นี่ไม่ใช่ครั้งแรก! ย้อนรอยประวัติศาสตร์เลือด ประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกลอบสังหารจนถึงแก่อสัญกรรมมาแล้วถึง 4 ราย
จากกรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกยิงบนเวทีหาเสียง ในรัฐเพนซิลเวเนีย โดย "ทรัมป์" บาดเจ็บเล็กน้อยที่ศีรษะ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย รายแรกคือมือปืน อีกรายเป็นผู้ที่มาร่วมงาน โดยเอฟบีไอเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของมือปืนผู้ก่อเหตุคือ โทมัส แมทธิว ครูกส์ วัย 20 ปี เป็นชาวเมืองเบเธล พาร์ก ในรัฐเพนซิลเวเนีย และถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญ สำหรับแรงจูงใจในการก่อเหตุ ยังไม่เป็นที่แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐถูกลอบสังหาร ซึ่งจากการย้อนรอยประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ พบว่ามีประธานาธิบดีสหรัฐถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตถึง 4 ราย และทั้งหมดเป็นการถูกยิงทั้งสิ้น
ประธานาธิบดีสหรัฐที่ถูกลอบสังหารเสียชีวิต
• อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 16
อับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ถูกลอบสังหาร โดยมือปืนชื่อ "จอห์น วิลค์ส บูธ" เมื่อวันที่ 14 เมษายน 1865 ขณะที่เขาและภรรยา แมรี ท็อดด์ ลินคอล์น เข้าชมการแสดงละครเวทีเรื่อง Our American Cousin ที่โรงละครฟอร์ด ในกรุงวอชิงตัน
ลินคอล์น ถูกนำตัวไปที่บ้านฝั่งตรงข้ามโรงละครเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล หลังจากที่เขาถูกยิงที่ด้านหลังศีรษะ ก่อนจะเสียชีวิตในเช้าวันรุ่งขึ้น คาดว่าแรงจูงใจที่มือปืนก่อเหตุคือ การที่ลินคอล์นสนับสนุนสิทธิของคนผิวดำ ซึ่ง 2 ปีก่อนการถูกลอบสังหาร ในช่วงสงครามกลางเมือง ลินคอล์นได้ประกาศปลดปล่อยให้เสรีภาพแก่ทาสภายในสมาพันธรัฐ
ส่วน บูธ มือปืนถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 เมษายน 1865 หลังจากที่เขาถูกพบว่าซ่อนตัวอยู่ในโรงนาใกล้เมืองโบว์ลิงกรีน รัฐเวอร์จิเนีย
• เจมส์ การ์ฟิลด์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 20
เจมส์ การ์ฟิลด์ เป็นประธานาธิบดีคนที่สองที่ถูกลอบสังหาร หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือน การ์ฟิลด์ถูกมือปืน "ชาร์ลส์ กีโต" ลอบยิง ขณะกำลังเดินผ่านสถานีรถไฟในวอชิงตันเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1881 เพื่อขึ้นรถไฟไปนิวอิงแลนด์
อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ นักประดิษฐ์โทรศัพท์ พยายามค้นหากระสุนที่ฝังอยู่ในหน้าอกของการ์ฟิลด์โดยใช้อุปกรณ์ที่เขาออกแบบสำหรับประธานาธิบดีโดยเฉพาะแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
การ์ฟิลด์ได้รับบาดเจ็บสาหัส นอนรักษาตัวอยู่ที่ทำเนียบขาวเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แล้วเสียชีวิตในเดือนกันยายน ส่วนกีโตถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกประหารชีวิตในเดือนมิถุนายน 1882
• วิลเลียม แมคคินลีย์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 25
เมื่อวันที่ 6 กันยายน 1901 วิลเลียม แมคคินลีย์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกยิงหลังกล่าวสุนทรพจน์ในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก "ลีออน เอฟ. โชลกอซ" หนุ่มชาวเมืองดีทรอยต์ วัย 28 ปี ได้จ่อยิงที่หน้าอกของผู้นำสหรัฐในระยะเผาขน แพทย์ได้ทำการรักษาจนเขาฟื้นตัวดี แต่กลายเป็นว่าเกิดอาการเนื้อตายรอบบาดแผล จนทำให้เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 กันยายน 1901 หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้เพียงแค่ 6 เดือน
ส่วนมือปืนถูกตัดสินว่ามีความผิดในการพิจารณาคดี และถูกประหารชีวิตบนเก้าอี้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 1901
• จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 35
จอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกยิงโดยมือสังหารติดอาวุธปืนไรเฟิล ขณะไปเยือนดัลลัสพร้อมกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง แจ็กเกอลีน เคนเนดี ในเดือนพฤศจิกายน 1963 เสียงปืนดังขึ้นในขณะที่ขบวนคาราวานของประธานาธิบดีแล่นผ่าน Dealey Plaza ในตัวเมืองดัลลัส
เคนเนดี้ ซึ่งอาการสาหัสถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล Parkland Memorial Hospital อย่างเร่งด่วน ซึ่งเขาเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการลอบสังหาร ตำรวจได้จับกุมมือปืน "ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์" หลังจากพบตัวอยู่ในอาคาร Texas School Book Depository ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ
สองวันต่อมา ออสวอลด์ถูกนำตัวจากสำนักงานตำรวจไปยังเรือนจำของเคาน์ตี ก่อนถูก แจ็ค รูบี้ เจ้าของไนท์คลับปราดเข้ามายิงมือปืนรายนี้จนเสียชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์พยายามลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐ และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ อีกหลายครั้ง
• แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 32
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1933 แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ถูก นายกุยเซปเป แซงแกรา ลอบสังหารในเมืองไมอามี่ ขณะกล่าวสุนทรพจน์บนท้ายรถ แต่กระสุนพลาดไปโดย นายแอนตัน เซอร์แมค นายกเทศมนตรีนครชิคาโก เสียชีวิต
มือยิงถูกตัดสินว่ามีความผิดในเหตุกราดยิงและถูกตัดสินประหารชีวิต
• แฮร์รี เอส. ทรูแมน ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 33
เดือนพฤศจิกายน ปี 1950 มือปืน 2 คนบุกเข้ามาก่อเหตุยิง นายแฮร์รี เอส. ทรูแมน ซึ่งพำนักอยู่ที่ แบลร์ เฮาส์ ฝั่งตรงข้ามกับทำเนียบขาว แต่เคราะห์ดีนายทรูแมนรอดมาได้ โดยไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจประจำทำเนียบขาว 1 นายและมือปืน 1 คนเสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กัน และเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวอีก 2 นายได้รับบาดเจ็บ
มือปืนอีกคนที่ถูกจับ คือ ออสการ์ คัลลาโซ ถูกจับกุมและถูกตัดสินประหารชีวิต แต่นายทรูแมนประกาศลดโทษให้ในปี 1952 เหลือเป็นจำคุกตลอดชีวิต ก่อนที่อีก 24 ปีต่อมา จะได้รับการปล่อยตัวจากคุกในปี 1976 โดยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์
• เจอรัลด์ ฟอร์ด ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 38
เจอรัลด์ ฟอร์ด ต้องเผชิญกับความพยายามลอบสังหารถึงสองครั้งภายในไม่กี่สัปดาห์ในปี 1975 แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ โดยครั้งแรก ฟอร์ดกำลังเดินทางไปประชุมกับผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียที่เมืองซาคราเมนโต แล้วถูก ลีเนตต์ “สควีกกี้” ฟรอมม์ สาวกของเจ้าลัทธิ ชาร์ล แมนสัน บุกฝ่าฝูงชนบนถนน ชักปืนพกกึ่งอัตโนมัติเล็งไปที่ฟอร์ด แต่ยังไม่ทันได้ยิงก็ถูกหน่วยอารักขารวบตัวไว้ได้ก่อน ฟรอมม์ถูกตัดสินให้จำคุกและได้รับการปล่อยตัวในปี 2009
จากนั้น 17 วันต่อมา ซารา เจน มัวร์ ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง เผชิญหน้ากับฟอร์ดที่ด้านนอกโรงแรมในนครซานฟรานซิสโก มัวร์ยิงหนึ่งนัดแล้วพลาด ก่อนจะถูกผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์กระชากแขนไว้ได้ทันขณะพยายามยิงนัดที่สอง มัวร์ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำและได้รับการปล่อยตัวในปี 2007
• โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 40
โรนัลด์ เรแกน ถูก "จอห์น ฮิงค์ลีย์ จูเนียร์" ที่ยืนอยู่ในฝูงชนยิงเข้าใส่ ขณะที่เขากำลังเดินกลับมาที่รถ หลังเสร็จสิ้นการกล่าวปราศรัยที่กรุงวอชิงตัน ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1981
เรแกนฟื้นตัวจากเหตุกราดยิงเมื่อเดือนมีนาคม 1981 แต่เหตุการณ์นี้มี 3 คนถูกยิง โดยหนึ่งในนั้นคือ เจมส์ เบรดี โฆษกประธานาธิบดี ที่เจ็บหนักจนร่างกายเป็นอัมพาตบางส่วน
ฮิงคลีย์ ถูกจับและกักขังอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช หลังจากคณะลูกขุนตัดสินว่าเขาไม่มีความผิดเพราะเหตุวิกลจริตในการยิงเรแกน ในปี 2022 ฮิงค์ลีย์เป็นอิสระจากการกำกับดูแลของศาล หลังจากผู้พิพากษาตัดสินว่าเขาไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นอีกต่อไป
• จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 43
เมื่อปี 2005 นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช เข้าร่วมการชุมนุมที่เมืองทบิลิซี กับประธานาธิบดีมิคาอิล ซาคัชวิลี ประธานาธิบดีจอร์เจีย ก่อนตกเป็นเป้าสังหารด้วยการขว้างระเบิดมือใส่เขา เคราะห์ดีที่ผู้นำทั้งสองคน ยืนอยู่ด้านหลังกระจกกันกระสุน ระเบิดมือที่ห่อด้วยผ้าตกลงไปห่างออกไปประมาณ 100 ฟุต แต่ ระเบิดไม่ทำงาน และไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
ส่วนผู้ก่อเหตุซึ่งก็คือ วลาดิเมียร์ อรุตยูเนียน ถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
• บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 44
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถูกชายคนหนึ่งยิงปืนใส่ทำเนียบขาวหลายนัดในปี 2011 กระสุนถูกอาคารใกล้จุดที่เขาและครอบครัวพักอาศัย
ต่อมามีรายงานว่า ชายที่ยิงปืนใส่ทำเนียบขาว มาจากรัฐไอดาโฮ เขาถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่า
• ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
อดีตประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ ถูกยิงขณะเดินทางหาเสียงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐสมัยที่ 3 ที่เมืองมิลวอกี ในปี 1912 จนท.เผยว่า กระดาษที่พับไว้และกล่องใส่แว่นตาที่เป็นโลหะที่อยู่ในกระเป๋าเสื้อของเขาช่วยลดแรงกระแทกจากกระสุนไว้ทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
ส่วนผู้ก่อเหตุ จอห์น แชรงก์ ถูกจับกุมและใช้ชีวิตที่เหลือในโรงพยาบาลจิตเวช
• โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ จากนิวยอร์ก และเป็นน้องชายของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ซึ่งถูกลอบสังหาร ได้ถูกมือปืนประกบยิงที่โรงแรมแห่งหนึ่งในนครลอสแอนเจลิส หลังจากกล่าวสุนทรพจน์ประกาศชัยชนะในการชนะการเลือกตั้งขั้นต้นในแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 1968 นอกจากตัวเขาที่เสียชีวิต ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 5 คน
ส่วน "ซีร์ฮาน ซีร์ฮาน" มือสังหาร ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมโดยเจตนาและถูกตัดสินประหารชีวิต ต่อมาถูกลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเขาพยายามส่งคำร้องให้ปล่อยตัว แต่คำร้องขอครั้งล่าสุดของเขาเมื่อปีที่แล้วถูกปฏิเสธ
• จอร์จ ซี. วอลเลซ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
จอร์จ ซี. วอลเลซ ถูกยิงระหว่างการหาเสียงลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ในรัฐแมริแลนด์เมื่อปี 1972 เหตุการณ์นี้ทำให้เขากลายเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงไป
ส่วน อาร์เธอร์ เบรเมอร์ ผู้ก่อเหตุถูกตัดสินว่ามีความผิดในเหตุกราดยิงและถูกตัดสินให้จำคุก ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2007