ธรรมนัส ชี้ ปลาหมอคางดำ เป็นวาระแห่งชาติ ต้องปฏิบัติการล่าฆ่าให้หมด เหตุเป็นสายพันธุ์อันตราย กำชับศึกษาวิจัย ทำให้ปลาเป็นหมัน
วันที่ 16 ก.ค. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการพบการแพร่ขยายพันธุ์ ปลาหมอคางดำว่า ได้รับทราบเรื่องนี้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์แล้ว รับทราบปัญหามาโดยตลอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงปี 65-66 ซึ่งตนได้สั่งการให้มีการจัดการ ปลาหมอคางดำ ซึ่งจากเดิมคือ ปลาหมอสีข้างดำ แต่ขณะนี้ไม่มีสีแล้ว
เป็นสายพันธุ์ที่เป็นอันตราย ถือเป็นเรื่องที่กระทรวงฯ ต้องนำมาเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ใหม่ที่จะทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน ซึ่งต้องมีการคิดหลายขั้นตอน แต่ประเด็นสำคัญสำคัญต้องปฏิบัติการล่าฆ่าให้หมด พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ การยางแห่งประเทศไทยนำเงินกองทุนไปรับซื้อ ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปทำอาหารสัตว์ หรือปุ๋ย อีกทั้งยังสามารถนำมาทำเป็นปลาป่น และปลาร้า เพื่อรับประทานได้
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวต่อว่า ส่วนการค้นหาว่าใครเป็นต้นเหตุ หรือที่มาของ ปลาหมอคางดำ ได้สั่งการให้ กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีความชัดเจน การโทษบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ต้องหาข้อมูลให้ละเอียด ขณะเดียวกันก็จะรับฟังข้อมูลจากสภาฯ ว่าใครเป็นผู้นำเข้ามา คาดว่าจะทราบข้อเท็จจริงในเร็วๆ นี้
ขณะที่ในส่วนของข้อกฎหมายการนำเข้า ปลาหมอคางดำ รวมถึงพืชและสัตว์ทุกประเภท ต้องได้รับการอนุญาตให้นำเข้าราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังเปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำมีการระบาดมาหลายปีแล้ว ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ และขณะนี้ขยายไปยังเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ลำน้ำสาขา ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง หากมีการระบาดเข้ามาในพื้นที่คลองชั้นในในพื้นที่ กทม. ต้องมีการป้องกันอย่างจริงจัง ส่วนที่มีการเผยแพร่ข้อมูลว่า ผู้ที่นำ ปลาหมอคางดำเข้ามาเป็นบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่มีการเชื่อมใน 3 คลองนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป จะนำไปพูดไม่ได้ ต้องรอความชัดเจนก่อน