เพจดังโพสต์เปรียบเทียบ ธุรกิจรถโรงเรียนในสหรัฐฯ-แคนาดา ต้องผ่านข้อบังคับเข้มข้น-ต้องออกแบบพิเศษ มีความปลอดภัยสูงกว่ารถโดยสารปกติ
จากเหตุการณ์ ไฟไหม้รถบัสที่นำนักเรียนจาก จ.อุทัยธานี เข้ามาทัศนศึกษาในกทม. และเกิดอุบัติเหตุ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
วันที่ 2 ต.ค. 67 เฟซบุ๊กเพจ “Money Disruptor” โพสต์ข้อความระบุว่า “ความปลอดภัย และธุรกิจรถโรงเรียนในสหรัฐฯ”
“หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า หนึ่งในธุรกิจที่มีกำแพงการแข่งขัน (Barrier of Entry) สูงที่สุดในสหรัฐ คือธุรกิจ “รถโรงเรียน” ปัจจุบันมีเด็กกว่า 26 ล้านคนในสหรัฐและแคนาดา ใช้รถโรงเรียนกว่า 5 แสนคัน แต่ส่วนใหญ่ ถูกบริหารโดย 3 บริษัทแค่นั้น (Oligopoly) คือ Blue Bird, Thomas และ IC”
“เงินรายได้ส่วนหนึ่ง มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งทำให้รถโรงเรียน ต้องผ่านข้อบังคับที่เข้มข้นมากมาย และต้องมีการออกแบบพิเศษ ที่ "ปลอดภัยสูงกว่า" รถโดยสารปกติ เช่น”
1/ การออกแบบ
- ตัวถังสีเหลืองเฉพาะ "National School Bus Glossy Yellow" เพื่อให้แยกแยะได้ชัดเจน มองเห็นได้ง่าย ในทุกสภาพอากาศ
- มีแขนหยุดและไฟกระพริบ ใช้แจ้งให้ผู้ขับขี่อื่นๆหยุดรถ เมื่อเด็กๆ กำลังเดินขึ้นหรือลง
- มีพนักพิงสูงและการแบ่งพื้นที่ ป้องกันเด็กในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เรียกว่า “Compartmentalization"
- รถสมัยใหม่ มีระบบติดตาม GPS ผ่านแอปพลิเคชัน และแจ้งเตือนผู้ปกครอง เมื่อรถใกล้ถึงจุดรับส่ง
- มีกล้อง เพื่อตรวจตราติดตามพฤติกรรม ของนักเรียนและคนขับ และช่วยสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
2/ การป้องกันไฟไหม้
- ภายในใช้วัสดุกันไฟ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของไฟ
- มีระบบดับไฟอัตโนมัติ และระบบป้องกันการลุกไหม้ของถังน้ำมันเชื้อเพลิง
- ติดตั้งทางออกฉุกเฉินหลายแห่ง เช่น ประตูหลัง ช่องหลังคา และหน้าต่างด้านข้าง เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถออกจากรถได้อย่างรวดเร็วในกรณีฉุกเฉิน
3/ ข้อบังคับ
- มีมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์ (FMVSS) ที่เฉพาะเจาะจง เช่น การป้องกันการชน มาตรฐานการเบรก และความแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งเข้มงวดกว่า และถูกตรวจสอบบ่อยครั้งกว่ารถโดยสารปกติ
- มีการฝึกอบรมคนขับอย่างละเอียด วิธีการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ต้องมีใบขับขี่เชิงพาณิชย์พิเศษ
4/ การใช้พลังงานสะอาด
เพิ่งเริ่มสนับสนุนอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2021 โดยรัฐบาลสนับสนุนงบถึง $5b ใน 5 ปี ในการทยอยเปลี่ยนรถโรงเรียนให้เป็น Zero-emission เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ลดเสียงรบกวน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งรถโรงเรียน ที่ส่วนมาก มีเวลาและเส้นทางการวิ่งที่แน่นอน และเวลาจอดพักนานกว่าปกติ จึงเหมาะกับการใช้งานรถไฟฟ้ามาก
“ด้วยมาตรฐานสูง และการตรวจสอบที่เข้มงวดที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี ธุรกิจรถโรงเรียนในสหรัฐฯ จึงมีเพียงผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย ที่ผ่านคุณสมบัติ ซึ่งไม่ว่ารายไหน สิ่งสำคัญที่สุดอันดับหนึ่ง คือ ความปลอดภัยของเด็กนักเรียนครับ For school bus business, safety is always the number one priorit”
ขณะที่ชาวเน็ตเข้ามากดไลก์และกดแชร์ข้อความดังกล่าวเป็นจำนวนมาก พร้อมคอมเมนต์แสดงความคิดเห็น อาทิ
ไทยเราไม่เคยมีรัฐบาลไหนสนใจครับ เฮ้อ,ประเทศที่ตามหลังเขาหลายชั่วอายุไข,การศึกษาไทยก็ copy สหรัฐมามากมาย แต่ระบบความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนอาจจะลืม copy มาหรือไม่สนใจ, ไทยเราอีก 5 ปี10ปี ก็คงไม่มีวันได้ทำขนาดนั้นหรอกครับ เพราะเป็นประเทศที่ไม่จริงจัง และไม่เห็นความสำคัญของเรื่องพวกนี้แม้แต่นิดเดียว แค่เรื่องง่ายๆ ตรวจเช็กประตูฉุกเฉินให้ใช้งานได้ปกติ พกถังดับเพลิง เรียนรู้การใช้ถังดับเพลิงของคนดูแล คนขับรถ แค่นี้ยังไม่ทำไม่ได้กันเลย,นอกจากรถโรงเรียนตามที่กล่าวมา ในส่วนของโรงเรียน/นักเรียนและเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย มีการซ้อม School bus evacuation drills ทุกชั้นตั้งแต่อนุบาล ขี้นไป,ไม่ใช่แค่รถโรงเรียน ระบบโครงสร้างพื้นฐานเขาได้รับการพัฒนา เป็นต้น
ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : เพจ Money Disruptor