พิษไวรัส โควิด-19! จีนระงับนำเข้า "ขนุนส่งออก" ที่สามร้อยยอดทั้งหมด ทำเอาชาวสวน และผู้ส่งออกขนุนรายใหญ่ขาดทุนกันยับ
จากสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือ "ไวรัสโควิด-19" ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน และการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ล่าสุดส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกขนุน ซึ่งเป็นผลไม้ชื่อดังของอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อย่างเช่นที่ล้งขนุนเจ๊ไหว ในตำบลไร่ใหม่ บรรยากาศสุดเงียบเหงา จากที่เคยมีขนุนกองเต็มล้งเพื่อเตรียมส่งออกไปประเทศจีน แต่ในวันนี้เหลือขนุนกองอยู่ในล้งเพียงเล็กน้อย และมีรถกระบะมารับขนุนเพียงแค่ 1 เจ้าเท่านั้น
ขณะที่นางสาวสุพรรณ์ญา สิงห์เสนา ผู้ประกอบการส่งออกขนุนรายใหญ่ กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจส่งออกขนุนไปยังประเทศจีน โดยก่อนหน้านี้ล้งของตนมียอดส่งออกขนุนมากถึง 500 ตันต่อเดือน
แต่ตอนนี้ยอดส่งออกเป็นศูนย์ ไม่สามารถส่งออกขนุนได้เลย เพราะตอนนี้ลูกค้าจีนสั่งระงับออร์เดอร์ไม่รับซื้อขนุน ทำให้ทั้งตนและผู้ค้ารายอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ทางล้งก็ยังมีความจำเป็นต้องรับซื้อขนุนจากชาวสวนที่เป็นลูกไร่เพื่อช่วยระบายของจากชาวสวน โดยสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ ก็คือการตัดส่งขายในประเทศ ที่แม้ราคาจะถูกกว่า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เนื่องจากตลาดต่างประเทศอย่างจีนก็เป็นลูกค้าหลัก ส่วนอีกหนึ่งทางรอดก็คือขายส่งให้โรงแกะ และโรงอบกรอบ
ซึ่งถ้าโรงงานเหล่านี้หยุดอีก ผู้ค้าก็จะยิ่งลำบาก โดยโรงงานบรรจุกระป๋องเองก็ยังไม่สามารถส่งออกได้ ทำได้เพียงสต๊อกของไว้ แต่หากสต๊อกเต็มก็จะหยุดรับซื้อ ทำให้ขณะนี้ยอดขายของล้ง เหลือยอดเพียงวันละไม่ถึง 10 ตันเท่านั้น
ส่วนเรื่องราคาตอนนี้ รับซื้อจากชาวสวนอยู่ที่กิโลละ 4 บาท และก็ส่งให้ลูกค้าที่ราคา 4 บาทเหมือนกัน เรียกได้ว่าตอนนี้ยังไงก็ขาดทุนทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท เพราะต้องมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าแรงลูกน้อง และค่าน้ำมันรถด้วย
ด้านนายธวัชชัย คงคาหลวง ผู้รับซื้อขนุนจากตลาดบางบอน กล่าวว่า ตนหันมาทำธุรกิจรับซื้อขนุนนานหลายสิบปีแล้ว ที่ผ่านมาตระเวนหาซื้อขนุนไปหลายจังหวัด เต็มที่ก็เคยเจอแต่เรื่องผลผลิตไม่ดี เนื้อเป็นสนิม จนมาเจอขนุนที่อำเภอสามร้อยยอด
ปรากฏว่ายอดขายดีมาก เนื้อหนา รสชาติหวานกรอบ จึงหันมาซื้อขนุนของสามร้อยยอดเพียงที่เดียว แต่ในช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี แล้วมาเจอไวรัสอีก ตลาดจีนก็ปิดตู้ไม่รับสินค้า เศรษฐกิจมันก็เลยแย่มากขึ้นไปอีก จนต้องยอมรับว่าสถานการณ์มันจะถึงจุดวิกฤตแล้ว
ขณะเดียวกันนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีรายงานว่า พบผู้โดยสารบนเรือสำราญ "เวสต์เตอร์ดัม" เกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ว่า เป็นการติดเชื้อบนเรือแน่นอน ไม่ใช่การติดบนผืนแผ่นดิน
ดังนั้นจึงเป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคขั้นสูงสุด ซึ่งตนพร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็นตรงกันว่า "ห้ามผู้โดยสารบนเรือเข้าประเทศไทยเด็ดขาด" จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค (14 วัน) โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา เพราะถ้าให้เข้ามาไม่ใช่ว่าเราต้องดูแลแค่ผู้โดยสารที่มีชื่อบนเรือลำนั้นเท่านั้น แต่ต้องดูแลคนที่ร่วมเดินทางเข้ามาไทยเพิ่มเติมอีก ดังนั้นเรื่องนี้กรมควบคุมโรคจะออกประกาศคำสั่งต่อไป