เปิดสถิติครึ่งปี 2567 ผู้สูงอายุเพิ่มมากถึง 13.4 ล้านคน องค์กรไหนรับคนวัยนี้ทำงานต่อบ้าง

5 ก.ย. 67

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยจำนวนผู้สถิติจำนวนผู้สูงอายุสัญชาติไทย พ.ศ. 2567 ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 13,450,391 คน จากจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 64,989,504 คน หรือร้อยละ 20.70 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด อมรินทร์ทีวีพาส่ององค์กรไหนรับคนสูงวัยทำงานต่อบ้าง

ตามที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548  จากการที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีมากเกิน 10% ของประชากรทั้งประเทศ และต่อมาในปี พ.ศ. 2564 ไทยได้ก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ" (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึง 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ จวบจนถึงปัจจุบันและยังคงมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี สวนทางกับอัตราการเกิดที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะขยับเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Super Aged Society) มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 30 ในปี พ.ศ.2576 ที่จะถึงนี้

อายุเท่าใด ถึงจะเรียกว่าผู้สูงอายุ?

กรมกิจการผู้สูงอายุ อธิบายว่า ประเทศไทยกำหนดนิยาม “ผู้สูงอายุ” ไว้ใน พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ผู้สูงอายุ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุ เกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย แต่ภายหลังนักวิชาการเสนอปรับนิยามผู้สูงอายุจาก 60 เป็น 65 ปี ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์และอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับเกณฑ์การวัดกลุ่มผู้สูงอายุเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา และอังกฤษ ต่างพากันกำหนดกลุ่มอายุผู้สูงอายุไว้ที่ 65 ปีขึ้นไป

istock-950996172

สถิติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2567

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผย สถิติจำนวนผู้สูงอายุ พ.ศ. 2567 ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 พบว่าในจำนวนประชากรทั้งหมด 65,982,984 คน แยกเป็นจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 64,989,504 คน

มีจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 13,450,391 คน หรือร้อยละ 20.70 ผู้สูงอายุทั้งหมด แยกเป็นกลุ่มผู้สูงอายุชาย 5,948,010 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.22 และ กลุ่มผู้สูงอายุหญิง 7,502,381 คน คิดเป็นร้อยละ 55.78 ของกลุ่มผู้สูงอายุ

1725530691262

ข้อมูลข้างต้นพบว่าภาคกลางมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด 4,784,026 คน โดยจังหวัดที่พบจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,271,758 คน รองลงมาคือ นนทบุรี 290,488 คน และ ชลบุรี 262,299 คน ตามลำดับ

รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,229,460 คน ภาคเหนือ 2,778,668 คน และภาคใต้ 1,658,237 คน

เพิ่มขึ้นจากสถิติเดิมในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศจำนวน 13,064,929 คน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรรวมทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเกือบ 4 แสนคน สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

หันไปมองยังกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ เมื่อถึงเวลาช่วงเกษียณจากงานประจำที่เคยทำ บางคนก็ยังมีไฟและอยากทำงานเลี้ยงชีพต่อไปโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานให้มาคอยเลี้ยงดู หลายคนจึงมองหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันผู้สูงวัยจำนวนมาก ก็ยังถือว่ามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และพร้อมด้วยประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายและเชี่ยวชาญในหลายเรื่อง จึงนับว่ายังเป็นกลุ่มคนที่ยังมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อยู่

istock-2147480224

ข้อมูลจากอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กรมการจัดหางานเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ ใน 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสานพลังประชารัฐ จัดหางานให้ผู้สูงอายุ (Civil State Project for Elderly)กิจกรรมสร้างโอกาสการมีงานทำให้ผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบรรจุงาน

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรมการจัดหางานมีการลงพื้นที่เชิญชวนนายจ้างสถานประกอบการให้เห็นถึงความสำคัญและเกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ รวมทั้งประชุมหารือกับนายจ้าง/สถานประกอบการแล้ว 1,057 แห่ง และมีการจ้างงานผู้สูงอายุ จำนวน 702 คน จากผู้สูงอายุที่มาใช้บริการจัดหางาน จำนวน 813 คน ซึ่งตำแหน่งงานที่ผู้สูงอายุได้รับการบรรจุงานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ แรงงานด้านการผลิตต่างๆ แม่บ้าน พนักงานดูแลความปลอดภัย พนักงานขับรถยนต์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามลำดับ 

ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุที่ไม่มีอาชีพ ปี พ.ศ. 2566 จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากระบบฐานข้อมูล TPMAP ดึงข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2566 มีมากถึง 1,107,567 คน พบผู้สูงอายุที่ไม่มีอาชีพมากสุดที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 54,174 คน รองลงมาคือที่ จ.เชียงใหม่ 43,835 คน 

องค์กรเอกชนใดบ้างที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยเข้าร่วมทำงาน? 


Café Amazon for Chance ของ ปตท. 

เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ อายุ 55 ปี ขึ้นไป เข้าร่วมทำงานกับ Café Amazon for Chance  ซึ่งเริ่มต้นทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันมี Café Amazon for Chance 11 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มผู้สูงวัยที่ Amazon เปิดโอกาสให้เข้าร่วมทำงาน แต่ยังเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินและผู้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ กลุ่มทหารผ่านศึกที่สูญเสียอวัยวะและครอบครัวเข้าร่วมทำงานด้วยเช่นกัน โดย Amazon ได้ออกแบบปรับปรุงพื้นที่และติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน อาทิ เครื่องชงอัตโนมัติ เทคโนโลยี POS 2 หน้าจอที่ลูกค้าสามารถ Touch หน้าจอสั่งเมนูหรือตรวจสอบเมนูได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บาริสต้าผู้พิการทางการได้ยิน ห้องเก็บของที่จะไม่มีการจัดเก็บหรือวางวัสดุและอุปกรณ์ในบริเวณชั้นที่สูง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บาริสต้าผู้สูงอายุ ระบบเรียกคิว สำหรับพนักงานผู้พิการทางการได้ยิน และป้าย Standy วิธีการสั่งภาษามือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสั่งเครื่องดื่มระหว่างลูกค้ากับบาริสต้าผู้พิการทางการได้ยิน เป็นต้น

ระบบการช่วยเหลือดังกล่าว ทำให้เกิดความสะดวกต่อผู้สูงอายุที่เข้ามาทำงาน และยังเลือกได้อีกว่าจะทำแบบ Full Time หรือ Part Time ส่วนตำแหน่งที่เปิดรับก็มีทั้ง ผู้รับออเดอร์ แคชเชียร์ บาริสต้า ดูแลทำความสะอาดร้าน สามารถเลือกได้ตามความสมัครและกำลังที่แต่ละคนจะสามารถทำไหว รายได้เริ่มต้นวันละ 3xx ขึ้น หรือตามค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่นั้นๆ 

โครงการ พี่ใหญ่ไฟแรง จาก Big C

รับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ยังมีไฟในการทำงานอยู่ เข้าทำงานในสาขาบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ทั่วประเทศ และสำนักงานใหญ่ โดยต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ได้แก่ เพศ ชาย/หญิง ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, สุขภาพแข็งแรง มุ่งมั่นในการทำงาน มีใจรักงานบริการ และสามารถทำงานเป็นกะได้ โดยสามารถทำงานตามศักยภาพและความสามารถของตัวเองในตำแหน่งต่างๆ อาทิ พนักงานต้อนรับลูกค้า เจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ธุรการ พนักงานประจำศูนย์อาหาร พนักงานฝ่ายอาหารสด พนักงานแผนกอาหารแห้ง เภสัชกรร้านยาเพียวและมินิบิ๊กซี เป็นต้น 

istock-485937038

โครงการ 60 ยังแจ๋ว ของ Tesco Lotus 

ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทำงานในสาขาของโลตัสกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมี 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้
1. การจ้างงานผู้สูงอายุ ปฏิบัติงานในสาขาของ แม็คโคร และ โลตัส โดยสามารถเลือกแผนกตามความถนัดได้ ไม่ว่าจะเป็น แผนกดูแลและจัดเรียงสินค้า จุดบริการลูกค้าและแคชเชียร์ เป็นต้น 
2. เถ้าแก่วัยเก๋า โครงการฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานอิสระหรือมีธุรกิจของตนเอง
3. ตลาดสุขใจวัยเก๋า เปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับพ่อค้าแม่ค้าสูงวัยในพื้นที่ของสาขาแม็คโคร-โลตัส โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

ด้วยตารางการทำงานที่ยืดหยุ่นตามความสะดวก ช่วยให้กลุ่มประชากรผู้สูงวัยมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมมอบสวัสดิการและสิทธิประโยชน์พนักงานที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย อาทิ เงินสมทบค่ารักษาพยาบาลและตรวจสุขภาพประจำปีเมื่อทำงานครบตามกำหนด โดยปัจจุบันมีผู้เกษียณอายุกว่า 800 คนร่วมงานกับโลตัสในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้  Tesco Lotus กำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สูงวัยที่ต้องการร่วมงานในโครงการ  60 ยังแจ๋ว เพียงมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดเพศ มีใจรักการบริการ วุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับ ม. 3 ขึ้นไป ซึ่งสามารถสมัครได้ที่เทสโก้ โลตัส ทุกสาขา 

Central ต่ออายุหลังเกษียณ ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 

เปิดโอกาสรับผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรงและยังอยากที่จะทำงานต่อ เข้าร่วมทำงานกับ Central ในกลุ่ม Department Store ในฐานะพนักงานพาร์ทไทม์มีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน โดยจะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ได้แก่ วุฒิการศึกษา ม.3 ขึ้นไป และมีใจรักงานบริการ สวัสดิการเบื้องต้นที่จะได้รับ อาทิ ค่ารักษาพยาบาล, ตรวจสุขภาพประจำปี, ปรับเงินเดือนประจำปี, ค่าคอมมิสชั่นสำหรับพนักงานขาย เป็นต้น

IKEA 

บริษัทยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน ที่มาเปิดให้บริการในประเทศไทยนานกว่า 10 ปี ก็เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุที่รักในการแต่งบ้านและรักงานบริการ  มาสมัครเป็นพนักงานพาร์ตไทม์ที่ IKEA ได้เช่นกัน พร้อมรายได้ชั่วโมงละ 64 บาท  โดยคุณสมบัติเบื้องต้นต้องมีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ยังที่ไฟในการทำงาน มีใจรักงานบริการ สุขภาพแข็งแรง ทำงานเป็นกะได้ และไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ซึ่งสามารถเลือกเวลาในการทำงานได้ตามสะดวก ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงเป็นเคสๆ ไป ส่วนสวัสดิการที่อิเกียมอบให้พนักงาน คือยึดในหลักความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน อาทิ ประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำหรือพาร์ทไทม์ ก็จะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน 

istock-459252709

60 ปีมีไฟ ของ SE-ED 

ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกหนังสือ อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่เปิดรับสมัครผู้สูงอายุเข้าทำงานภายใต้โครงการ 60 ปีมีไฟ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เข้ามาเป็นพนักงานร้านหนังสือที่ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์  ขอเพียงยังมีไฟในการทำงาน รักการอ่าน รักร้านหนังสือ อยากส่งผ่านคุณค่าของการอ่านให้กับเด็กๆ และคนอื่นๆ กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเบื้องต้น ได้แก่ เพศ ชาย/หญิง อายุ 50 ปีขึ้นไป, วุฒิการศึกษาตั้งแต่ ม.3 ขึ้นไป โดยโครงการนี้ผู้สูงอายุจะได้เข้าทำงานที่ร้านหนังสือของSE-ED ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ร้านหนังสือ 

อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้กำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยคิดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมง อัตราเดียวทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 45 บาท/ชั่วโมง พร้อมกำหนดว่าไม่ควรทำงานเกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 6 วัน/สัปดาห์

ที่มา กรมการปกครอง , Lotus , Cafe' Amazon

 

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม