การเดินทางสู่ปีที่ 18 แบรนด์ POEM ตำนานชุดเอวสับ ทลายภาพจำเดิมจาก "ความงามแห่งอุดมคติ" สู่ "ความงามแห่งอุดมการณ์" Amarin Online พาไปคุยกับ "ฌอน-ชวนล ไคสิริ" Creative Director ผู้ก่อตั้งแบรนด์ POEM
#อยากขึ้นยานแม่ต้องแวร์โพเอ้ม ใครเป็นผู้จุดประกายคำนี้ ?
"มาจากทวิตเตอร์สมัยก่อน ปี 2018 โดย น้องญาญ่า ใส่ชุดฟินาเล่ แล้วมีชาวเน็ตคนหนึ่ง มีคนโพสต์รูป แชร์กันเยอะ แล้วน้องที่ออฟฟิศแคปมาให้ดู #อยากขึ้นยานแม่ต้องแวร์โพเอ้ม แล้วเราก็ชอบมาก ด้วยความที่เป็นภาษาไทย ซึ่งเรารู้สึกว่า ภาษาไทย เป็นภาษาที่เราใช้ในการสื่อสารในการสร้างแบรนด์ได้ดีมากที่สุด มันเป็นสิ่งที่เข้าใจ เก็ท คนจำได้ ทำให้เราเลือกเอาแฮชแท็กนี้มาใช้เป็นแฮชแท็กของแบรนด์"
"ตอนแรกที่มีแฮชแท็กนี้คนก็ยังไม่ได้แชร์มาก แต่ผ่านไป 1 ปี คุณช่อ พรรณิการ์ วานิช ใส่ชุด POEM โหวตนายกปี 2019 แฮชแท็กนี้ถูกกลับมาใช้อีกครั้งแล้วเป็นไวรัลจริงๆ เรื่องที่คุณช่อใสว่ชุด Ombre ของ POEM"
เส้นทาง 18 ปีของแบรนด์ ช่วงที่ยากที่สุดคือตอนไหน ?
"แน่นอนว่าต้องเป็นช่วงที่มีสถานการณ์ทางการเมืองที่ดุเดือดมาก ประมาณปีพ.ศ. 2553 -2010 เป็นช่วงเคอร์ฟิว ให้ปิดร้าน สมมุตเปิดร้านช่วง 10 โมงเช้า เที่ยงประกาศออกจากพื้นที่ แล้วผมเป็นคนที่ไปดูร้านเอง พอม็อบอยู่ตรงนั้น มันทำให้การค้าขายทำไม่ได้ ในมิติของการทำธุรกิจมันยากมาก ในช่วงเดือน พ.ค. 2533 ก็เกิดเหตุการณ์ที่มี สลายการชุมนุม เราที่ทำธุรกิจในพื้นที่ตรงนั้นก็ได้รับผผลกระทบไปด้วย เป็นปีที่ยากที่สุดในตลอด 18 ปีที่ทำธุรกิจ"
ผ่านวิกฤติมาได้ยังไง ?
"แน่นอนเราต้องบริหารจัดการเรื่อง Cash Flow (งบกระแสเงินสด) ด้านการเงิน เป็นสิ่งสำคัญมาก รายรับไม่มีเข้ามาเลย ไม่มีคนมาเดินสยามเลย คนที่มาสยาม ปทุมวัน ราชประสงค์ มาเพื่อชุมนุม เราไม่มีลูกค้าเข้ามา เราจะทำยังไง เรามีช่างและทีมงานที่ต้องจ่ายเงินเดิน การบริหารเรื่อง cash flow จึงสำคัญมากทำให้ผ่านช่วงนั้นมาได้"
เสื้อผ้าของ POEM สะท้อนเรื่องราวของสังคมในแง่ไหน ?
"มันอาจจะไม่ได้สะท้อนทั้งหมด แต่มันคือส่วนหนึ่ง เราเป็นไทยดีไซเนอร์ ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถแยกเรื่องการเมืองออกจากเรื่องราวชีวิตของเราในมิติไหนได้เลย ไม่ว่าจะมิติการของทำงานเป็นดีไซน์เนอร์ ไม่ว่าจะเป็นมิติการเป็นคนทำธุรกิจแฟชั่น การเมืองมีผลกระทบใหญ่ที่สุดในธุรกิจ กับแนวความคิดในการออกแบบของเรา ความเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวของสัมคม โดยเฉพาะช่วงหลังโควิดแล้วเปิดเมืองมา แล้วเรารู้สึกว่า เราตกตะกอนความคิดจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ในข่าว การดู ในโซเชียลมีเดีย"
"ฉะนั้น เรื่องการเมืองและแฟชั่น ส่วนตัวสำหรับผมแยกจากกันไม่ได้ แล้วเราเชื่อว่า ถ้าเราใช้ข้อความที่เราได้รับในมิติการมองสังคมไทยตอนนี้ ในมิติของการเมืองเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเพื่อจะสื่อสารว่าเราคิดเห็นอย่างไรกับประเทศของเราตอนนี้ บางทีมันอาจจะเป็นงานดีไซน์ที่ทรงคุณค่า ที่คนไทยน่าจะเสพงานดีไซน์ของเราในแบบที่ เขามองว่าเรามีดีไซน์ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้นสะด้วย"
วงการแฟชั่นไทยมีมาเฟียไหม ?
"ผมว่ามันไม่ถึงกับเป็นมาเฟียหรอก มันเป็นเรื่องของการแบ่งพรรคแบ่งพวกมากกว่า ในทุกวงการของประเทศไทย ไม่ใช่แค่วงการแฟชั่นหรอก เรื่องที่ใหญ่ที่สุดของการแบ่งพรรคแบ่งพวกก็น่าจะเป็น จุดยืนทางการเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้มข้นและเป็นประเด็นที่ร้อนแรงทำให้ดีไซน์เนอร์แบ่งพวกเป็นสองฝ่าย ถามว่ามีใครที่เป็นมาเฟียไหม ไม่ขนาดนั้น ต่างคนต่างทำแบรนด์ตัวเอง มันมีงานเยอะมาก ในบริษัทตัวเองที่ต้องดูแล ทำภารกิจให้เสร็จ แต่การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนมันกลับกลายเป็นว่าทำให้แบรนด์ของดีไซน์เนอร์แต่ละคนมีความน่าสนใจแตกต่างกันออกไป"
เรื่องที่วงการแฟชั่นไทยควรเปลี่ยนเพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก ?
"ไม่แน่ใจว่าเปลี่ยนไปแล้วก้าวสู่ระดับโลกมันทำได้หรือเปล่านะ แต่เปลี่ยนแล้วเป็นสิ่งที่ดีขึ้น อย่างตะกี้คำถามเรื่องการแบ่งพรรคแบ่งพวกใช่ไหม คือ การแบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นแนวความคิดจุดยืน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันมีเรื่องของ Generation Gap ของคนในวงการด้วย"
"ถ้าเรามองเป็นแกน X คือจุดยืนทางการเมือง ก็มีแกน Y เจเนเรชั่นแกป มันก็จะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่เข้มข้นดุเดือดมากขึ้น ถ้าเราให้ความเคารพในความหลากหลายทางความคิดและจุดยืนของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ผมว่าถ้าเราทลายอัตลักษณ์ตรงนี้ไปได้ แล้วให้ความเคารพกัน respect diversity ผมค่อนข้างมั่นใจว่าไทยแฟชั่นจะก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่านี้"
"คือถามว่าทุกวันนี้เราก้าวไปข้างหน้าไหม เราก้าวไปข้าวหน้าอยู่แล้วแหละ แต่มันอาจจะมีอะไรบางอย่างที่ติดขัดจาก conflict ตรงนี้ แต่ถ้าเราก้าวข้าม conflict ตรงนี้ไปได้ จะสปีชเร็วยิ่งขึ้น"
"อยากฝากแบรนด์ POEM กับทุกคน อยากให้ทุกคนมองสิ่งที่ผมทำด้วยสายตา ความคิดที่เป็นกลาง แล้วคุณจะเห็นว่า ในข้อความที่ผมอยากจะเล่า ในมิติแห่งความหลากหลาย ในความงามในเชิงอุดมการณ์ที่ผมอยากนำเสนอ เป็นสิ่งที่แบรนดร์อยากสร้างและขับเคลื่อนให้กับสังคมไทยให้ไปในทางดียิ่งขึ้น แล้วอาจเป็นสิ่งเดียวที่ดีไซเนอร์คนนี้จะทิ้งไว้บนประวัติศาตร์ของประเทศ มันไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์แฟชั่น หรือในหน้าแมกกาซีน"
"เมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี หรือ 100 ปี คนไทยในรุ่นหลังในอนาคตอาจจะหันกลับมามองแบรนด์ POEM และจดจำสิ่งนี้ได้ก็ได้...."