รัฐบาล-สำนักงานสถิติ แถลงผลสำรวจความคิดเห็นปชช.รอบ 6 เดือน ชอบนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่มากสุด และอยากให้ควบคุมสินค้า-ลดค่าไฟ
วันที่ 2 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลครบรอบ 6 เดือน ด้วยวิธีสัมภาษณ์ประชาชน ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนตัวอย่าง 6,970 คน ระหว่างวันที่ 22 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2567 โดยนำเสนอในระดับประเทศ กรุงเทพมหานคร และ 6 ภาค
พบว่าประชาชนติดตาม รับรู้ข่าวสารของรัฐบาล ผ่านสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์มากที่สุด ถึวร้อยละ 83.9 โดยแบ่งเป็นโทรทัศน์ร้อยละ 69.6 รองลงมา Facebook ร้อยละ 46.2 เว็บไซต์ร้อยละ 23.8 ญาติคนรู้จักร้อยละ 16.0 และแอปพลิเคชั่น LINE ร้อยละ 15.5 ขณะที่ร้อยละ 16.1 ไม่รู้หรือติดตาม เนื่องจากไม่สนใจ ไม่มีเวลาว่าง
ส่วนความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาล ประชาชนมีความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลในระดับมาก ถึงมากที่สุด ร้อยละ 44.3 ระดับปานกลางร้อยละ 39.6 ส่วนระดับน้อยอยู่ที่ 14.1
ส่วนนโยบายที่ประชาชนมีความพึงพอใจมากที่สุด ได้แก่ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ร้อยละ 68.4 มาตรการพักหนี้เกษตรกรร้อยละ 38.9 มาตรการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวร้อยละ 33.1 มาตรการลดค่าไฟร้อยละ 32.8 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบร้อยละ 29.3
ขณะที่ผลสำรวจสิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการควบคุม มากที่สุดคือ ราคาสินค้า อุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก ร้อยละ 75.3 ลดค่าไฟร้อยละ 46.6 แก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงร้อยละ 29.5 แก้ปัญหายาเสพติดร้อยละ 26.3 และแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำร้อยละ 6.9
ส่วนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศพบว่ามีความเชื่อมั่นในระดับมากร้อยละ 41.9 ปานกลาง 39.6 ขนาดที่น้อยที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 15.8 ส่วนที่ไม่เชื่อมั่นร้อยที่สุดร้อยละ 2.7 ซึ่งประชาชนในชายแดนภาคใต้ มีความเชื่อมั่นในระดับมากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยมีความเชื่อมั่นในระดับมากที่สุด ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้มาก
ด้าน นางสุวรรณี กล่าวว่า ประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดผลสำรวจความคิดเห็นได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และหลังจากนี้ช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. จะมีการทำผลสำรวจความเห็นประชาชนอีกรอบเมื่อรัฐบาลทำงานครบ 1 ปี