บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อน มะเร็งร้ายเศรษฐกิจและสุขภาพคนไทย

6 พ.ค. 67

การลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสุขภาพคนไทย เพราะนอกจากจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลงซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะประชากรอายุน้อย ที่แทนที่จะได้เติบโตอย่างแข็งแรงขึ้นมาเป็นอนาคตของประเทศชาติ กลับเสี่ยงที่จะต้องเจอกับภาวะทางสุขภาพไม่ว่าจะเป็นปอดอักเสบ รวมไปถึงโรคมะเร็ง

ซึ่งที่จริงแล้วการลับลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ต่างกับการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายต่างๆ ที่มีการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนมีเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้องมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น

วันนี้ SPOTLIGHT Anti Corruption Season 2 EP. นี้ จึงจะพาทุกคนไปสืบสาวราวเรื่องกันว่าปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนนี้มีที่มาอย่างไร ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแค่ไหน และจะมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง

บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่นิยม ผู้นำเข้าเห็นช่องทำกำไร

แม้จะมีผู้นำเข้ามาใช้อย่างแพร่หลายเป็นเวลาหลายปีแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนและช่องว่างการควบคุมดูแลสินค้าชนิดนี้ ถูกพูดถึงในหน้าสื่อมากขึ้นหลังจากมีข่าวดาราสาวชาวไต้หวันถูกตำรวจรีดไถเงินค่าปรับฐานพกพาบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์

นี่ทำให้หลายๆ คนรู้เป็นครั้งแรกว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่เราเห็นคนสูบและขายกันอย่างแพร่หลายทั้งในร้านค้าและช่องทางออนไลน์ นั้นเป็นสินค้าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นสินค้าห้ามขายตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นสินค้าควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบจะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ

ข่าวนี้เปิดประเด็นให้มีการเปิดโปงขบวนการการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนที่กลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรเป็นล่ำเป็นสันให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากความนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มากขึ้น

โดยจากการสำรวจสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ปี 2565 พบในไทยมีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนทั้งหมดถึง 709,677 คน คิดเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปีถึง 269,553 คน เพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า จากยอดการสำรวจปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 78,742 คน

001_3

ความนิยมของบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่บุหรี่ไฟฟ้ามีราคาถูกกว่าบุหรี่ธรรมดาที่มีการเก็บภาษีในระดับสูงถึง 25-42% อีกทั้งมีการออกแบบมาให้ดูทันสมัย มีหลายกลิ่นเหมือนของเล่น ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่คนอายุน้อย และทำให้ผู้ลักลอบมองเห็นโอกาสในการทำรายได้และกำไรในตลาดผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มขึ้น และคิดว่าแม้จะถูกจับปรับก็ยังคุ้มค่าที่จะทำ เพราะผลประโยชน์นั้นมากกว่าโทษที่จะได้รับ

เปิดช่องทางนำเข้าบุหรี่เถื่อน

จากข้อมูลของสมาคมการค้ายาสูบไทย ปัจจุบัน บุหรี่เถื่อน และบุหรี่ไฟฟ้าถูกลักลอบเข้ามาในประเทศไทยผ่าน 3 ช่องทางหลักๆ ได้แก่

1.ช่องทางบกตามช่องทางธรรมชาติจากชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน และส่งต่อในประเทศเพื่อไปรวมที่จุดรวมของใหญ่ๆ ในภูมิภาคต่างๆ โดยรถขนส่งของขบวนการลักลอบนำเข้า หรือส่งทางพัสดุไปรษณีย์
2.ช่องทางทะเล ที่มีการขนย้ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือประมงขนาดเล็กกลางทะเล ทำให้ยากต่อการจับกุม

3.การขนส่งสินค้าผ่านแดนผ่านเขตฟรีโซน เช่น แหลมฉบัง โดยแจ้งปลายทางเป็นประเทศที่ 3 แต่สุดท้ายนำสินค้าวนกลับเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายศุลกากร

002_3

สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า 90% ของเครื่องบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาเป็นสินค้าที่ผลิตจากจีน โดยจากข้อมูลของศุลกากรจีน ในปี 2566 ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนเป็นรองเพียง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมเป็นเงินมูลค่าสูงถึง 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่การนำเข้าสินค้าเหล่านี้เป็นการทำผิดกฎหมาย

จากปริมาณการนำเข้าที่สูง และช่องทางการลักลอบนำเข้าที่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่การนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาเป็นจำนวนมากเท่านี้จะไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรในระหว่างการนำเข้า เจ้าหน้าที่สรรพสามิต และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ละเลยไม่จับกุมผู้ที่นำบุหรี่ไฟฟ้ามาจำหน่ายทั้งในหน้าร้านและช่องทางออนไลน์

โดยจากการสำรวจโดยนักข่าวอัมรินทร์ทีวี ผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้ารายหนึ่งต้องจ่ายส่วยให้ตำรวจถึงเดือนละประมาณ 100,000 บาท เพื่อจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในตลาด

003_2

บุหรี่เถื่อนทำรัฐเสียรายได้ 20,000 ล้านบาทต่อปี

ในความเห็นของ สมาคมการค้ายาสูบไทย ปัจจุบันปัญหาการนำเข้าบุหรี่เถื่อนเป็นเรื่องใหญ่ระดับนโยบายที่ส่งผลเสียต่อทั้งรัฐบาลและอุตสาหกรรมการค้ายาสูบในไทย ที่มีทั้งผู้ปลูก ผู้ผลิต และผู้ขายรายย่อย โดยที่ผ่านมาปัญหาบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าได้สร้างความเสียหายต่อรายได้ของภาครัฐมากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี จากการที่ภาครัฐไม่สามารถเก็บภาษีจากสินค้าชนิดนี้ได้

ปัญหาการเก็บภาษีเป็นปัญหาหนักเพราะปัจจุบันอัตราการบริโภคบุหรี่เถื่อนในไทยสูงถึง 22-23% โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เช่น สตูล สงขลา พัทลุง นราธิวาส นครศรีธรรมราช โดยจากข้อมูลในปี 2566 อบจ. เก็บภาษีจากบุหรี่ได้เพียง 7 ล้านกว่าบาท จากที่เคยเก็บได้ 66 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเสียรายได้ในการมาพัฒนาพื้นที่

นอกจากนี้ ผู้ค้ารายย่อยยังได้รับผลกระทบเพราะสามารถขายสินค้ายาสูบแบบดั้งเดิมได้ลดลง เพราะราคาของบุหรี่มวนในปัจจุบันสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้และค่าครองชีพของคนไทย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการปรับขึ้นภาษีทุกๆ 2-3 ปี ทำให้เมื่อผู้บริโภคเห็นว่ามีตัวเลือกที่ถูกกว่า มีรสชาติหลากหลาย แถมยังซื้อได้สะดวกตามช่องทางออนไลน์ ก็ไม่แปลกที่ผู้บริโภคเหล่านี้จะหันไปหาผลิตภัณฑ์ทดแทน

บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ทำเยาวชนพบโรคร้ายก่อนวัยอันควร

ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมยาสูบไทยแล้ว ผลกระทบอีกด้านที่ร้ายไม่แพ้กันของบุหรี่ไฟฟ้าก็คือ ผลกระทบที่มีต่อสุขภาพระยะยาวของผู้สูบ ที่อันตรายไม่แพ้กับบุหรี่มวน ผิดกับที่ผู้ใช้หลายๆ คนเข้าใจ โดยเฉพาะในหมู่ผู้ใช้อายุน้อยที่มองบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของเล่น ของแฟชั่นตามเทรนด์ที่นำมาใช้ได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เกิดเกิดภาวะทางสุขภาพและโรคร้ายที่ไม่เคยพบมาก่อนในคนอายุน้อย และความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติในพัฒนาการการเติบโต

โดยบุหรี่ไฟฟ้าแม้จะไม่มีอันตรายจากการเผาไหม้ สารประกอบอื่น ๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน เช่น นิโคติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่ ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ และโพรไพลีนไกลคอล และกลีเซอรีน ที่ทำให้เกิดอาการไอ และสารแต่งกลิ่นและรส ที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า เมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบแล้ว จะเกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวอัมรินทร์ว่า หากมองในมิติของนิโคติน บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน เนื่องด้วยบุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสารนิโคตินสูงกว่าบุหรี่มวน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน บุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นแบบใช้แล้วทิ้งบางยี่ห้อมีปริมาณนิโคตินสูงเทียบเท่ากับบุหรี่มวนถึง 20 ซอง

004_2

ปริมาณนิโคตินที่สูงส่งผลเสียอย่างมากต่อผู้สูบอายุน้อย เพราะเป็นสารที่อันตรายกับสมองของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุยังไม่เกิน 20 ปี เพราะนิโคตินจะรบกวนกระบวนการสร้างเซลล์สมองของเด็กและเยาวชน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ปัญหาทางอารมณ์ ปัญหาเรื่องการเรียน และปัญหาเรื่องของสุขภาพจิตต่างๆ

นอกจากนี้ จากผลการศึกษา บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นต้นตอที่จะนำผู้สูบ โดยเฉพาะเด็ก ไปสู่การใช้สิ่งเสพติดอื่นๆ เช่น แอลกอฮอล์ และยาเสพติด ได้มากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว และปัญหาสังคมจากผู้เสพสิ่งเสพติดเกิดขึ้นมาอีก

วิธีแก้ปัญหายังเป็นที่ถกเถียง ทำให้ถูกกฎหมายหรือแบน?

จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสุขภาพเหล่านี้ ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าจึงควรเป็นวาระเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ควรจะเข้ามาลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ วิธีการแก้ปัญหาในประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มองว่าต้องมีการออกกฎให้การนำเข้า ซื้อขาย รวมไปถึงใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโทษอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นอันตรายมากต่อสุขภาพของผู้สูบ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และมีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขายและผู้สูบ ต่างก็มองว่าการห้ามนั้นไม่ได้ผล เพราะคนที่อยากจะสูบอย่างไรก็จะหามาสูบจนได้

ในความเห็นของสมาคมการค้ายาสูบไทย วิธีแก้ไขปัญหาที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือการปราบปรามไม่ให้มีการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนเข้ามาก่อนเพื่อลดผลกระทบ แล้วค่อยทำให้การนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และออกมาตรการควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของประชากรในภายหลัง เช่น การกำหนดอายุขั้นต่ำ การห้ามทำสินค้าเลียนแบบของเล่น การห้ามโฆษณาสินค้าในเชิงเชิญชวน และให้ความรู้เรื่องโทษของบุหรี่ไฟฟ้ากับทั้งคนอายุน้อยและบุคคลทั่วไปอย่างแพร่หลาย

005_3

ที่สำคัญคือเมื่อจับผู้กระทำผิดได้แล้ว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสืบสาวหาผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษอย่างจริงจัง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้นำเข้าจ่ายเพียงค่าปรับ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ผู้กระทำผิดทำผิดได้ซ้ำซากเพราะการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าทำกำไรได้มากพอที่จะทำให้ผู้ลักลอบนำเข้าจ่ายค่าปรับได้สบายๆ ไม่มีการสืบสวนขยายหาเส้นทางการลักลอบ ที่มาแหล่งเงิน และไม่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่ปล่อยปละละเลย

ดังนั้น ปัญหาการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ และเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้การที่จะแก้ปัญหานี้ไม่สามารถพึ่งพาหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ แต่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังทุกภาคส่วน ตั้งแต่การป้องกันการลักลอบนำเข้า การปราบปรามร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้า และการสืบสวนเส้นทางเงินเพื่อหาผู้บงการรายใหญ่ ไม่ให้มีเพียงการเสียค่าปรับทำให้ผู้กระทำผิดกลับมาทำผิดซ้ำได้อีก

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม