ทลายเครือข่ายอาหารเสริมลวงโลก ปลอมสูตร ใช้ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์

28 มี.ค. 67

อย.ทลายเครือข่ายอาหารเสริมลวงโลก ปลอมสูตร ใช้ดาราเป็นพรีเซ็นเตอร์ ขายความหวังรักษาโรคร้าย มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

 

วันที่ 27 มีนาคม 2567 ตำรวจสอบสวนกลาง,เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ.,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 7,327 ขวด มูลค่ากว่า 10,000,000 บาท

สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทำการตรวจสอบการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ADOXY ในลักษณะอวดอ้างสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และไม่ได้รับอนุญาต ด้วยภาพ เสียงและข้อความ ซึ่งได้มีการดำเนินคดีในความผิดฐาน “โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับไปแล้วนั้น

ต่อมาพบว่า ยังมีการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณในลักษณะที่สื่อหรือแสดงให้เข้าใจว่าเมื่อรับประทานแล้วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย หน้าที่การทำงานของอวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกาย สามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันความเจ็บป่วย หรืออาการของโรค ซึ่งอาจประชาชนให้เกิดความหลงเชื่อ บางคลิปวิดีโอยังใช้บุคคลมีชื่อเสียง ดารา เป็นพรีเซนเตอร์สร้างความน่าเชื่อถือ ยอมซื้อสินค้ามารับประทานในราคาสูงถึงขวดละ 1,450 บาท (15 มิลลิลิตร) โดยมีการโฆษณาจำหน่ายในลักษณะดังกล่าวมาแล้วประมาณ 4 ปี
ซึ่งความจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่สามารถโฆษณาในทางป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาเป็นคุณสมบัติของยารักษาโรคได้ โดยมีการอวดอ้างสรพพคุณต่างๆ

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนรวบรวมข้อมูล พบการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว โดยใช้ข้อความหลอกลวงเพื่อจัดจำหน่ายสินค้า ผ่านเว็ปไซต์ และเฟซบุ๊ก รวมกว่า 22 เว็ปไซต์ 

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังกล่าว ส่งตรวจ ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีลักษณะและวัตถุประสงค์ในการผลิตเป็นอาหาร จึงจัดเป็นอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง

จึงได้ทำการสืบสวนจนทราบถึงกลุ่มผู้กระทำความผิด แหล่งผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมทั้งฉลาก ขวด-กล่องบรรจุภัณฑ์ มูลค่าประมาณ 10,917,230 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส