ก.เกษตรฯ โดยกรมประมง จัดการปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำวางไข่
ก.เกษตรฯ โดยกรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2567 พร้อมประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และปล่อยเรือตรวจการเพื่อออกปฏิบัติการปกป้องแหล่งวางไข่และอาศัยเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำในทะเลอ่าวไทย
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานใน “พิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2567” ณ ท่าเทียบเรือประมงชุมพร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งมาตรการดังกล่าว ยังคงเป็นมาตรการที่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวไทย โดยแบ่งเป็นบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2567 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2567 ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวประจวบ และบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2567 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2567 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำฝั่งทะเลอ่าวไทยซึ่งเป็นแหล่งวางไข่และอาศัยเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำหลายชนิด ด้วยการคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่มีความสมบูรณ์เพศพร้อมผสมพันธุ์วางไข่ และปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อนให้มีโอกาสเจริญเติบโตเป็นสัตว์น้ำรุ่นต่อไป
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินมาตรการฯ ในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยมีปริมาณมากถึง 41,310 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,316.57 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 5,602 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 659.08 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ของปริมาณการจับ (ปี 2565 ปริมาณ 35,708 ตัน มูลค่า 2,657.49 ล้านบาท ) และพบว่าพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์ในอัตราที่สูงเกือบร้อยละ 100 อีกทั้งยังพบการแพร่กระจายของลูกปลาทู-ปลาลังและสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการ จึงเป็นการยืนยันได้ว่ามาตรการฯ ที่ใช้มีความสอดคล้อง ถูกต้อง และเหมาะสมทั้งในด้านพื้นที่ ช่วงเวลา และเครื่องมือที่มีการประกาศใช้มาตรการฯ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการประกาศใช้มาตรการฯ และปล่อยเรือตรวจการออกปฏิบัติการจำนวน 13 ลำ ประกอบด้วย เรือตรวจประมงทะเล702, เรือตรวจประมงทะเล 619, เรือตรวจประมงทะเล 613, เรือตรวจประมงทะเล 611, เรือตรวจประมงทะเล 324, เรือตรวจประมงทะเล 220, เรือตรวจประมงทะเล 208, เรือตรวจประมงทะเล 113, เรือตรวจประมงทะเล 105, เรือศรชล.ภาค 2, เรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, เรือตำรวจน้ำ และเรือตรวจคนเข้าเมือง มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง (กิจกรรมพัฒนาอาชีพชุมชนประมง) ประจำปี 2567 ให้แก่ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น 9 ชุมชนในเขตจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และประจวบคีรีขันธ์ มอบหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทย สำหรับเรือประมงพื้นบ้าน 7 ราย มอบโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 50 ราย และร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 654,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งแชบ๊วย 500,000 ตัว กุ้งกุลาดำ 150,000 ตัว ปลากระบอกดำ 3,000 ตัว และปลากะพงขาว 1,000 ตัว เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการนำเสนอข้อมูลความรู้ทางด้านประมงที่เกี่ยวข้องกับมาตรการฯ อาทิ ผลงานวิชาการสำรวจข้อมูลสัตว์น้ำ มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน พื้นที่ทะเลอ่าวไทย การจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ กิจกรรมขยะทะเลคืนฝั่งทะเลสวยด้วยมือเรา การควบคุมการทำประมงในช่วงประกาศใช้มาตรการฯ นิทรรศการสิ่งมีชีวิต อาทิ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำปลากระบอกดำ ปลาการ์ตูน ปลาหมอชุมพร 1 การบริหารจัดการทรัพยากรปูม้า ตลอดจนการแปรรูปสัตว์น้ำและจัดแสดงสินค้าประมงธงเขียว
ด้าน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการปิดอ่าวไทย” ถือเป็นภารกิจหลักที่กรมประมงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมงในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำอย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งอาชีพชาวประมงให้กินดี อยู่ดี และมีรายได้อย่างยั่งยืน