สินน้ำใจเป็นรากเหง้าของสินบนที่ต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริต

1 ก.พ. 67
สินน้ำใจเป็นรากเหง้าของสินบนที่ต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริต
ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานในสังคมไทยที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เมื่อมีใครทำอะไรให้ก็มีการตอบแทนกลับเพื่อเป็นสินน้ำใจ จนหล่อหลอมและกลายเป็นบ่อเกิดของคำว่า “สินบน” ปัญหาการทุจริตที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างยิ่งทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมด้านการเมือง รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อมจนถึงปัจจุบัน
สินน้ำใจนี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาทุกประเทศก็ล้วนประสบกับปัญหานี้เช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ  (Transparency International :TI) ระบุว่า การติดสินบน เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันรูปแบบหนึ่ง
จัดเป็นกลุ่ม “ประพฤติมิชอบ” ที่ต้อง “ขจัด” ให้หมดไป เพราะเป็นการนำเสนอสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ในรูปแบบของเงิน หรือสิ่งตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคล หรือองค์กรธุรกิจทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อแลกเปลี่ยนหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการนั่นเอง
587103
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจถึงคำว่า “สินน้ำใจ” กับ “สินบน” ว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
“สินน้ำใจ” หมายถึง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากความมีน้ำใจเป็นพื้นฐาน ซึ่งเป็นฐานที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้ออื่น ๆ ด้วย เช่น ความเมตตา กรุณา ความเอื้ออาทร ความเสียสละแบ่งปัน ความมีมิตรไมตรี การดูแลกันและกัน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า “สินน้ำใจ” เป็นการให้ตอบแทนบุญคุณที่ได้รับเพื่อสร้างไมตรีและการดูแลซึ่งกันและกัน โดยอาจหวังการเอื้อประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐของผู้รับในอนาคต จึงเป็นรากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในวงราชการ
ส่วน “สินบน” หมายถึง ทรัพย์สิน ของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ที่เรียกกันทั่วไปว่า เงินใต้โต๊ะ เงินแป๊ะเจี๊ยะ ส่วย เช่น เงิน สิ่งของ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ เป็นต้น
ตัวอย่างพฤติกรรมการให้สินบน เช่น การให้เงิน บัตรกำนัล แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นสินน้ำใจตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ หรือเพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เมื่อไปติดต่อราชการ การให้เงินแก่โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนรับลูกหลานเข้าเรียน การให้เงินแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อมิให้ดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมาย การรับเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างผ่านการตรวจรับงาน เป็นต้น
ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งบัญญัติเรื่องการห้ามเจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ไว้ในมาตรา 128 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการออกประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐพ.ศ. 2563
เพื่อเป็นการป้องกันการให้ “สินน้ำใจ” และ “สินบน” สาระสำคัญของมาตรา 128 ห้ามเจ้าพนักงานของรัฐทุกตำแหน่ง และผู้ที่พ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี ห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ประโยชน์อื่นใด
อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ หมายถึง สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่มีข้อยกเว้น เจ้าพนักงานของรัฐสามารถรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดได้ในกรณี ดังนี้
  1. เป็นการรับที่มีกฎหมายอนุญาตให้รับได้ เช่น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยเลี้ยงไปราชการ เงินปันผลสหกรณ์
  2. เป็นการรับจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติโดยจะต้องเป็นการให้ตามประเพณีหรือตามธรรมจรรยาตามฐานะของผู้ให้
  3. เป็นการรับโดยธรรมจรรยา คือ การรับจากบุคคลที่ให้กันในโอกาสเทศกาลหรือวันสำคัญ รวมถึงการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือ การให้ตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคม ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
    1. เป็นการรับจากการให้แก่บุคคลทั่วไป โดยไม่เจาะจงผู้รับ เช่น การจับฉลาก
    2. เป็นการรับจากผู้ซึ่งมิใช่ญาติที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาส ไม่เกิน 3,000 บาท
หากมีการรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับไว้ เพื่อเป็นการรักษาไมตรีมิตรภาพหรือความสัมพันธ์อันดีจะต้องดำเนินการ ดังนี้
  • ต้องแจ้งรายละเอียดตามแบบฟอร์มที่กำหนด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทรัพย์สินต่อผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนแล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณา
  • หากมีคำวินิจฉัยว่าให้ส่งคืนทรัพย์สิน ต้องส่งคืนโดยทันทีหรือหากไม่สามารถคืนได้ให้ส่งมอบเป็นสิทธิของหน่วยงานโดยเร็ว
ทั้งนี้ หากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 128 มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงมาตรการป้องกันมิให้เกิดการทุจริต แต่ต้องคู่ขนานไปกับการปรับกระบวนการคิด จิตสำนึก และพฤติกรรมของคนไทยให้สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวมได้อย่างเด็ดขาด จะเป็นการสร้างค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทยอีกด้วย หากพบเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนสามารถแจ้งข้อมูลมาที่สำนักงาน ป.ป.ช. หมายเลขโทรศัพท์ 1205 หรือ เว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th
 
.................................................................................
 
 อ้างอิง : หนังสือคดีสินบนกับการรับทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าพนักงานของรัฐ สำนักงาน ป.ป.ช.
 
 “ ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ”

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม