นปลาตัวนี้ขึ้นมาบนผิวน้ำ นั่นคือสัญญาณบ่งบอกถึงภัยพิบัติที่อาจกำลังจะเกิดขึ้น จนทำให้หลายคนเกิดความกังวลว่าจะเกิดเหตุการแผ่นดินไหวหรือไม่
ล่าสุด วันนี้ (4 ม.ค.67) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปลาออร์ฟิชผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า กรณีพบปลา oarfish ที่สตูล ตอนนี้ยืนยันแล้ว ภาพจากคุณ Apiradee Napairee ให้น้องๆ ที่กรมประมงไปถ่ายภาพมา
ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า oarfish เป็นปลาน้ำลึก พบได้ทั่วโลก แต่เนื่องจากอยู่น้ำลึก คนจึงไม่คุ้นเคย รูปร่างยังประหลาด บางคนเรียกปลาพญานาค เพราะเคยมีภาพถ่ายทหารอุ้มปลา บอกว่าเป็นแม่น้ำโขง ซึ่งภาพนั้นเป็นปลาจริง แต่ถ่ายแถวชายฝั่งอเมริกา ไม่ใช่แม่โขง ในเมืองไทยเท่าที่จำได้ ไม่เคยมีข่าว จะต้องเช็กอีกครั้ง แต่หากถามว่าในโลกหาปลาออร์ฟิชยากขนาดนั้นไหม ? คำตอบคือเจอเรื่อยๆ
“สมัยไปลงเรือสำรวจญี่ปุ่น ลงอวนน้ำลึกก็จับลูกปลา oarfish ได้เช่นกัน oarfish แพร่กระจายทั่วโลก ที่น่าสงสัยคือเจอที่สตูลได้อย่างไร อันดับแรก จับได้ที่ไหน ตอนนี้ผมยังไม่ทราบ เอาเป็นว่าแถวอันดามัน ทะเลอันดามันน้ำลึก เฉพาะในไทยลึกสุดก็ 2,000 เมตร อาจมี oarfish อยู่แถวนั้น แต่ปกติเราไม่จับปลาน้ำลึก ก็เลยไม่ค่อยรู้จักกัน”
อีกอย่างคือช่วงนี้น้ำเย็นเข้าอันดามัน ปรากฏการณ์ IOD (การสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย) มีปลาแปลกๆ เข้ามาตามมวลน้ำ เมื่อไม่กี่วันก่อนก็มีปลาโมลา (ปลาแสงอาทิตย์) ติดอวน ลูกเรือช่วยกันปล่อยไปแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า oarfish ตัวนี้จะเข้ามาตามน้ำ อีกทั้งยังมีขนาดเล็ก ตัวใหญ่ยาวหลายเมตร ภาพจากอะควอเรียมที่ญี่ปุ่น ที่นำมาลงให้ดูในเพจเฟซบุ๊ก ตัวนั้นยาวเกิน 5 เมตร
ดร.ธรณ์ ระบุด้วยว่า ทราบว่าปลาออร์ฟิชที่จับได้จะถูกนำมามอบให้พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นเรื่องดี จะได้รู้จักกันมากๆ พร้อมย้ำว่า ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แม้บางทีเราอาจได้ยินว่าเป็นปลาแผ่นดินไหว แต่เป็นการว่ายเข้ามาที่ฝั่ง ไม่ใช่จับมา แม้ว่ายมาฝั่งก็ไม่ใช่ทุกครั้ง อันที่จริงเชื่อว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า จึงไม่ต้องตื่นตระหนกกัน สตูลยังเที่ยวได้