PETA (พีต้า) จุดประสงค์ที่แท้จริงของการก่อตั้งองค์กร เคยพิพาทกับไทยเรื่องอะไรบ้าง ก่อนหน้าปม "หมูเด้ง"

30 ก.ย. 67

องค์กร PETA (พีต้า) คืออะไร มีหน้าที่ทำอะไร ย้อนรอยเรื่องที่เคยพิพาทกับไทย ก่อนปม "หมูเด้ง" ซัดหากินกับสัตว์ จี้ปล่อยคืนสู่ป่า

หมูเด้ง รันทุกวงการแล้ว! ล่าสุด ไปถึงหูของ PETA (พีต้า) ที่มองว่าการที่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว นำ "หมูเด้ง" โชว์ตัวจัดแสดงเป็นการหากินกับสัตว์ ทรมานสัตว์ โดย "เจสัน เบเกอร์" รองประธานอาวุโสของ PETA ออกแถลงการณ์เรียกร้องผ่านเพจฯ PETA Asia เนื้อหาว่า

"ไม่มีอะไรน่ารักเกี่ยวกับการที่สัตว์เกิดในกรงขัง ฮิปโปควรอยู่ในธรรมชาติ แต่ หมูเด้ง จะไม่มีวันได้ใช้ชีวิตนอกกรง เธอต้องเผชิญกับชีวิตที่ถูกขังตลอดไป ถูกพรากจากเสรีภาพและโอกาสที่จะได้สัมผัสถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติและโครงสร้างทางสังคมของสัตว์ในสายพันธุ์ของเธอ

สัตว์ไม่ได้มีอยู่เพื่อความบันเทิงของเรา การเพาะพันธุ์พวกมันเพื่อแสดงต่อสาธารณชนเป็นการส่งเสริมความทุกข์ทรมานของพวกมัน PETA เรียกร้องให้ยุติวัฏจักรที่โหดร้ายนี้ และให้สวนสัตว์มุ่งเน้นไปที่ความพยายามในการอนุรักษ์ที่ปกป้องสัตว์ในธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่ที่พวกมันควรจะอยู่ PETA พร้อมและยินดีที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการย้ายสัตว์ไปยังสถานพักพิงเสมอ และขอเรียกร้องให้ทุกคนหลีกเลี่ยงสถานที่ที่กักขังสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก"

จากดราม่าที่เกิดขึ้นดังกล่าว เชื่อว่าหลายคนคงอยากทำความรู้จักว่า PETA (พีต้า) คือใคร มีหน้าที่ทำอะไร "อมรินทร์ออนไลน์" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรดังกล่าว พร้อมย้อนรอยอดีต เมื่อครั้ง PETA (พีต้า) เคยมีข้อพิพาทกับไทย

PETA (พีต้า) คืออะไร หน้าที่

PETA (พีต้า) ย่อมาจาก People for the Ethical Treatment of Animals เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา

พวกเขานิยามตัวเองว่า พวกเขาคือ "กลุ่มคนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีคุณธรรม" บทบาทหน้าที่ของ PETA (พีต้า) คือ พิทักษ์สิทธิของสัตว์ องค์กร PETA (พีต้า) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1980 โดย อิงกริด นิวเคิร์ก และ อเล็กซ์ ปาเชโก

ผลงานสร้างชื่อของ องค์กร PETA  คือ คดีลิงแห่งซิลเวอร์สปริงส์ "อเล็กซ์ ปาเชโก" หนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์กรฯ แฝงตัวเข้าไปในห้องทดลองก่อนออกมาแฉว่า พวกเขาปฏิบัติต่อสัตว์อย่างทารุณ นับเป็นเรื่องราวที่ฉาวโฉ่ไปทั่วโลกกับการจับ ลิงป่า 17 ตัวจาก ฟิลิปปินส์ มาทำการทดลองเพื่อวิจัยพฤติกรรม เหตุเกิดที่ ซิลเวอร์สปริง รัฐแมริแลนด์ ตั้งแต่ปี 1981 จนถึงปี 1991

ตำรวจบุกรวบทีมนักวิจัยและตั้งข้อหนักหลายกระทง แต่ทว่าในท้ายที่สุดของ คดีลิงซิลเวอร์สปริง ศาลฯ ตัดสินว่า กฎหมายการทารุณกรรมสัตว์ของรัฐแมริแลนด์ไม่สามารถใช้กับห้องปฏิบัติการที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางได้

การต่อสู้ของ PETA (พีต้า) ใน คดีลิงแห่งซิลเวอร์สปริงส์ ผู้คนบางส่วนให้การสนับสนุน แต่บางส่วนกลับมองว่าเป็นการก่อความวุ่นวายและมองว่าเป็นการ "ใช้เพื่อการวิจัย"

ท่ามกลางต่อสู้เพื่อจุดยืนพิทักษ์สิทธิของสัตว์ แต่ในหลายครั้ง PETA (พีต้า) ก็มักโดนโจมตีในเรื่องความสุดโต่งเกินไป อาทิ รณรงค์ไม่ให้ใช้สรรพนามเรียกสัตว์ว่า "มัน (IT)" หรือการพยายามฟ้องร้องชายคนหนึ่งในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ เพียงเพราะชายคนดังกล่าวต่อยจิงโจ้ เป็นการป้องกันตัวหลังจากจิงโจ้พยายามรัดคอสุนัขของเขาและจิงโจ้มีท่าทีจะเข้ามาทำร้าย เขาจึงสาวหมัดใส่จิงโจ้ก่อน รวมถึงเรื่องการออกมาเรียกร้องให้บริษัทไอศกรีมแห่งหนึ่งเปลี่ยนมาใช้ "นมคน" แทน "นมวัว" หรือกรณีที่มีข้อพิพาทกับไทย 

1727686911025

PETA กล่าวหา ไทยใช้ลิงเก็บมะเพร้าวเป็นการทรมานสัตว์

อย่างที่ได้กล่าวแล้วในข้างต้น แม้วัตถุประสงค์ของ PETA (พีต้า) คือการ พิทักษ์สิทธิ์สัตว์ แต่การถูกมองว่าสุดโต่งในหลายเรื่องก็ตามติดเป็นเงาที่สลัดไม่หลุด

เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2020 องค์กรพิทักษ์สัตว์ PETA  กล่าวหาว่า สวนมะพร้าวหลายแห่งในประเทศไทย มีการใช้ แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว ซึ่งเข้าข่ายเป็นการทรมานสัตว์ ส่งผลให้ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างน้อย 4 แห่งของอังกฤษ เก็บสินค้าที่แปรรูปจากมะพร้าวทุกชนิดซึ่งรวมถึง กะทิสำเร็จรูป และน้ำมันมะพร้าวจากไทย ออกจากชั้นวางจำหน่ายเพื่อร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านการบังคับใช้แรงงานลิง ในอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย

เรื่องจริงจังไปถึงขั้นเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษ เปิดการสืบสวนเรื่องนี้ และหามาตรการที่เหมาะสม เพื่อลงโทษประเทศไทย รวมถึงกดดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย ยุติการบังคับใช้แรงงานลิง อย่างถาวร

ปมร้อนดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นอย่างมาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของ PETA พร้อมยืนยันว่า ไทยมีวิธีการเก็บมะพร้าวในเชิงอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้แรงงานลิง เพราะการใช้แรงงานลิงเป็นวิธีที่มี "ต้นทุนสูง" และ "ไม่คุ้มค่า" ต่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ขณะที่เกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวต่างออกมาโต้ โดยมองว่าการที่ PETA กล่าวหาเช่นนี้ ไม่ยุติธรรมเลยสำหรับคนไทย ลิงเก็บมะพร้าว คือภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานับ 100 ปี คำว่าทารุณกรรมลิงถือว่าเป็นคำที่รุ่นแรงเกินไป เพราะลิงที่เราเลี้ยงเปรียบเสมือนครอบครัว รักเหมือนลูก ให้ข้าว ให้น้ำ นม ผลไม้ แม้แต่สิ่งที่เห็นว่าลิงกินได้ก็จะนำมาให้กินไม่แตกต่างจากลูกตัวเอง

ลิงเก็บมะพร้าว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นร้อนดังกล่าวค่อยๆ มอดก่อนดับไป กระทั่งเกิดประเด็นใหม่อีกครั้งที่ PETA จวกไทยทรมานสัตว์ พร้อมเรียกร้องให้ปล่อย "หมูเด้ง" กลับคืนสู่ธรรมชาติ

หมูเด้ง

 หมูเด้ง

หมูเด้ง

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม