เปิดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม เข้าข่ายหรือไม่ จะได้กี่บาท เช็กเงื่อนไข ได้ที่นี่
สถานการณ์น้ำท่วมประเทศไทยในปี 2567 ยังคงน่าเป็นห่วง มวลน้ำที่ไหลทะลักเข้ามา ประกอบกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ ทำให้น้ำยังคงหลากเข้าพื้นที่ชุมชมเป็นระยะ ซึ่งขณะนี้มีครัวเรือนผู้ประสบภัยแล้วกว่า 338,391 ครัวเรือน รวม 57 จังหวัด โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567
สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน กรณีอุทกภัย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงิน จำนวน 3,045,519,000 บาท (3,045 ล้านบาท) โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยรับงบประมาณและจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย
มาตรการเยียวยาผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสนอขอค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบอุทกภัย เป็นกรณีพิเศษ ดังนี้
ครัวเรือนละ 5,000 บาท
-
กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน
-
ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน
ครัวเรือนละ 7,000 บาท
- กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน
ครัวเรือนละ 9,000 บาท
- กรณีมีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป
หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567
ผู้ประสบภัยต้องได้รับผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย ในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.2567 ทั้งกรณีน้ำท่วมโดยฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงการระบายน้ำ จนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้
- สำหรับ ผู้ประสบภัยที่ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง เกินกว่า 7 วันขึ้นไป จำเป็นต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ และผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) สำหรับกรุงเทพมหานคร ต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร
- กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายสำหรับงบกลาง เป็นรายการค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้หารือเคาะมาตรการเยียวยาพื้นที่น้ำท่วมโดยประชาชนผู้ประสบภัยไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ในเดือน กันยายน 67 ส่วนในเดือนตุลาคม 67 ค่าน้ำค่าไฟจะลดลงให้ 30 %