ตระกูลผู้สืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น หรือนี่คือวัฒนธรรมการเมืองของประเทศในแถบอาเซียน

19 ส.ค. 67

การสืบทอดอำนาจทางการเมืองผ่านสายเลือดของตระกูล หรือนี่คือวัฒนธรรมการเมืองที่ส่งต่อกันของประเทศในแถบอาเซียน

หลังจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศ ทำให้หลายฝ่ายมองว่านี่อาจเป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองจาก นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการเมืองในลักษณะนี้ เพราะเมื่อมองไปยังประเทศต่างๆ ในย่านอาเซียน พบว่ามีจุดร่วมกันในเรื่องของการสืบทอดอำนาจผ่านคนในตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น จนดูเหมือนว่าเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศในแถบนี้

กัมพูชา

เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จฮุน เซน ปกครองประเทศกัมพูชา มายาวนานเกือบ 4 ทศวรรษ จนเหมือนเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของประเทศนี้ไปแล้ว กระทั่งปี 2023 เกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการถ่ายโอนอำนาจไปยัง ฮุน มาเนต บุตรชายคนโต ด้วยการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากตน

ทั้งนี้ ฮุน เซน หมายมั่นปั้นมือกับลูกชายคนนี้มาตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยการเตรียมความพร้อมทั้งด้านการศึกษาและหน้าที่ทางทหาร เริ่มตั้งแต่ส่งเสริมให้ลูกเรียนจบการศึกษาจากวิทยาลัยกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ที่เมืองเวสต์พอยต์ รัฐนิวยอร์ก เมื่อปี 1999 ก่อนจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ปี 2002 และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ประเทศอังกฤษ ในปี 2008

เมื่อสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับจากต่างประเทศ ก็เข้ารับราชการทหารกองทัพกัมพูชา ครองตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่ง เช่น รองผู้บัญชาการกองกำลังอารักขานายกรัฐมนตรีฮุน เซน, ผู้บัญชาการหน่วยต่อต้านก่อการร้าย, ผู้บัญชาการกองทัพ และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดกัมพูชา และยังควบตำแหน่ง ผู้นำปีกคนรุ่นใหม่ภายในพรรคประชาชนกัมพูชาอีกด้วย

afp__20130724__hkg8819408__v2
ฮุน เซน และลูกชาย ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม สมเด็จฮุน เซน ปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่การสร้างตระกูลการเมืองขึ้นมาสืบทอดอำนาจ เพราะหากลูกชายจะขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา พรรคประชาชน (CPP) ของฮุน เซน ชนะการเลือกตั้งทั่วไปแบบแลนด์สไลด์ ครอบครองเสียงข้างมาก 120 จาก 125 ที่นั่งในสภา ทำให้บุตรชายของเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมความตั้งใจ ส่วนตัวเขาเอง ขอถอยไปควบตำแหน่งประธานวุฒิสภาและประธานองคมนตรี ในวัย 72 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จะส่งบุตรชายให้เดินตามรอยเท้าสำเร็จ แต่เขาก็ยังไม่มีทีท่าจะวางมือจากงานบริหารบ้านเมือง เพราะเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อยักษ์ใหญ่ของกัมพูชาอย่างหนังสือพิมพ์ Phnom Penh Post ว่า "หากลูกชายทำงานได้ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ตนจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง"

ทั้งนี้ ตระกูลของฮุน เซน และทักษิณ ชินวัตร ต่างมีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น ตั้งแต่สมัยนายทักษิณทำธุรกิจที่กัมพูชาเมื่อปี 2535 ไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันตั้งแต่ในวันที่ทักษิณขึ้นสู่จุดสูงสุดคือการเป็นผู้นำประเทศ ไปจนถึงยุคมืดที่ถูกรัฐประหารจนต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน เรียกว่าความสัมพันธ์นี้เป็นมากกว่าการเมืองแต่กลายเป็นเหมือนคนในครอบครัว โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 หลังจากรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ คนใหม่ สมเด็จฮุน เซน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ส่งสารแสดงความยินดี ส่วน ฮุน มาเนต ก็ส่งสารแสดงความยินดีเช่นกันพร้อมระบุว่า กัมพูชาพร้อมขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประเทศและประชาชน

ฟิลิปปินส์

เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ หรือ "บองบอง" ประธานาธิบดีคนล่าสุดของฟิลิปปินส์ เป็นบุตรชายของอดีตผู้นำฟิลิปปินส์ผู้อื้อฉาวจากการคอร์รัปชัน "เฟอร์ดินาน มาร์กอส" ที่ปกครองประเทศมากว่า 2 ทศวรรษ และ "อิเมลดา มาร์กอส" อดีตสตรีหมายเลข 1 ผู้ซื้อรองเท้า 3,000 คู่จากภาษีประชาชน!

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้พ่อ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์คนที่ 10 ในปี 1965 ซึ่งการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศสมัยแรกประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เนื่องจากมุ่งเน้นการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้ อยู่ดีกินดีมากขึ้น แต่ประเทศก็พ่วงมาด้วยหนี้สิน เพราะต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศมาลงทุน ทำให้การเลือกตั้งสมัยต่อมาเขาจึงได้รับการไว้วางใจจากประชาชนอีกครั้ง

afp__20090415__arp1551818__v6
เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และ อิเมลดา มาร์กอส

แต่ครั้งนี้ เฟอร์ดินานด์กลับกระหายในอำนาจ เริ่มปกครองประเทศแบบเผด็จการ สั่งแก้ไขกฎหมายต่าง ทำให้เขามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปได้โดยไม่มีกำหนด จำคุกนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่าง จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในระยะเวลา 20 ปี หลังกู้เอามาใช้ลงทุนและทำนโยบายประชานิยม ทำให้ฟิลลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในเอเชีย

ประกอบกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของผู้นำ และภรรยา "อิเมลดา" ที่มีหลักฐานว่ายักยอกภาษีของประชาชนไปจับจ่ายใช้สอยในต่างประเทศแบบไม่ยั้ง ทั้งซื้อของแบรนด์เนม เครื่องเพชร อสังหาริมทรัพย์ ผลงานศิลปะที่หายาก พร้อมข่าวที่ว่าเธอมีรองเท้าแบรนด์เนมอยู่ในความครอบครองถึง 3,000 คู่ ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่สะสมมานานทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน ในปี 1986 จนเกิดเหตุการณ์ "ปฏิวัติสีเหลือง" จนในที่สุดครอบครัวมาร์กอสต้องอพยพไปอยู่รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมข่าวลือว่ามีสินทรัพย์จากการคอร์รัปชัน มากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลังลี้ภัยได้ 3 ปี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เสียชีวิตจากภาวะไตล้มเหลว ในวัย 72 ปี

afp__20240722__364q2px__v1__h
เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ หรือ "บองบอง"

บองบอง มาร์กอส เดินทางกลับมายังบ้านเกิดอีกครั้ง หลังพ่อเสียชีวิต ก่อนใช้คอนเนคชั่นเก่าของพ่อเข้าสู่เส้นทางการเมือง จาก สส. เป็น สว. ค่อยๆ สร้างฐานเสียงทางการเมือง จนกระทั่งปี 2022 "บอง บอง" สามารถคว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ถล่มทลายพาตระกูลมาร์กอส กลับสู่บัลลังก์สูงสุดของการเมืองฟิลิปปินส์ได้สำเร็จ ส่วนรองประธานาธิบดีไม่ใช่ใครอื่นไกล เธอคือ "ซารา ซิมเมอร์แมน ดูเตร์เต-คาร์ปิโอ" ลูกสาวของประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

เรื่องนี้ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่กังวลใจว่าการที่ประธานาธิบดีคนใหม่เป็นทายาทของอดีตผู้นำอันฉ้อฉล ส่วนรองประธานาธิบดีก็เป็นสายเลือดแท้ๆ ของประธานาธิบดีคนก่อนหน้า จะทำให้ประเทศกลับไปสู่ยุคมืด ภายใต้ระบอบเผด็จการและทุจริตคอร์รัปชันอีกครั้ง เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า บองบองใช้โซเชียลมีเดียแก้ต่าง ลบล้างความผิดในอดีตให้กับครอบครัวของเขา และใช้เรื่องอื้อฉาวโจมตีคู่แข่งจนต้องพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง นอกจากนี้ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความล่มสลายจากการบริหารอันผิดพลาดจะถูกลบเลือนไป หลังการเข้ามายืนบนจุดสูงสุดทางการเมืองอีกครั้งของตระกูมาร์กอส

อินโดนีเซีย

โจโก วีโดโด หรือรู้จักกันในชื่อ โจโกวี เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนที่ 7 เขาเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่ได้มาจากชนชั้นนำทางการเมืองหรือการทหารของประเทศ โดยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำครั้งแรกเมื่อปี 2014 โดยมุ่งเน้นความเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไปพร้อมกับสุขภาพและการศึกษา จนได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2019 และยังได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างดี แต่ตามรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีติดกันมาสองสมัย จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการตั้งคำถามว่า รัฐสภาจะแก้กฎหมายหรือไม่หากประชาชนยังต้องการให้โจโกวีเป็นประธานาธิบดีต่อไป แต่โจโกวีก็แสดงความชัดเจนว่า เขาไม่สนับสนุนให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้เขาได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกเป็นสมัยที่ 3 แม้จะได้รับความนิมสูงก็ตาม โดยเขาจะส่งมอบอำนาจในเดือนตุลาคม ให้กับ ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อช่วงต้นปี

afp__20240817__36ee7g4__v1__h
โจโก วีโดโด (ขวา) กับ ปราโบโว ซูเบียนโต 

ทั้งนี้ ปราโบโว ซูเบียนโต ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย เป็นคู่แข่งที่พ่ายแพ้ให้กับ โจโกวี มาแล้ว 2 รอบคือ ในปี 2014 และ 2019 แต่โจโกวีก็ชักชวนปราโบโวมาร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาจนครบเทอมในปี 2024 ซึ่งด้วยความนิยมและผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ติดตรงกฎหมายไม่เอื้อให้นั่งเก้าอี้เป็นสมัยที่ 3 ประชาชนจึงหวังว่าจะได้ผู้นำที่มาสานต่อความสำเร็จนี้ และปราโบโวแม้จะเคยเป็นคู่แข่ง แต่ก็ได้ทำงานใกล้ชิดกับเขามาตลอดเวลา 5 ปี แม้จะไม่มีการบอกอย่างชัดเจน ว่าปราโบโวคือคนที่โจโกวีเลือกให้มาสานต่อภารกิจ แต่ประชาชนก็พอจะรับรู้ได้บ้าง ทำให้ชัยชนะในการเลือกตั้งของเขาเมื่อต้นปี จึงทำให้หลายคนมองว่าเขาได้มาเพราะบารมีของโจโกวี

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้ปราโบโว ได้รับชัยชนะคาดว่าเกิดจากการที่เขาเลือกให้ นายยิบราน รากาบูมิง รากา บุตรชายคนโตของโจโกวีลงชิงชัยคู่กับตนในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า โจโกวีนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญที่นำโดยน้องเขยของเขา แก้กฎหมายปรับลดอายุของผู้สมัครจนลูกชายของเขามาลงลุยสนามเลือกตั้งในตำแหน่งนี้ได้ เป็นการส่งสัญญาณการสืบทอดอำนาจทางการเมืองแบบไม่โจ่งแจ้งแต่ก็พอจะมองเห็กจิ๊กซอว์ในวันข้างหน้าได้ว่า ใครจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนต่อไปในอนาคตต่อจาก ปราโบโว ซูเบียนโต

สิงคโปร์

อีกหนึ่งประเทศที่มีการสืบทอดอำนาจจากพ่อสู่ลูกก็คือ สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี "ลีกวนยู" ขึ้นครองตำแหน่งผู้ประเทศตั้งแต่ปี 1959-1991 เป็นระยะยาวนานถึง 32 ปี จนได้รับการเรียกขานว่าเป็น "บิดาแห่งการก่อตั้งประเทศ" เพราะเขาได้วางรากฐาน การปกครอง การบริหาร และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับ "โก๊ะ จ๊กตง" ที่ต่อยอดจากของเดิม เพิ่มเติมคือการพัฒนาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อเนื่องอีก 13 ปี จนมาถึงมือของ "ลีเซียนลุง" บุตรชายคนโตของ ลีกวนยู ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

afp__20041112__hkg20040812751
ลีกวนยู บิดาแห่งการก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ กับ ลีเซียนลุง บุตรชาย

"ลีเซียนลุง" บริหารประเทศโดยใช้วิสัยทัศน์สร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาแบบต่อเนื่องยาวนานถึง 20 ปี ทำให้สิงคโปร์ก้าวกระโดดทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และความเจริญทางด้านเทคโนโลยีทั้งๆ ที่เป็นเพียงเกาะเล็กๆ ท่ามกลางคำครหาที่ว่าเป็นเผด็จการแบบรัฐสภา เพราะถูกพรรคการเมืองเดิมผูกขาดมาตั้งแต่ได้รับเอกราช และประเทศเคยไม่มี สส.พรรคฝ่ายค้านนานถึง 15 ปี (ปี 1966-1980) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิสัยทัศน์และการบริหารของผู้นำนั้นไม่ธรรมดา บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบ การทุจริตคอร์รัปชั่นน้อย มีระบบสวัสดิการและการประกันสังคมที่ดี มีรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าทุกประเทศในอาเซียน จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ไม่มีประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน

641866
ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทางการเมืองอีกครั้ง หลังจากนายลีเซียนลุงได้ลงจากตำแหน่ง แล้วส่งมอบหน้าที่ผู้นำประเทศให้กับ "ลอว์เรนซ์ หว่อง" รองนายกฯ และ รมว.คลัง ซึ่งชายวัย 52 ปี คนนี้เป็นทายาททางการเมืองที่ถูกวางตัว และบ่มเพาะฝีมือการทำงานจากตระกูลลีมาเป็นอย่างดี เช่น ในช่วงโควิด 19 ที่เขาช่วยบริหารจัดการจนทำให้คนได้เห็นถึงความตั้งใจ และเด็ดขาดในการแก้ปัญหายามวิกฤติ ซึ่งการขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สร้างความหวังให้กับประชาชนอย่างมาก เพราะเขาถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ และคาดว่าจะนำประเทศไปสู่แนวทางที่ทันสมัยมากขึ้นทุกภาคส่วน ภายใต้ชื่อรัฐบาลที่สื่อตั้งให้ว่า 4G เพราะเป็น ผู้นำเจเนอเรชั่นที่ 4 ของประเทศ

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม