ส่วยสถานบันเทิง ภัยร้ายกัดกร่อนสังคมไทย

20 พ.ค. 67

ส่วยสถานบันเทิง ภัยร้ายกัดกร่อนสังคมไทย

สถานบันเทิงที่เปิดให้บริการยามค่ำคืนในประเทศไทย มีอยู่เป็นจำนวนมาก และต้องยอมรับว่า มีการเปิดหลากหลายรูปแบบ มีทั้ง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด เล้าจ์ คอนเสิร์ต บาร์โฮส และอื่นๆ อีกมากมาย

สถานบริการเหล่านี้ที่จริงแล้วมีกฎระเบียบ และกฏหมายกำหนดเอาไว้แล้วทั้งเกณฑ์ในการขออนุญาตเปิดให้บริการอย่างถูกต้องตามกฏหมาย รวมถึงเมื่อเปิดให้บริการแล้วก็ต้องเปิด ปิด ตามที่กฏหมายกำหนดอีกด้วย

แต่แม้จะมีกฎหมายชัดเจน แต่หลายคนทราบดีว่า ธุรกิจสถานบันเทิงยามค่ำคืนเหล่านี้ เป็นแหล่งสำคัญให้เกิดการทุจริตเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ หรือเพราะตัวบทกฎหมายไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน? หรือเพราะบทลงโทษที่เบาจนไม่สร้างความเกรงกลัวให้กับผู้ทำผิด ? SPOTLIGHT Anti Corruption Season 2 บทความนี้จะพาไปหาคำตอบเกี่ยวกับส่วยสถานบันเทิง ภัยร้ายกัดกร่อนสังคมไทย

“ทนายตั้ม” เปิดโปงขบวนการส่วยตำรวจ เปิดรายชื่อ 18 ธุรกิจสีเทา

กลายเป็นประเด็นร้อนวงการสีกากี เมื่อทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดโปงขบวนการส่วยตำรวจเชื่อมโยง 3 ตัวละครสำคัญ คือ ดาบยาว รองฟาง และบิ๊กต่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ ลุกลามไปถึงการเปิดรายชื่อ 18 ธุรกิจสีเทา ที่มีส่วนเชื่อมโยงในการถูกเรียกเก็บหรือจ่ายส่วย โดยมีรูปแบบการเก็บตั๋ว หรือ เงินสด ส่งถึงหน่วยงานคอมมานโด , ปคม. และ สอท.

ทั้งนี้การเก็บส่วยทั้งหมด จะแบ่งทีมกันดูแลเป็น 5 ภาค มีหัวหน้าชุดหรือที่เรียกกันว่า “แม่บ้าน” ประจำตามโซน ตั้งแต่ ทีมภาคเหนือ , ภาคอีสาน , ภาคกลาง , ภาคใต้ และทีมภาคตะวันออก ซึ่งเป็นทีมที่ทำยอดได้มากที่สุด โดยส่วยที่เก็บมานั้นจะส่งยอดกันในทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน

หลังจากนั้น วันที่ 30 มีนาคม 2567 ทนายษิทราโพสข้อความและคลิปเสียงสนทนาของชาย 2 คน ที่มีการสั่งเก็บส่วยสถานบันเทิงคาราโอเกะย่านลาดพร้าว ผ่านเฟซบุ๊ก ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯซึ่งเป็นการพูดคุยกันเกี่ยวกับการแจ้งราคาค่าตั๋ว หรือส่วยที่ต้องเรียกเก็บจากร้านคาราโอเกะย่านลาดพร้าว พร้อมระบุชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ทนายษิทราให้ข้อมูลว่าคลิปเสียงนี้เกิดขึ้นช่วงเวลา 17.00 น.ของวันที่ 7 ต.ค. ปี 65

001_5

หลุดแชตโพยส่วยสถานบันเทิงย่านรังสิต

จากข้อมูลที่ทนายษิทราออกมาเปิดโปงสอดคล้องกับหลักฐานการจ่ายส่วยของสถานบันเทิงแห่งหนึ่งย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี ที่มีการเผยแพร่กันในสื่อออนไลน์เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา แสดงถึงการจ่ายเงินประจำเดือนให้กับตำรวจ ข้าราชการในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับผู้บังคับการ ผู้กำกับการและหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงนักข่าวอยู่ด้วย

ซึ่งในโพยค่าใช้จ่ายที่หลุดออกมานี้ แสดงถึงค่าใช้จ่ายรายเดือน 7 รายการ ได้แก่ ผู้การฯ 40,000 บาท สืบภาค 2,000 บาท สืบจังหวัด 38,000 บาท อำเภอ 25,000 บาท ผู้กำกับ 40,000 บาท นักข่าว 5,000 บาท ตร.ท่องเที่ยว 2,000 บาท รวมค่าเคลียร์ประจำเดือนประมาณ 152,000 บาท
ซึ่งสาเหตุที่แชตหลุดออกมานั้น เกิดจากหุ้นส่วนของร้านแห่งนี้ไม่พอใจผู้สื่อข่าวรายหนึ่ง ที่ไปทำข่าวตรวจค้นสถานบันเทิง ทั้งที่ได้มีการจ่ายส่วยให้กับหน่วยงานต่างๆแล้ว

002_5

สาเหตุการรับส่วย สินบน สถานบันเทิงของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทีมรายการ SPOTLIGHT Anti Corruption ได้พูดคุยกับนางสาวขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาแนวทางแก้ไขสถานบันเทิง ถึงสาเหตุการรับส่วย สินบน ของเจ้าหน้าที่รัฐก็ได้รับข้อมูลว่า

ปัจจัยเรื่องการเปิด-ปิดสถานบริการ , อายุของคนทำงานและผู้เข้ามาใช้บริการรวมถึงการขอใบอนุญาตสถานบันเทิงที่ถูกถูกต้องตามกฏหมาย เป็น3 เรื่องหลักสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่

โดยแม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลให้ขยายเวลาการปิดของสถานบริการบันเทิงได้ถึงเวลาตี 4 ใน 5 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และอ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ก็มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

ในทางปฏิบัติจริง ประเด็นธุรกิจสถานบันเทิง ยังมีกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องอีกมากมายที่เป็นการเปิดช่องให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ของทางเจ้าหน้าที่

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ พื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่สถานบันเทิงที่เปิดให้บริการส่วนมากเข้าข่ายผิดกฎหมายทั้งนั้น เนื่องจากสถานบริการส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯได้รับอนุญาติให้เป็นร้านอาหาร และขอใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ได้ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องปิดให้บริการในเวลาเที่ยงคืน ไม่เข้าเกณฑ์สถานบันเทิงและไม่สามารถที่จะปิดตี 4 ได้ตามนโยบายของรัฐ

ขณะเดียวกันสถานประกอบการจำนวนมากในพื้นที่ กรุงเทพฯไม่ว่าจะเป็น ถนนข้าวสาร ทองหล่อ ก็ไม่ได้อยู่ในเขตโซนนิ่งที่กฏหมายกำหนดไว้ให้สามามารถมาขอใบอนุญาตสถานบันเทิงที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราตามกฏโซนนิ่งสถานบันเทิงนั้นจะต้องตั้งอยู่ใน 3 พื้นที่ คือ เพชรบุรีตัดใหม่ รัชดาภิเษก และพัฒน์พงษ์เท่านั้น

นี่จึงเป็นเพียง 1 ใน 3 ปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลให้การยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานบันเทิงมีจำนวนน้อยมาก และมันได้กลายเป็นช่องทางทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการได้

ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาแนวทางแก้ไขสถานบันเทิง ระบุว่า คณะกรรมาธิการฯที่ตั้งขึ้นมานี้ ได้ออกผลการศึกษาถึงปัญหาของสถานบันเทิงในประเทศไทยเพื่อส่งให้รัฐบาลนำไปพิจารณา ศึกษาต่อ หรือปรับใช้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการกำหนดโซนนิ่ง ที่ควรได้รับการแก้ไข รวมถึงเสนอการปิดสถานบันเทิงในเวลาตี 2 เป็นต้น

ทั้งนี้เสียงสะท้อนของผู้ประกอบการบางรายต้องจ่ายสินบนให้กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องสูงถึง 15 หน่วยงาน ต่อเดือนทุกเดือน โดยที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ระบุว่า ไม่มีใครอยากทำผิดกฏหมาย ดังนั้นกฎระเบียบควรต้องเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ได้

การทุจริตปล่อยปละละเลยให้สถานบันเทิงปิดเกินเวลา ส่งผลกระทบต่อสังคมหลายด้าน เพราะหลังสถานบริการเหล่านี้ปิดลงแล้ว ความปลอดภัยบนท้องถนน ปัญหาอุบัติเหตุ ยาเสพติด อาชญากรรม กลับมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น

003_4

สถานบันเทิงเปิดเกินเวลาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน

เช่นเดียวชาวบ้านในพื้นที่สถานบันเทิงเหล่านั้น ก็มีจำนวนหนึ่งที่เดือดร้อน จากเสียงดัง ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ในย่านที่พวกเค้าอยู่อาศัย ตัวอย่างครูสอนกีฬาอิสระท่านนี้ที่เปิดสอนสเก็ตบอร์ด อยู่ใกล้กับสถานบันเทิงแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี เปิดใจว่า ตนเองเปิดสอนสเก็ตบอร์ด มาก่อนที่สถานบันเทิงจะมาเปิด แต่ช่วงหลังที่สถานบันเทิงมาเปิดก็มีปัญหาทั้งที่จอดรถ และนักเที่ยวที่มาเที่ยวแล้ว ก่อนกลับต้องมาปัสสาวะที่ข้างกำแพงบ้านของตน หนักสุดคือทำถุงยาเสพติดตกเอาไว้ ซึ่งตนไปเจอในตอนเช้า จึงได้รีบแจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าของร้านมาดูเพื่อเป็นพยาน จึงน่าเป็นห่วงหากมีการปรับเปลี่ยนเวลาให้ผับเปิดได้จนถึง 04.00 น.จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีก

ทีมข่าวได้สำรวจบริเวณใกล้กับสถานบันเทิงแห่งนี้ พบว่าอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเพียง 2 กิโลเมตร ใกล้กับหอพักของนักศึกษา รวมถึงบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ในชุมชน บ้านหลังหนึ่งในชุมชนที่อยู่ใกล้กับสถานบันเทิงมากที่สุด ได้มีการบติดป้ายประกาศขายบ้าน จึงได้เดินทางเข้าไปสอบถาม และได้เจอกับ นางวิชาภรณ์ กาญจนา อายุ 66 ปี ข้าราชการบำนาญ เปิดใจว่า ตนเองอยู่อาศัยบริเวณนี้มาประมาณ 20 ปี เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน มีสถานบันเทิงจะมาเปิด และมีการเปิดเพลงเสียงดังในช่วงกลางคืน โดยเฉพาะช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะเสียงดังเป็นพิเศษ ตนเองลำบากเพราะช่วงกลางคืนก็อยากจะนอนหลับพักผ่อน แต่มีเสียงจากสถานบันเทิงมารบกวนอยู่ตลอด หากยังอยู่ที่นี่ ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องของสุขภาพตามมาก็เลยตัดสินใจประกาศขายบ้านที่อยู่ตรงนี้ และเตรียมจะย้ายไปอยู่ที่อื่น

ทีมข่าวได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการสถานบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการทำธุรกิจภายหลังรัฐฯมีมาตรการกำหนดพื้นที่ให้สถานบันเทิงปิดบริการในเวลาตี 4 ได้ ก็พบว่า ร้านส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าเกณฑ์จะปิดตี 4 ทำให้น่ากังวลว่า นี่จะเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตได้หรือไม่ ? เพราะการขยายเวลาเปิดให้นานขึ้น ก็เป็นโอกาสในการทำรายได้ให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้นเช่นกัน

004_4

ปัญหาการทุจริตที่เกิดจากการสมยอมระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่รัฐ

นายเอกวิทย์ ธีรวิโรจน์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ (ป.ป.ช.) บอกว่า ปัญหาการจ่ายสินบนในธุรกิจสถานบันเทิงเป็นปัญหาการทุจริตที่เกิดจากการสมยอมระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงมักไม่มีการร้องมาที่ ป.ป.ช. แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาสถานบริการในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะตามจังหวดท่องเที่ยวต่างๆ มีการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เอื้อให้เกิดการกระทำความผิด เช่นให้เยาวชนที่มาอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้ามาใช้บริการ การพกพาอาวุธเข้าไปในสถานบริการและเสี่ยงให้เกิดปัญหาอาชญกรรมตามมา ปัญหาการลักลอบค้าประเวณี ยาเสพติดโดยในฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการทุจริตรับสินบนปล่อยให้สถานบริการกระทำผิดกฏหมาย ก็เข้าข่ายความผิดทั้งกฏหมายอาญา ในมาตรา157 ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และ กฏหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ โดยหากกระทำผิดจริงกฎหมายอาญามีโทษทั้งให้ออกจากราชการและมีโทษจำคุกด้วย

ในขณะที่สถานประกอบการเอง หากกระทำผิด ก็มีกฏหมาย พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 ในหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง ทั้งมาตรา 12 14 15 16 17 เช่น ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีผู้มีอายุต่ำกว่า 20ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ตามมาตรา 16หรือ กรณีปิดเกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 5หมื่นบาท ตามมาตรา 17 เป็นต้น อย่างไรก็ตามโทษอาญาดูเป็นโทษที่ไม่หนักหนาสาหัส ขณะที่โทษทางปกครองอาจมีการสั่งปิด และเพิกถอนใบอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี
ทางออกของปัญหาสถานบันเทิงที่ผิดกฎหมาย

มุมมองของ ป.ป.ช. มองว่า ทางออกของปัญหาสถานบันเทิงที่ผิดฎหมาย มี 3 ส่วนหลัก คือ 1.การให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง การปลูกฝังจิตสำนึกในการประพฤติปฏิบัติของคนไทยให้ถูกต้องตามกฏหมาย 2.การสร้างระบบการป้องกัน การแจ้งเตือน การร้องเรียน 3.การลงโทษตามกฎหมายหรือการบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง

มาตรการกำหนดโซนนิ่ง หรือนโยบายของภาครัฐที่ให้ปิดสถานบันเทิงตี 4 ในพื้นที่ 5 จังหวัด ที่มีผลเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา อาจจะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาเรื่องเปิดเกินเวลาได้ในระดับหนึ่งแต่ปัญหาอื่นๆที่มาจากสถานบันเทิง ยังมีหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เช่นผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีมาใช้บริการ การลับลอกค้าประเวณี หรือ ยาเสพติด เป็นต้น

ดูเหมือนปัญหาการทุจริตสถานบันเทิงเป็นเรื่องที่ยากและเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในสังคมไทยเลยก็ว่าได้ เพราะมีผลกระทบต่อประชาชนในหลายส่วน ส่วยสถานบันเทิงจึงไม่ใช่ความบันเทิงของประเทศไทย แต่เป็นภัยที่หน่วยงานรัฐต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

005_5

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม