รู้จัก "โล่ติ๊น" หรือ "หางไหล" เปิดกลไกความเป็นพิษหลังถูกโยงคดีเสี่ยต้น

3 มิ.ย. 67

รู้จัก "ต้นโล่ติ๊น" หรือ "หางไหล" พิษจาก "ราก" อันตรายถึงหัวใจล้มเหลว เปิดกลไกปลิดชีพดุจมัจจุราชไร้เงาหลังถูกโยงคดี "เสี่ยต้น"

จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน กรณีเกิดข้อสงสัยในคดีการตายของ "เสี่ยต้น" ว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับสมุนไพรพื้นบ้านชนิดหนึ่งนั้น ล่าสุด "หมอหมู" รศ. นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ได้ออกมาเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ต้นหางไหล หรือ โล่ติ๊น พืชที่ปรากฏชื่อโยงในคดี

โดยหมอหมู ได้อธิบายถึง สรรพคุณของ ต้นหางไหล หรือ โล่ติ๊น และกลไกลความเป็นพิษ โดยระบุว่า

สารโรทีโนนจากหางไหล อันตรายถึงหัวใจล้มเหลว

หางไหลหรือโล่ติ๊น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Derris elliptica Bentham) เป็นพืชเถาเลื้อยที่พบได้ในป่าแถบชุ่มชื้นตามแม่น้ำ พืชชนิดนี้มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญคือ โรติโนน (Rotenone) ซึ่งพบมากใน "ราก"

โรติโนน มีฤทธิ์ฆ่าแมลงโดยการกินหรือการสัมผัสตัว และเป็นสารที่สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อนหรือแสงแดด สารสกัดจากรากหางไหลแห้งนี้ สามารถใช้กำจัดหนอนแมลงวัน แมลงวัน ลูกน้ำ ยุง และ เห็บโค ได้ดี

ประเทศไทยพบว่ามี 21 ชนิด แต่มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่พบว่ามีสารพิษช่วยกำจัดศัตรูพืชมาก และนิยมปลูกเป็นการค้าคือ หางไหลขาว มีสารโรติโนนประมาณ 7-8% และหางไหลแดง มีสารโรติโนนน้อยกว่า

กรณีศึกษาการเสียชีวิตจากการทานหางไหลหรือโล่ติ๊น ที่ตีพิมพ์ในวารสาร BioMed Central หัวข้อ "รายงานผู้ป่วย: การเสียชีวิตหลังจากการรับประทานยาโรทีโนนโดยเจตนา"

1. ผู้หญิง ชาวปาปัวนิวกินี อายุ 47 ปี รับประทานสารละลายโรทีโนน 0.8% ที่สกัดจากรากหางไหลหรือโล่ติ๊น ที่มีจำหน่ายทั่วไปถึง 200 มล.
2. เธอมีอาการหมดสติ ภาวะผิดปกติในดุลย์กรด-ด่างของสารน้ำในร่างกาย (metabolic acidosis) และการหายใจล้มเหลว
3. แม้ว่าจะได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างเต็มที่ด้วยการให้ยา N-acetylcysteine (NAC) และสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) แต่เธอก็ได้สียชีวิตลง

กลไกความเป็นพิษ

สารโรติโนน ยับยั้งห่วงโซ่การหายใจของไมโตคอนเดรีย ส่งผลให้การเผาผลาญแบบแอโรบิกลดลงและภาวะกรดแลคติค จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะผิดปกติในดุลย์กรด-ด่างของสารน้ำ และการหายใจล้มเหลว จนเสียชีวิต

ข้อควรระวัง

1. สารโรติโนนในหางไหลมีพิษร้ายแรงต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ไม่ควรสัมผัสโดยตรงหรือรับประทาน
2. ควรเก็บหางไหลให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
3. หากมีอาการผิดปกติหลังสัมผัสหรือรับประทานหางไหล ควรรีบไปพบแพทย์

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส