ครม.ตั้งศูนย์อำนวยการอุทกภัย ใช้งบฯ ทดลองจ่าย 20 ล้าน เล็งบรรจุวาระแห่งชาติ

27 ส.ค. 67

ครม.ตั้งศูนย์อำนวยการอุทกภัย ใช้งบฯ ทดลองจ่าย 20 ล้าน ระยะเร่งด่วน เล็งบรรจุวาระแห่งชาติ แก้น้ำท่วมซ้ำซาก มีครม.เมื่อไหร่ยื่นบรรจุทันที 

วันที่ 27 ส.ค. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) ว่า ที่ี่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมองว่า น้ำท่วมเป็นปัญหาซ้ำซากเรื้อรังมานานจากหลายปัจจัย ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำ การไม่มีที่รองรับน้ำในภาคเหนือ ทำให้มีปัญหาน้ำท่วมทุกปี ต้องช่วยเหลือผู้ที่ลำบากทุกปี 

โดยเฉพาะในปีนี้มีมวลน้ำปริมาณมาก สถานการณ์ฝนตกมีความแตกต่างจากที่ผ่านมา มีภาวะ ฝนตกเป็นจุดๆ จากปัญหาโลกร้อน ซึ่งปัญหานี้นับวันจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น 1.ต้องมีการบริหารจัดการไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปมากกว่านี้ 2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนหลังน้ำลด และ 3.การแก้ปัญหาระยะยาว โดยบรรจุเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้เมื่อมีคณะรัฐมนตรีมาบริหารประเทศก็จะบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้รองรับสถานการณ์ได้ทัน 

ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้คาดการณ์สถานการณ์ บางพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้วแต่ บางพื้นที่ก็สถานการณ์น้ำท่วมหนักอยู่ เช่น จ.สุโขทัย ซึ่งยอมรับว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำก่อนระบายสู่จังหวัดต่างๆ ถือว่าค่อนข้างหนัก คันกั้นน้ำไม่สามารถรับได้ จึงเกิดการพังทลาย คันกั้นน้ำยังมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว 

และนำมาสู่การตั้งศูนย์แก้ปัญหาให้มีเอกภาพ จึงตั้งเป็นศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย มีอำนาจหน้าที่และการใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยมีนายภูมิธรรม รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มี รมว.มหาดไทย และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน องค์ประกอบที่เหลือคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสั่งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยแบ่งภารกิจออกเป็น 2.ส่วน คือ 1.การบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ การแจ้งเตือน ให้ทราบข่าวว่าน้ำจะมาประมาณไหน ไม่ให้เกิดความตระหนก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนวณและยืนยันว่าจะไม่ถึงสถานการณ์ปี 2554 โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ จะเป็นผู้ดูแล 2. การดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยมี รมว.มหาดไทยจะเป็นหลักในการบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน 

สำหรับงบประมาณที่จะใช้จากงบประมาณกลาง อย่างไรก็ตา ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งบางจังหวัดมีการประกาศพื้นภัยพิบัติจะใช้งบทดลองจ่ายจำนวน 20 ล้านบาท หากไม่เพียงพอ ต้นสังกัดจะขอมาที่งบกลาง แต่เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้วการดำเนินการทุกอย่างจะต้องรวดเร็วตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

“หน้าที่มีทั้งการป้องกัน แก้ไข เยียวยา และฟื้นฟู ซึ่งต้องดูสถานการณ์ในรายจังหวัด เช่น จ.น่านสถานการณ์น้ำท่วมผ่านไปแล้วจะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา และฟื้นฟู ส่วนจังหวัดที่น้ำยังมาไม่ถึงจะป้องกันอย่างไร เช่น จ.นครสวรรค์หรือต่ำกว่านั้นก็ต้องหามาตรการป้องกัน แก้ไขไม่ใช่ทำงานเชิงรับ” น.ส.นัทรียา กล่าว

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส