"อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์คัสสึคาเบะ" สิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันและรับมือน้ำท่วมญี่ปุ่น

4 ก.ย. 67

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง รวมถึงอุทกภัยหรือน้ำท่วม แต่อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการวางผังเมืองและการจัดทำแผนที่ภัยพิบัติ รวมถึงการคิดค้นและก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์คัสสึคาเบะ ไว้คอยรับมือกับภัยน้ำท่วมที่อาจจะมาเยือนในทุกเดือนกันยายนของทุกปี

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เกิดภัยทางธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง ด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในทิศทางของพายุ จึงมีโอกาสเจอภัยธรรมชาติทั้งพายุและฝนกระหน่ำ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่ญี่ปุ่นเองก็เผชิญปัญหานี้มาหลายครั้งเช่นกัน หากให้ย้อนรอยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ของญี่ปุ่นครั้งสำคัญๆ หลายคนอาจจะนึกถึงน้ำท่วมจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นไอดา ในปี พ.ศ.2501 ที่หอบเอาทั้งฝนและลมขึ้นมาพัดจนสร้างความเสียหายไปทั้งโตเกียว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มมากกว่า 1,900 แห่ง ประชาชนกว่า 5 แสนคนไร้ที่อยู่อาศัย มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,200 ราย ทำให้ญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายเพื่อรองรับและหาวิธีรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการสร้างอุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะขึ้นมาเพื่อช่วยในการระบายน้ำ

afp__20200710__1uy3qc__v1__hi

น้ำท่วมและดินถล่มในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น พ.ศ.2561 จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและโคลนถล่มอย่างกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิต 225 คน และสูญหายอีก 13 คน ประชาชนมากกว่า 8 ล้านคนได้รับคำแนะนำหรือเรียกร้องให้อพยพออกจาก 23 จังหวัด นับเป็นภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศ กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น ตำรวจ และนักดับเพลิงได้ออกค้นหาผู้คนที่ติดค้างในเหตุแผ่นดินถล่มและน้ำท่วมในทันที ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งหน่วยประสานงานขึ้นที่ศูนย์จัดการวิกฤตของสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรวบรวมข้อมูลและดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ในครั้งนั้นนานาชาติได้ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทยเองก็ได้ส่งเงินบริจาคจำนวน 17 ล้านเยน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย

หรือแม้แต่อุทกภัยบนเกาะคิวชู ในปี พ.ศ.2563 จากฝนตกหนักเป็นประวัติศาสตร์ในจังหวัดคุมาโมโตะและจังหวัดคาโงชิมะ บนเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม ยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิต 49 ราย ในจำนวนนี้ 14 รายเป็นผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในจังหวัดคุมาโมโตะ ซึ่งถูกน้ำท่วม โดยแพทย์ยืนยันสาเหตุที่ทำให้คนเหล่านี้เสียชีวิต เนื่องจากเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น

afp__20200704__1ul86j__v1__hi
น้ำท่วมในจังหวัดคุมาโมโตะ

ญี่ปุ่นรับมืออย่างไรกับเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศ
ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการวางผังเมืองและการจัดทำแผนที่ภัยพิบัติ เพื่อบอกเส้นทางการอพยพหนีภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม ให้กับประชาชน โดยแผนที่ภัยพิบัติที่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องน้ำท่วมทำขึ้นโดยอิงจากสมมติฐานที่ว่าทำนบกั้นน้ำพังเสียหายหรือน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และในเมืองสำคัญยังมีแผนที่ภัยพิบัติที่แยกต่างหาก ที่เน้นเหตุน้ำท่วมที่เกิดจากการระบายน้ำไม่ทัน แผนที่ดังกล่าวจะแสดงให้เห็นพื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วมเมื่อการระบายน้ำหยุดชะงัก ตลอดจนพื้นที่อพยพหลบภัยและข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนรับทราบและเตรียมพร้อมได้อย่างในทุกสถานการณ์

"อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์คัสสึคาเบะ"
และอีกหนึ่งวิธีรับมือกับภัยน้ำท่วมของญี่ปุ่นของญี่ปุ่น นอกจากการวางผังเมืองและการจัดทำแผนที่ภัยพิบัติ อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก นั่นก็คือการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์คัสสึคาเบะ (Metropolitan Area Outer Underground Discharge Channel) ในเมืองคัสสึคาเบะ จังหวัดไซตามะ เมื่อปี พ.ศ.2536 เพื่อบรรเทาและรับมือกับภัยน้ำท่วมที่อาจจะมาเยือนในทุกเดือนกันยายนของทุกปี

อุโมงค์ระบายน้ำคัสสึคาเบะ มีขนาดความยาว 6.3 กิโลเมตร มีแท็งก์พักน้ำ 5 แท็งก์ แต่ละแท็งก์มีความสูง 70 เมตร มีกลไกในการระบายน้ำคือ น้ำที่เอ่อล้นจากแม่น้ำขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งน้ำจะถูกปั้มผ่านอุโมงค์น้ำใต้ดินกว้าง 10 เมตร วิ่งไปไปยังแท็งก์กักเก็บน้ำในเมืองคัสสึคาเบะ หลังจากนั้นน้ำจะถูกปั๊มลงแม่น้ำเอโดกาวะ เพื่อปล่อยลงสู่อ่าวโตเกียวต่อไป ระบบการระบายน้ำจะทำการควบคุมผ่านเจ้าหน้าที่ โดยมีการสร้างห้องควบคุมที่มีหน้าจอควบคุมระบบภายในอุโมงค์ต่างๆ กว่า 20 เครื่อง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถสอดส่อง ดูแล ควบคุมสถานการณ์ระดับน้ำได้อย่างทั่วถึง มูลค่าการลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2543 มูลค่างบประมาณการลงทุนมหาศาล แต่ถือว่าเป็นการดำเนินการที่คุ้มค่ากับการลงทุนอย่างมาก ประสิทธิภาพของอุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถพาโตเกียวรอดพ้นจากอุทกภัยมาได้หลายปี โดยเฉพาะเมื่อครั้งเกิดซูเปอร์ไต้ฝุ่นฮากีบิส ในปี พ.ศ.2562

afp__20201012__1wy3fp__v1__hi
อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์คัสสึคาเบะ

ป้องกันน้ำท่วม ขณะเดียวกันก็เปิดให้ประชาชนเข้าไปชมและศึกษา

อุโมงค์ยักษ์คัสสึคาเบะ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็ยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปชมและหาความรู้เกี่ยวกับระบบการทำงานของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์แห่งนี้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยอธิบายขั้นตอนของการระบายน้ำจากอุโมงค์ยักษ์ให้คนทั่วไปเข้าใจได้ พร้อมเป็นแหล่งศึกษาดูงานของวิศวกรทั่วโลกที่เดินทางมาดูงาน

ความสำเร็จของอุโมงค์แห่งนี้ทำให้น้ำท่วมในเขตเมืองลดลงอย่างมาก และยังช่วยลดความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น นอกจากอุโมงค์คัสสึคาเบะแล้ว ญี่ปุ่นยังสร้างอุโมงค์คันดะไว้คอยระบายน้ำจากแม่น้ำคันดะลงสู่อ่าวโตเกียว รวมถึงภายในเมืองโอซากาก็สร้างอุโมงค์สำหรับการระบายน้ำไว้เช่นกัน ดำเนินการไปพร้อมการประสานการวางผังเมืองและเสริมจุดระบายน้ำรอบเมือง การออกแบบป้องกันน้ำท่วมอาคาร รวมถึงการออกกฏหมายข้อบังคับเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วมญี่ปุ่นจึงคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง


ที่มา
อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินนอกเขตปริมณฑล คืออะไร?
https://www.fun-japan.jp/th/articles/13215

ถอดบทเรียน ‘ญี่ปุ่น’ การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยอุโมงค์ยักษ์
https://www.dotproperty.co.th/blog/ถอดบทเรียน-ญี่ปุ่น-การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยอุโมงค์ยักษ์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม