เส้นทางการเป็น "คนไทย" ของ "โค้ชเช" ที่สุดของความภาคภูมิใจไปโอลิมปิกในฐานะคนไทยครั้งแรก

8 ส.ค. 67

ที่สุดของความภาคภูมิใจ "โค้ชเช" ไปโอลิมปิกในฐานะคนไทยเป็นครั้งแรก พานักกีฬาเทควันโดคว้าเหรียญทองอีกครั้ง

กลายเป็นโมเมนต์ที่สร้างความประทับใจ รอยยิ้ม และน้ำตาให้กับคนไทย หลังจาก "เทนนิส" พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เอาชนะคู่แข่งจากจีน สามารถคว้าเหรียญทอง เทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง ในการแข่งขัน โอลิมปิก 2024 นับเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัยซ้อน ซึ่งหลังได้รับชัยชนะ เทนนิสได้ก้มลงกราบ โค้ชเช เพื่อแสดงความขอบคุณและสำนึกในวิชาความรู้ที่โค้ชเชทุ่มเทถ่ายทอดให้ จนวันนี้กลายเป็นตำนานของวงการเทควันโดในระดับโลกไปแล้ว

afp__20240807__36ca8m3__v1__h

• โชคชะตาพัดพา โค้ชเช ให้มาเมืองไทยเพราะความร้อน

สำหรับโค้ชเช เริ่มเป็นโค้ชให้กับเทควันโดทีมชาติบาห์เรน ช่วงปี 2000 แต่ประสบปัญหาการฝึกซ้อมเพราะภูมิอากาศที่ร้อนทำให้ต้องขอตัวกลับบ้านเกิด ก่อนที่โชคชะตาจะนำพาโค้ชเชให้ได้มาร่วมปลุกปั้นทีมชาติไทย หลังได้รับการติดต่อจากสหพันธ์เทควันโดสากลให้มารับหน้าที่โค้ชให้กับทีมไทย ทดแทนโค้ชเดิมที่ลาออกไป

โค้ชเช เริ่มบทบาทในฐานะโค้ชของนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2002 โดยเซ็นสัญญาระยะสั้น ว่าจะอยู่ทำทีมจนกว่าจะจบการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ซึ่งจัดขึ้นที่ ปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2002 แม้จะมีเวลาไม่นานแต่ด้วยควมมุ่งมั่น ตั้งใจ และเข้มงวดกับนักกีฬา จนได้ฉายาว่า "โค้ชจอมเฮี้ยบ" ทำให้ทีมชาติไทยที่ ณ วันนั้นยังเป็นทีมที่ไม่ได้โดดเด่นมากนัก กลับฉายแสงได้เข้าชิงถึง 2 รุ่น แต่ก็ต้องพ่ายแพ้เรื่องประสบการณ์ให้กับเจ้าภาพได้เพียงแค่เหรียญเงิน ซึ่งหลังจบการแข่งขันบรรดานักกีฬาเดินเข้าไปหาโค้ชเชที่ห้องพักแล้วบอกว่า อีกสองปีข้างหน้าจะมีโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงเอเธนส์ และพวกเขาอยากไปให้ถึง

เมื่อโค้ชเชมองเข้าไปในดวงตาของนักกีฬาก็เห็นถึงความกระตือรือร้น จึงอยากช่วยเติมเต็มความฝันของพวกเขาและของตัวเองที่จะก้าวไปให้ถึงการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่อย่างโอลิมปิก ถ้าหากทำสำเร็จก็คงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ถ้าไม่สำเร็จก็ถือว่าทุกคนได้ทำตามความฝันจนในที่สุดโค้ชเชก็ตกปากรับคำเป็นโค้ชต่อไป แล้วเริ่มจริงจังกับการนำพาทีมชาติไทยให้ก้าวขึ้นสู่แนวหน้าของโลก ซึ่งนี่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของวงการเทควันโดไทย และจุดเปลี่ยนของชีวิตโค้ชเชในเวลาต่อมา

273215933_2962368487407018_30

• โค้ชจอมเฮี้ยบ ผู้ปลดล็อกร่างทองให้กับนักกีฬาเทควันโดไทย

หลังจากตัดสินใจจะทำงานที่ประเทศไทย โค้ชเชเริ่มปั้นนักกีฬาเทควันโดให้ก้าวสู่ระดับโลก เริ่มต้นอย่างสวยงามกับ "วิว" เยาวภา บุรพลชัย ที่คว้าเหรียญทองแดง โอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ นับเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของวงการเทควันโดไทย เป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬารุ่นน้องเจริญรอยตาม เพราะนับตั้งแต่นั้นมากีฬาเทควันโดภายใต้การคุมทีมของโค้ชเช ถือเป็นกีฬาความหวังของคนไทยในการแข่งขันโอลิมปิก และทุกครั้งทีมเทควันโดก็ไม่เคยพลาดที่จะนำเหรียญมาฝากคนไทย ไล่มาตั้งแต่ "บุตรี เผือดผ่อง" เหรียญเงินโอลิมปิก 2008 ที่จีน "ชนาธิป ซ้อนขำ" เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2012 ที่สหราชอาณาจักร "เทวินทร์ หาญปราบ" เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงจาก "พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ" โอลิมปิก 2016 ที่บราซิล

ก่อนที่จะประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในโอลิมปิก 2020 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการพา เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้กับทีมเทควันโดไทย

223190053_2818853935091808_75_1

นอกจากนี้ โค้ชเชยังทำผลงานยอดเยี่ยมด้วยการทำให้นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทยประสบความสำเร็จและเป็นแชมป์โลกได้ถึง 5 คน ได้แก่ "รังสิญา นิสัยสม" แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 62 กก.หญิง ในปี 2011 ที่ประเทศเกาหลีใต้ "ชัชวาล ขาวละออ" แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 54 กก.ชาย ในปี 2011 ที่ประเทศเกาหลีใต้ "ชนาธิป ซ้อนขำ" แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 49 กก.หญิง ในปี 2013 ที่ประเทศเม็กซิโก "พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ" แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 46 กก.หญิง ในปี 2015 ที่ประเทศรัสเซีย "พรรณนภา หาญสุจินต์" แชมป์เทควันโดโลก รุ่นไม่เกิน 53 กก.หญิง ในปี 2019 ที่ประเทศอังกฤษ

329211080_725601812537946_428

• ทิ้งเงินทอง ทุ่มเทชีวิตให้ประเทศไทย เพราะต้องการเป็น "คนไทย"

หลังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในเวทีระดับโลก โค้ชเชก็เนื้อหอมถูกสมาคมกีฬาเทควันโดประเทศต่างๆ ยื่นข้อเสนอให้ไปเป็นโค้ชด้วยการทุ่มเม็ดเงินมหาศาล แต่ด้วยความรักความผูกพันกับนักกีฬาและประเทศไทย ทำให้โค้ชเชปฏิเสธข้อเสนอของทุกคนด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ต้องการสร้างนักกีฬาขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับลูกศิษย์ตัวเองอย่างนักกีฬาไทย และต้องการลงหลักปักฐานครอบครัวอยู่ที่ประเทศไทย ทำให้เริ่มมีการพูดคุยถึงเรื่องการเปลี่ยนสัญชาติตั้งแต่ปี 2012 แต่โค้ชเชขอชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน เนื่องจากไม่ต้องการให้คุณย่าที่ตนเคารพรักมาก เสียใจว่าโค้ชเชทิ้งสัญชาติบ้านเกิด ประกอบกับกฎหมายของเกาหลีใต้นั้นระบุว่าไม่สามารถถือสองสัญชาติได้ จนกระทั่งคุณย่าเสียชีวิตลง โค้ชเชจึงตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะสละสัญชาติเกาหลีใต้ และหันมาเป็นคนไทยอย่างเต็มตัว

234663653_2834144936896041_85_1

"ประเทศไทยคือประเทศที่สร้างชีวิตให้กับผม ผมได้รับความรักมากมายจากที่แห่งนี้ แบบที่ไม่เคยได้รับจากที่ไหน ส่วนลึกในใจผมรู้สึกเศร้าที่แม่ของผมไม่ทันได้เห็นผมประสบความสำเร็จ ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ คุณย่า ไม่มีใครอยู่ให้ผมได้เล่าเรื่องนี้เลย ถ้าคุณถามว่าทำไมโค้ชเชถึงอยู่ประเทศไทยได้นาน 20 กว่าปี แน่นอนเลยเพราะว่าลูกศิษย์ ผมอยู่กับนักกีฬาเสมอไม่ว่าเขาจะแพ้หรือว่าชนะ ผมรู้สึกว่าเราเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นความสัมพันธ์ที่มากกว่าโค้ชและนักกีฬา พวกเขาเหมือนลูกสาวและลูกชายของผม และเป้าหมายของเราคือคว้าเหรียญทองให้กับประเทศไทย" โค้ชเชให้สัมภาษณ์ผ่าน Kori Network

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี ในที่สุด โค้ชเช ก็ได้สัญชาติไทย โดยช่วงแรกโค้ชเชมีชื่อไทยว่า ชัยศักดิ์ มีความหมายว่า ผู้มีชัยชนะและศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งชื่อนี้ออกเสียงคล้ายกับชื่อเกาหลีใต้อย่าง เช ยอง ซ็อก แต่เมื่อจะเปลี่ยนมาถือสัญชาติไทย เป็นคนไทยอย่างเต็มตัว โค้ชเชจึงกราบขอพระเดชพระคุณจาก สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือเจ้าคุณธงชัย ตั้งชื่อให้ใหม่ ก่อนที่จะเลือกใช้ชื่อ "ชัชชัย" มีความหมายว่า ชัยชนะที่มั่นคง เป็นชื่อที่อยู่ในบัตรประชาชนและพาสปอร์ตไทย ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า ภูมิใจและดีใจมาก เป็นเรื่องที่รอมานาน ไม่เสียใจที่ทิ้งสัญชาติเกาหลีใต้ เพราะคิดมานานแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ คุณย่าที่เลี้ยงมาก็เสียหมดแล้ว พี่สาวก็ให้อิสระในการตัดสินใจ เมื่อตนได้สัญชาติไทยมาแล้วก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ ทำงานทุ่มเทให้มากกว่าเดิม

233536572_2833236120320256_59

• ไปโอลิมปิกครั้งแรกในฐานะ "คนไทย"

หลังได้รับสัญชาติไทยในปี 2022 โค้ชเชทำงานหนักอย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ โดยโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โค้ชเชสามารถพานักกีฬาไทยไปลุยชิงเหรียญ 3 คนด้วยกันคือ "พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ" รุ่นน้ำหนัก ไม่เกิน 49 กิโลกรัมหญิง "บัลลังก์ ทับทิมแดง" รุ่นน้ำหนัก ไม่เกิน 68 กิโลกรัมชาย และ "ศศิกานต์ ทองจันทร์" รุ่นน้ำหนัก ไม่เกิน 67 กิโลกรัมหญิง

โค้ชเชก็ไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง ช่วยพา เทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองโอลิมปิก ป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ นับเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก 2 ครั้งซ้อน ซึ่งโค้ชเชได้ให้สัมภาษณ์พร้อมกับชูป้ายห้อยคอที่ระบุว่าเป็นคนไทยโดยบอกว่า "ดีใจมากๆ ครับ คนไทยทำได้แล้วครับ ขอบคุณชาวไทยที่เชียร์พวกเรา คนไทยทำได้แล้วครับ" ก่อนที่จะเกิดภาพความประทับใจ โค้ชเชกับเทนนิสกอดกันร้องไห้ด้วยความดีใจในฐานะคนไทย 2 คน ที่ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์โอลิมปิก และถือเป็นการอำลาวงการเทควันโดของเทนนิส พาณิภัค อย่างสวยงาม

454555857_1045741697554364_30_1

• ประวัติ โค้ชเช ชัชชัย เช

โค้ชเช มีชื่อเกาหลีว่า ชเว ย็อง-ซ็อก เกิดที่เมืองซ็องนัม ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 1974 ปัจจุบันอายุ 50 ปี เริ่มสนใจกีฬาเทควันโดจากเพื่อน หลังจากนั้นจึงลงแข่งขันชิงแชมป์ในประเทศเกาหลีใต้หลังเรียนได้ 3–4 เดือน และได้เหรียญทองแดง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเล่นเทควันโดต่อไป โค้ชเชสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคย็องว็อน ปริญญาโทด้านพลศึกษา มหาวิทยาลัยคังว็อน เคยเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติเกาหลีใต้ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาเทควันโด มหาวิทยาลัยทงอา และกำลังศึกษาปริญญาเอก สาขาการจัดการกีฬา คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โค้ชเช เป็นที่รู้จักจากการรับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย ช่วยพัฒนาเทควันโดไทยให้ก้าวสู่แถวหน้าของโลก จากผลงานที่โดดเด่น ทำให้โค้ชเชได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ณ กระทรวงการต่างประเทศ และได้รับสัญชาติไทยในปี 2565 ใช้ชื่อตามบัตรประชาชนไทยว่า "ชัชชัย เช" โดยโค้ชเชยังคงมุ่งมั่นที่จะปั้นนักกีฬาเทควันโดรุ่นต่อไป สานภารกิจคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันในรายการต่างๆ ด้วยความภาคภูมิใจในฐานะคนไทยคนหนึ่ง

454632231_939781238192731_411

aa_0

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม