กรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "KinnaphatPrompakdee" โพสต์ข้อความตัดพ้อร้องขอความเป็นธรรม โดยระบุอ้างว่า เด็กวัยเพียง 6 เดือนเสียชีวิตจากรอยเข็มพรุน หลังเข้ารักษาอาการท้องเสียในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทั้งนี้มีข้อความว่า "RIP นะไอ้ตัวเล็ก ไปสู่สุขคตินะ 6 เดือน อีก 5 วัน ครบ 7 เดือน เห้อ...ทำไมมีแต่เรื่องเศร้า ๆ คนไม่ได้เป็นไข้ฉีดยาซะตัวพรุน เด็ก 6 เดือน ท้องเสียนะเว้ย ไม่ได้เป็นไข้โควิท-19 จับมัดขาสองข้างพร้อมกันเพื่อหาเส้นฉีดยาให้ไม่รู้กี่อย่าง RIP โรงพยาบาล... #เสียใจทำอะไรไม่ได้ #เด็กตายตายังไม่หลับเลย"
ล่าสุดวันที่ 10 มี.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังบ้านเลขที่ 66 หมู่ 14 ซอยร่วมสัมพันธ์บ้านหนองจันทร์ ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม สถานที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพของ "น้องออโต้" อายุ 6 เดือนเศษ พบกับนายนพพล ทุ่มอุทัย อายุ 38 ปี และนางสุนิน เดชพระไชย อายุ 49 ปี พ่อแม่ของเด็ก พร้อมกับเปิดเผยด้วยน้ำตาว่าน้องออโต้เป็นลูกชายคนเล็กจากพี่น้อง 3 คน มีร่างกายจ้ำม้ำหนักถึง 7 กิโลกรัม 4 ขีด ซึ่งกำลังน่ารักน่าชัง
นางสุนิน กล่าวว่า ในเย็นของวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา สามีได้นำลูกสาลี่มาปอกให้ลูกชายทาน กระทั่งช่วงกลางดึกลูกชายมีอาการท้องเสียและร้องไห้ตลอดเวลาจนถึงรุ่งเช้า ประมาณ 09.00 น. จึงตัดสินใจพามาพบแพทย์ที่คลินิกรักษาเด็กแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองนครพนม แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการท้องเสีย จึงจัดยาและนมมาให้ทานแต่อาการกลับไม่ดีขึ้น หลังจากนั้นตกลงกับสามีว่าจะพาลูกไปรักษาใน รพ.นครพนม โดยในระหว่างเจ้าหน้าที่แจ้งให้ไปทำบัตรผู้ป่วย ลูกชายมีอาการไม่สู้ดีแล้ว ตึงร้องขอตรวจก่อนได้หรือไม่ แต่เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าต้องตามคิว จังหวะนั้นประตูห้องฉุกเฉินเปิดออก ตนจึงรีบพาลูกชายเข้าไปพบแพทย์ พยาบาลจึงรีบเข้ามารุมล้อมช่วยกันจับขาของเด็ก โดยอ้างว่าจะให้น้ำเกลือก่อนจะปิดม่านไม่ให้ตนและสามีเข้าไป ทั้งนี้ผ่านไปครูหนึ่ง แพทย์เปิดม่านบังออก พร้อมกับแจ้งว่า ขอแสดงความเสียใจด้วยลูกคุณเสียชีวิตแล้ว ตนไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง จึงต้องการทราบสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากสาเหตุใด
อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊ก "เรื่องเล่าจากโรงหมอ" ได้ออกมาระบุว่า "อ่านผ่าน ๆ ไปเห็นโพสต์ของครอบครัวคนไข้ผู้สูญเสีย เป็นเด็กชายท้องเสียไข้สูงหลายวันชักช็อกระบบไหลเวียนและการหายใจล้มเหลว ถูกนำส่งโรงพยาบาลช่วยเหลือฟื้นคืนชีพแล้วไม่สำเร็จ โรงพยาบาลถูกโยนให้เป็นผู้ร้าย สิ่งที่หมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่ช่วยกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าใด ๆ"
นอกจากนี้ เพจเฟซบุ๊ก "เรื่องเล่าจากโรงหมอ" ยังอ้างว่ามีคำชี้แจงจากทีมโรงพยาบาลที่ดูแลดังนี้ โดยอันดับแรกผู้ป่วยเด็กคนดังกล่าวมาด้วยไข้สูง 4 วัน ถ่ายเหลววันละ 5-6 ครั้ง อาเจียนวันละมากกว่า 10 ครั้ง วันที่ 2 ญาติพาไปรักษาที่คลินิกเด็กมีอาการซึมลง 1 วันก่อนมาโรงพยาบาล ช่วงบ่ายเด็กมีเกร็งตาค้างมา ถึง ER เวลา 16.45 น. มีอาการไข้สูง 40 องศาฯ เกร็งตาค้างเขียว ทีมแพทย์และพยาบาลได้พยายามดูแลรักษานำผู้ป่วยไปดูแล resuscitation ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ ระหว่างนั้นเจาะน้ำตาลพบว่าน้ำตาลในเลือดต่ำมาก พยายามเปิดเส้นเลือดเพื่อให้น้ำเกลือแต่เปิดไม่ได้ เนื่องจากเส้นเลือดหดตัวไปหมด (shock) ในเวลาเดียวกันผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นได้เริ่ม CPR พร้อม ๆ กับการให้สารน้ำทางกระดูก (intraosseousinfusion) ต้องเปิดทั้ง 2 ขา เนื่องจากด้านหนึ่งไม่สามารถให้ต่อเนื่องได้ ทีมของเราพยายามดูแลผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถใช้เวลา CPR รวม 45 นาที
ทั้งนีี้ทางทีมรู้สึกเสียใจในความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และขอใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไปว่า หากผู้ป่วยมีอาการไข้สูงเกิน 2-3 วัน มีอาการเปลี่ยนแปลงแย่ลง เช่น ซึมลง กระสับกระส่าย กินไม่ได้ ชักเกร็ง ปัสสาวะออกน้อยลง ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อประเมินและรักษาและหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ซึม ชัก สามารถแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา