อันตรายที่มากับน้ำท่วม สัตว์มีพิษ ไฟช็อต จมน้ำ แนะวิธีรับมือ-ปฐมพยาบาล

22 ส.ค. 67

คำแนะนำสำหรับประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม ระวัง สัตว์มีพิษ, ไฟช็อต, จมน้ำ วิธีรับมือป้องกันอันตราย วิธีปฐมพยาบาล

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศ ในช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ควรระมัดระวังภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ สัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟฟ้าช็อต และการจมน้ำ แนะวิธีป้องกันโดยเน้นสำรวจมุมอับบริเวณบ้านเป็นประจำ ป้องกันสัตว์มีพิษเข้าไปหลบซ่อน ไม่เดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟ หรือเสาไฟฟ้า และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูง หรือน้ำท่วมฉับพลัน ขอให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบระวังภัยสุขภาพที่อาจทำให้เกิดอันตรายและได้รับบาดเจ็บ เช่น การจมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต เป็นต้น

วิธีป้องกันภัยที่มากับน้ำท่วม จมน้ำ สัตว์มีพิษกัดต่อย ไฟช็อตไฟดูด

1. การป้องกันการจมน้ำ

ขอให้ประชาชนยึดหลัก “4 ห้าม 4 ให้” โดย 4 ห้าม ได้แก่ ห้ามหาปลาในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังโดยเฉพาะในช่วงน้ำไหลหลาก ห้ามดื่มสุราแล้วลงไปในน้ำหรือเล่นน้ำ ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ

สำหรับ 4 ให้ ได้แก่ ให้อพยพไปยังพื้นที่สูง ให้รีบออกจากพื้นที่ในกรณีเกิดน้ำท่วม ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

วิธีปฐมพยาบาลคนจมน้ำ

1. นําผู้ที่จมน้ำออกจากที่เกิดเหตุและให้อยู่ในที่ปลอดภัย โดยจัดท่าให้นอนหงายราบบนพื้นที่มีความแข็ง เช่น บนพื้น หากเคยได้รับการฝึกช่วยชีวิตผู้จมน้ำมาแล้วและผู้ให้การช่วยเหลือมีความแข็งแรง การช่วยหายใจเริ่มได้ตั้งแต่อยู่ในน้ำและให้รีบตัวผู้ป่วยขึ้นจากน้ำอย่างรวดเร็ว และให้ผู้อื่นรีบโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือและขอรถพยาบาลที่หมายเลข 1669โดยแจ้งสถานการณ์ สถานที่เกิดเหตุและหมายเลขติดต่อกลับ

2. การช่วยชีวิตสามารถทําได้โดยการกดหน้าอก 30 ครั้ง (กดที่กึ่งกลางระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง ลึกมากกว่า 2 นิ้ว อัตราเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที)

3. สลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้ง (โดยใช้มือหนึ่งกดหน้าผาก อีกมือหนึ่งยกคาง มือที่กดหน้าผากบีบจมูกผู้จมน้ำ ประกบปากเป่าลม จนหน้าอกผู้จมน้ำพองขึ้นเล็กน้อย) ทําการกดหน้าอก 30 ครั้งสลับกับช่วยหายใจ 2 ครั้งไปเรื่อยๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง หรือหากสามารถนําผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลได้เร็วกว่าก็ให้ทําการช่วยชีวิตตลอดการเดินทางนําส่ง โดยห้ามหยุดเป็นอันขาด

เตือน! การแบกหรือยกตัวเพื่อเขย่าเอาน้ำออกไม่ใช่สิ่งจําเป็น เพราะจะทําให้การเริ่มช่วยชีวิตล่าช้า

2. การป้องกันสัตว์มีพิษกัดต่อย

เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่อาจหนีน้ำมาหลบซ่อนอาศัยอยู่ตามบ้านและมุมมืดต่างๆ คือ สอดส่องและสังเกตมุมอับของบ้านเป็นประจำ สำรวจเสื้อผ้าและรองเท้าก่อนสวมใส่ทุกครั้ง

วิธีปฐมพยาบาลถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย

งู : ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์ทันที ห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรขันชะเนาะ จดจำลักษณะงูที่กัดเพื่อแจ้งแพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้อง

ตะขาบ กิ้งกือ : ให้ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการเกา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหากพบว่ามีอาการบวมหรือปวดเพิ่มขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์

แมงป่อง : ทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม

แมลงก้นกระดก – ล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาดหรือล้างด้วยสบู่ ประคบด้วยน้ำเย็น10-15 นาที ประคบด้วยน้ำเกลือครั้งละ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าแผลจะแห้ง

3. การป้องกันไฟฟ้าช็อต

ให้สับคัทเอาต์ตัดกระแสไฟพร้อมย้ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟขึ้นที่สูง ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น หรือกำลังยืนอยู่บนพื้นที่เปียก ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นประจำ ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยง การเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้าง ไม่ต่ำกว่า 3 เมตร

วิธีช่วยเหลือคนถูกไฟช็อต ไฟดูด

1. ตัดกระแสไฟในที่เกิดเหตุทันที

2. ห้ามสัมผัสตัวผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดด้วยมือเปล่า โดยให้ใช้ถุงมือยาง ผ้าแห้ง หรือพลาสติกแห้ง เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากพื้นที่

3. หากผู้ประสบภัยหมดสติ ควรทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ในบริเวณพื้นที่แห้ง และโทรแจ้ง 1669 ทีมแพทย์ฉุกเฉินทัน

นอกจากนี้ขอให้ติดตามข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลรามาธิบดี, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง



advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส