เพจเจอร์ หรือ วิทยุติดตามตัว กลายมาเป็นท็อปปิคสำคัญถูกพูดถึงระดับโลก เมื่ออุปกรณ์สื่อสารที่เคยเบ่งบานในยุค 90 กลายมาเป็นอาวุธสงครามในเลบานอน เมื่อเกิดเหตุเพจเจอร์ระเบิดพร้อมกันหลายพันเครื่อง
เพจเจอร์คืออะไร
เพจเจอร์ เป็นอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาชนิดแรกๆ รองจากวิทยุสื่อสาร มีการจดสิทธิบัตรครั้งแรกเกี่ยวกับระบบเพจเจอร์ เมื่อปี ค.ศ.1949 โดยอัลเฟรด เจ.กรอสส์ และเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 1950 ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนจะเริ่มแพร่หลายในหลายประเทศตามมา มไว่าจะเป็น ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย
เพจเจอร์ใช้ติดต่อสื่อสารผ่านข้อความตัวอักษร ไม่สามารถพูดเพื่อส่งสารผ่านผู้รับอีกเครื่องได้ด้วยตัวเอง โดยผู้ส่งจะต้องกดเบอร์โทรโอเปอเรเตอร์หรือคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้อีกฝ่ายพิมพ์ข้อความที่เราต้องการจะส่งถึงผู้รับ ซึ่งเพจเจอร์เคยเป็นไอค่อนสำคัญของการสื่อสารในไทยช่วงยุค 90 ก่อนกระแสความนิยมจะหายไปเมื่อมีการเกิดขึ้นมาของโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นอุปกรณ์การสื่อสารที่สำคัญกับมนุษย์ในยุคนี้
เพจเจอร์ในไทยเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อไร
เพจเจอร์เริ่มใช้ในประเทศไทยช่วงประมาณปี พ.ศ. 2520 แต่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปี พ.ศ. 2530 - 2544 โดยมีบริษัทแปซิฟิกโดยเทเลซิสเป็นผู้ให้บริการรายแรก ภายใต้ ชื่อ แพคลิงก์ (Paclink) ก่อนจะได้รับสัมปทานจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้ให้สัมปทานแก่เอกชนรายอื่นๆ เพิ่มขึ้น เริ่มจาก โฟนลิงก์ ของกลุ่มชินคอร์ป ตามมาด้วย ฮัทชิสัน ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างฮัทชิสันวัมเปาและล็อกซเล่ย์ ที่เปิดให้บริการในเวลาไล่เลี่ยกัน และตามมาด้วยอีกหลายเจ้า
โดยเพจเจอร์แต่ละเครื่องจะมีค่ายมีเจ้าของเครือข่าย และหมายเลขของ Call center ที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ในปัจจุบัน เช่น WorldPage 142 , PhoneLink 152,Hutchison 162 EasyCall 1500, PacLink 1144,Postel 1187/1188 เป็นต้น
การใช้งานของเพจเจอร์
- การส่งข้อมูล
โดยผู้ส่งข้อความจะต้องกดเบอร์ไปหาคอลเซ็นเตอร์หรือโอเปอเรเตอร์ของแต่ละเครื่อง เพื่อแจ้งข้อความที่ต้องการส่งไปยังหมายเลขเพจเจอร์ที่ระบุไว้ หลังจากนั้นทางโอเปอเรเตอร์จะทำการพิมพ์ข้อความตามที่ผู้ส่งต้องการส่ง ไปยังเครื่องเพจเจอร์ของผู้รับ - การรับข้อความ
หลังจากผู้ส่งแจ้งข้อความที่ต้องการส่งให้กับโอเปอเรเตอร์แล้ว ผู้รับจะได้รับแจ้งเตือนข้อความ และอ่านข้อความสั้นๆ ที่แสดงบนหน้าจอของเครื่องได้
ซึ่งข้อจำกัดของการใช้งานเพจเจอร์ คือ แต่ละเครื่องจะมีการจำกัดจำนวนตัวอักษร ดังนั้นหากผู้ส่งต้องการจะส่งข้อความไปหาใคร ผู้ส่งจะต้องสรุปใจความสำคัญให้ครบ จบ ในจำนวนตัวอักษรที่ถูกกำหนดเท่านั้น
ราคาเพจเจอร์
เครื่องเพจเจอร์ในยุคนั้นมีราคาเริ่มต้นเครื่องละ 1000 ไปจนถึง 4000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าบริการรายเดือนอีกประมาณเดือนละ 400-500 บาท ด้วยความที่โทรศัพท์มือถือในยุคแรกๆ มีราคาสูงปรี๊ด จึงทำให้หลายคนหันมาใช้เพจเจอร์ในการติดต่อสื่อสาร
คนกลุ่มไหนที่นิยมใช้เพจเจอร์บ้าง
เพจเจอร์ได้รับความนิยมในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มบริการฉุกเฉิน ตำรวจ พนักงานดับเพลิง เป็นต้น และยังนิยมมากในกลุ่มธุรกิจ ที่ใช้เพจเจอร์ในการส่งข้อความสื่อสารหรือการนัดหมาย ไม่เพียงเท่านั้น เพจเจอร์ ยังเคยกลายเป็นไอเทมฮิตของกลุ่มวัยรุ่นในยุค 90 ใช้ในการส่งข้อความบอกรักหรือจีบกันผ่านเพจเจอร์
ปิดตำนาน เพจเจอร์ เมื่อผู้ให้บริการรายสุดท้ายของโลกปิดบริการเมื่อปี 2561
บริษัทโตเกียว เทเลแมสเสจ ผู้ให้บริการรับส่งข้อความทางโทรศัพท์ หรือ เพจเจอร์ ในญี่ปุ่นประกาศเตรียมยุติให้บริการ หลังดำเนินธุรกิจมากว่า 50 ปี โดยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา บริษัทยอมรับว่ามีผู้ใช้บริการส่งเพจน้อยลงอย่างน่าใจหาย ในปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการเพจเจอร์ในญี่ปุ่นราว 1,500 คนเท่านั้น
ทั้งนี้เมื่อ 5 ปีก่อน ทางบริษัทได้ยุติการรับสมาชิกใหม่ เพื่อจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ทำให้จำนวนลูกค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุด ทางบริษัทได้ประกาศให้ลูกค้าทราบว่าจะยุติบริการรับส่งข้อความอย่างถาวรในเดือนกันยายน ปี 2019 และจะหันไปพัฒนาบริการสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สายอย่างเต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต
ด้วยข้อจำกัดที่สามารถส่งข้อความได้เพียงอย่างเดียว บวกกับเมื่อเริ่มมีเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือและสัญญาณเคลื่อนที่เข้ามา และราคาโทรศัพท์มือถือที่ปรับลดลงเพื่อให้ผู้คนเอื้อมถึง เพจเจอร์จึงได้รับความนิยมน้อยลงและคนหันไปใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถโทรและส่งข้อความถึงกันได้ง่าย แทนมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูล
เพจเจอร์ ,ปิดตำนานบริษัทเพจเจอร์ของญี่ปุ่น