กรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุนเกษตรกรลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ฟื้นฟูนาร้างปลูกปาล์มน้ำมัน
โครงการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่นาร้างเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน นับเป็นอีกหนึ่งโครงการของกรมพัฒนาที่ดินที่ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม พื้นที่นาร้างได้รับการปรับปรุงทำให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นซึ่งมีเกษตรกรหลายรายในพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จ
นายอนุชิต ทองแก้ว หนึ่งในเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จจากการปรับปรุงพื้นที่นาร้างมาปลูกปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มที่เป็นดินเปรี้ยวจัด แปลงนายอนุชิตมีเนื้อที่ทั้งหมด 10 ไร่ เดิมทำนาประสบปัญหาข้าวได้ผลผลิตน้อย บางช่วงก็โดนน้ำท่วมตอนข้าวตั้งท้อง ทำให้ได้ผลผลิตน้อย พบข้าวเมล็ดลีบเยอะ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงทิ้งร้างเอาไว้ หลังจากที่ได้เข้าอบรมกับสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา มีการชี้แจงเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่นาร้างเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน จึงเกิดความสนใจที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ ซึ่งปาล์มน้ำมันที่ปลูกในแปลงอายุ 5 ปี ตอนนี้ก็ให้ผลผลิตดีมาก จากพื้นที่นาร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ปลูกอะไร ก็เกิดรายได้ขึ้นมา แต่ก่อนทำนาปีหนึ่งจะมีรายได้ประมาณ 19,000-20,000 บาท แต่ตอนนี้ปีหนึ่งมีรายได้ประมาณ 236,500 บาท เนื่องจากทำนาสามารถทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง แต่การปลูกปาล์มน้ำมันหลังจากอายุ 3 ปี เราสามารถเก็บผลผลิตได้ทุกเดือน คิดว่าโครงการนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้สนับสนุนให้กับเกษตรกรได้กลับมาใช้ประโยชน์พื้นที่อีกครั้ง
นายสุชล แก้วเกาะสะบ้า ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ได้กล่าวว่า ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัด ยังมีพื้นที่ที่มีการทิ้งร้าง หรือพื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวเราจะพัฒนาพื้นที่ให้มีศักยภาพในการปลูกพืช ตามวิสัยทัศน์กรมพัฒนาที่ดิน เป็นองค์การอัจฉริยะทางดิน เพื่อขับเคลื่อนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม 15 ล้านไร่ ภายในปี 2570 ประกอบด้วย 4 ประเด็นการพัฒนา ซึ่ง 1 ในประเด็นการพัฒนาคือ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินให้เหมาะสมด้วยระบบบริหารจัดการเชิงรุก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมด้านการวางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยี อนุรักษ์ดินและน้ำ และปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อรักษาสมดุลความเสื่อมโทรมของที่ดิน และนิเวศเกษตร ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2569 เราได้เสนอแผนในการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากพื้นที่นาร้าง พื้นที่ทิ้งร้างมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าวน้ำหอม มากกว่า 10,000 ไร่ โดยเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับโครงสร้างพื้นที่ให้เหมาะสมและมีศักยภาพในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จำนวน 3,000 ไร่