ตำรวจ สน.ห้วยขวาง เล่านาทีช่วยชีวิต สาวเครียด จะดิ่งคอนโดชั้น 8 งัดยุทธวิธีเจรจาระงับเหตุ ปลอบประโลมให้ผู้ก่อเหตุได้สติ
เมื่อเวลา 20.19 น วันที่ 11 มี.ค. 67 ด.ต.ไตรจเรส คล้ายขำ จ.ส.ต.ณัฐพงษ์ โคตรรัตน์ จ.ส.ต.สิทธิพร เกษรพรหม เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ ของสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ออกตรวจพื้นที่อย่างปกติ ได้รับแจ้งจาก ศูนย์วิทยุของ สน.ห้วยขวางว่ามีเหตุหญิงสาว พยายามจะกระโดด จากหน้าต่างชั้น 8 ของคอนโดแห่งหนึ่ง ย่านถนนเทียนร่วมมิตร จึงรีบรุดไปตรวจสอบ
พบหญิง 1 ราย พยายามฉีกมุ้งลวด เพื่อที่จะรอดตัวออกมาจากหน้าต่าง จึงรีบเข้าไประงับเหตุ โดยการตะโกนพูดคุยเจรจา แต่ขณะนั้นฟังกันไม่รู้เรื่อง เพราะหญิงดังกล่าวอยู่ที่บริเวณชั้น 8 ซึ่งขณะนั้นเองก็ได้มองเห็นว่ามี ชายอีกคนหนึ่ง พยายามพูดคุยอยู่ บริเวณข้างห้องดังกล่าว จึงสอบถามผู้ดูแล จนทราบว่าชายคนดังกล่าว เป็นแฟนที่พักอาศัยอยู่ด้วยกัน แต่ผู้ก่อเหตุได้อยู่ในห้องนอน และล็อกประตู จึงไม่สามารถเข้าไป ช่วยเหลือได้
ต่อมาจึงได้ประสานขอขึ้นไป เจรจาบนระเบียงดังกล่าว พร้อมทั้งรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ซึ่งในขณะนั้นช่วงแรก หญิงสาวที่ก่อเหตุไม่ยอมพูดจาด้วย จึงใช้ความพยายาม เพื่อถ่วงเวลาให้หญิงสาวคนดังกล่าวสงบลง ด้าน พ.ต.อ ประสพโชค เอี่ยมพพินิจ ผกก.สน.ห้วยขวาง ก็ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่สืบสวน เร่งตรวจสอบประวัติ และภูมิลำเนาของผู้ก่อเหตุ จนทราบว่าเป็นคนมุกดาหาร ซึ่งตัว จ.ส.ต.ณัฐพงษ์ ก็เป็นคนหนองคาย จึงใช้ภาษาท้องถิ่น เข้าพูดคุยปลอบประโลม ซึ่งก็ต้องใช้เวลากว่า 10 นาที
จนในที่สุดหญิงคนดังกล่าว ใจเย็นลง และยอมพูดคุยด้วย โดยหลังจากพูดคุยกัน จึงได้ทราบว่า ทางผู้ก่อเหตุเองมีปัญหาจากที่ทำงาน และปัญหาส่วนตัว เมื่อรวมๆ กันแล้วจึงเกิดอาการเครียด ประกอบกับมีปัญหาทางด้านสุขภาพ เป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย ที่ผ่านมายาที่ใช้รักษาอยู่หมด และไปรับช้าจึงถูกทางแพทย์ตำหนิเลยยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม ในที่สุดก็ตัดสินใจก่อเหตุดังกล่าว
ด้าน ด.ต.ไตรจเรส เปิดเผยถึงขั้นตอนในการช่วยเหลือเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการฝึกอบรมเบื้องต้น ในการเจรจาระงับเหตุ สุดท้ายในวันนี้ ก็ได้นำมาใช้ สำหรับยุทธวิธีที่ได้ฝึกมาคือต้องใช้เวลา ใช้ความใจเย็น และต้องสุขุมรอบคอบ ซึ่งยุทธวิธีดังกล่าวนั้นก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยได้เช่นกันเช่นเคสนี้ เราก็จะมองว่าสิ่งเร้าต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ก็ต้องตัดออกไป และอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์ ก็ให้นำมาใช้ เช่นภาษาท้องถิ่นในการพูดคุยก็เพื่อให้ผู้ก่อเหตุได้เกิดสัมพันธภาพที่ดี และยินยอมที่จะพูดคุยตอบโต้ด้วย ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น
เมื่อถามว่า มีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหน กับการระงับเหตุในลักษณะนี้ ด.ต.ไตรจเรส กล่าวว่า ไม่สามารถคาดการณ์เป็นเปอร์เซ็นต์ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งสำคัญ คือต้องไม่สร้างสิ่งเร้าอารมณ์ ให้กับผู้ก่อเหตุ ต้องพยายามทุกวิธีทาง เพื่อทำให้ ผู้ก่อเหตุนั้นเย็นลง โดยเฉพาะในเรื่องของเวลา ไม่สามารถเร่งเร้าหรือกระตุ้นได้เลย
ด้าน พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าสถานี ต้องชื่นชมผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ให้การช่วยเหลือหญิงสาวคนดังกล่าว สำหรับเหตุนี้ขั้นตอนดำเนินการ ยุทธวิธีในการเข้าให้ความช่วยเหลือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในการปฏิบัติต่างๆ จำเป็นต้องปฏิบัติไปตามยุทธวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การพูดคุย การเจรจา จำเป็นต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นการให้การช่วยเหลือในเคสดังกล่าว ที่ประสบความสำเร็จได้นั้นก็ต้องขอชื่นชมชุดปฏิบัติ
สิ่งที่อยากฝากถึงพี่น้องประชาชนในสภาวะแบบนี้ คือผู้ที่อยู่ในสภาวะผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นทางจิต หรืออยู่ในสภาวะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คงต้องฝากถึงคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดที่จะต้องช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด เช่นเคสที่เกิดขึ้น ผู้ก่อเหตุอยู่ในสภาวะโรคซึมเศร้า ฉะนั้นคนในครอบครัวควรต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่ คอยสังเกต เพราะการสร้างแรงกระตุ้นในเชิงลบเพียงเล็กน้อย อาจจะส่งผลให้เกิดความเครียด ซึ่งนำไปสู่การก่อเหตุ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ จึงอยากฝากถึงพี่น้องประชาชน ให้ช่วยเป็นหูเป็นตาดูแลคนในครอบครัวกันอย่างใกล้ชิด สิ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ แบบนี้ขึ้นได้