หนูเป็นยอดนักสู้! 401 วันบนโลกใบนี้ของ "น้องกันยา" ช้างน้อยนักสู้ที่ถูกโขลงทิ้งที่ภูวัว สู่ความเอ็นดูของแม่ๆ จนกลายเป็นลูกสาวแห่งชาติ ท่ามกลางบ้านสุดอบอุ่น แต่โชคร้ายวันนี้น้องจากไปจากการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส ภัยร้ายคุกคามช้างเด็กโดยเฉพาะช้างกำพร้าแม่
สะเทือนใจคนรักช้างและคนที่ได้ติดตามเรื่องราวการเติบโตของ น้องกันยา อดีตลูกช้างป่าวัยประมาณ 2 เดือน ที่ถูกชาวบ้านพบเห็นกลางทุ่งนา ใกล้กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ ในเดือนกันยายน 2566 ในสภาพผอมโซสุดน่าสงสาร ส่วนชื่อกันยาเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นจากเดือนที่พบตัวน้อง
ก่อนทางเจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จะทำการช่วยเหลือเบื้องต้นและจัดทำคอกให้อยู่ในจุดที่พบตัว เผื่อโขลงเดิมของน้องออกตามหา แต่ทว่ากลับไร้เงาโขลงเดิมมารับน้องกลับ ชุดลาดตระเวนขสป.ภูวัว จึงทำการขนย้ายลูกช้างเข้าไปอยู่ภายในพื้นที่ ขสป.ภูวัว เพื่อง่ายต่อการดูแลและการรักษาของสัตวแพทย์ เนื่องจากตอนพบน้องมีอาการอ่อนเพลีย ท้องถ่ายเหลว พบบาดแผลตามลำตัว รอยถลอกบริเวณสะดือและหลังใบหู และร้องเรียกหาแม่เป็นระยะ
เป็นภาพที่สะเทือนใจเจ้าหน้าที่ผู้พบเห็นและผู้คนในโลกโซเชียลที่ได้เห็นเรื่องราวของน้องกันยา
น้องกันยาได้รับการดูแลรักษาประคบประหงมอย่างดีจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ท่ามกลางการดูแลจากพี่ๆ เจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตอาการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกับรับการตรวจหาเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสให้กับน้อง จากช้างเด็กที่ซูบผอมและอ่อนเพลีย กลายเป็นเจ้าช้างเด็กที่แข็งแรงร่าเริงขึ้นต่างจากตอนที่พบและบาดแผลเริ่มหายดีตามลำดับ
จากช้างเด็กกำพร้าแม่ สู่บ้านใหม่หลังใหม่และได้แม่รับคอยดูแล
เมื่อ คุณภัทร-ธีรภัทร ตรังปราการ เจ้าของ Patara Elephant Conservation จ.เชียงใหม่ ประสานของรับเลี้ยงน้องกันยาพร้อมจะหาแม่รับให้กับน้องกันยา ให้เจ้าหนูได้กินนมแม่ช้างเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ตลอดจนสอนการใช้ชีวิตและคอยป้องกันอันตราย โดยมีคุณกัญจนา ศิลปอาชา แม่พระของบรรดาสรรพสัตว์โดยเฉพาะช้าง เป็นคนคอยช่วยประสานงานให้
กันยาออกเดินทางจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ สู่บ้านหลังใหม่ที่ Patara Elephant Conservation ในวันที่ 9 พ.ย. 2566 โดยมีควาญขลุ่ยและครอบครัวเป็นคนดูแลน้องเป็นอย่างดี พร้อมอัพเดตความเป็นอยู่และการเจริญเติบโตของน้องกันยาออกมาให้แม่ๆ รับรู้เป็นระยะ โดยเฉพาะภาพน่ารักของน้องกันยาและธารินที่แย่งกันดูดนมแม่ออกมาเรียกรอยยิ้มเป็นระยะ พร้อมคำอวยพรที่หลั่งไหลให้น้องเติบโตอย่างแข็งแรงไปอย่างนี้เรื่อยๆ
ในช่วงครบรอบอายุครบ 1 ขวบของน้องกันยา คุณภัทรเคยทำคลิปวิดิโอเล่าครบรอบ 1 ปีของกันยาไว้ในเพจร่มแดนช้าง Tusker Shelter จากเด็กน้อยนักสู้จากภูวัว สู่ลูกสาวแห่งชาติที่แม่ๆ ออนไลน์รักและอยากเห็นการเติบโตอย่างนี้ต่อไป ไว้อย่างซึ้งใจว่า
จากเด็กที่เกิดมาไม่ครบ แต่โตมาไม่ขาด ไม่ขาดในความหมายของผมคือ ของขวัญวันเกิดครบรอบ 1 ปีที่เรามอบให้กับน้องกันยา เป็นสิ่งที่จะพาจะดูแลปกป้องชีวิตน้องกันยาได้อย่างดีต่อไปในอนาคต น้องกันยาที่นอนหลับอยู่ภายใต้การดูแลของแม่โมลา เราเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นในขวบปีที่สองของชีวิตกันยา ภายใต้การดูแลของครอบครัวใหญ่โดยมีแม่โมลาและแม่วันดี และน้องสาวแห่งชาติก็คือน้องธาริน รวมถึงเมฆาด้วย จะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมช่วยทำให้ทุกอย่างของการก้าวเข้าสู่ปีที่สองของน้องกันยามั่นคงและมีความหมายขึ้น ผมขอขอบคุณทุกคนที่เติมเต็มและมีส่วนร่วมในการดูแลช้างทุกเชือก และโดยเฉพาะน้องกันยาในบ้านร่มแดนช้างนะครับ
กันยา..ช้างเด็กที่รู้จักประมาณตน และง่วงทุกครั้งที่ใกล้เต้า
คุณภัทร เจ้าของ Patara Elephant Conservation และร่มแดนช้าง เคยเล่าเรื่องราวการรู้จักประมาณตนของกันยาในขณะที่อยู่กับครอบครัวใหม่ไว้อย่างน่าประทับใจ รวมถึงเรื่องราวที่ทำให้หลายคนหลั่งน้ำตา กับเหตุผลว่าทำไมน้องจึงง่วงทุกครั้งที่อยู่ใกล้เต้าแม่วันดี
ผมมองว่ากันยาฉลาดมาก ฉลาดที่รู้ตัวตนของตัวเองว่าเป็นช้างที่ต้องพึ่งนมแม่วันดีและรู้ว่าแม่วันดีไม่ใช่แม่แท้ๆ ของตัวเอง และมีน้องสาวคือธาริน เพราะฉะนั้นเขารู้ทั้งรู้ว่าเขาต้องพึ่งนม เขาได้กินนมฝั่งนึงของแม่วันดี เขาเรียนรู้ว่าจะต้องกินนมฝั่งนั้น เรียนรู้ว่าทุกครั้งของการเข้ากินนมก็จะมีการแข่งขันกันกับน้องบ้าง เบียด แย่ง อย่างที่เราเห็นสงครามใต้เต้าระหว่างกันยาและธาริน ผมรู้ว่ากันยาเขาฉลาดพอที่จะขอเพียงแค่นี้ ผมว่ากันยาน่ารักและนอบน้อม คือรู้จักประมาณตนว่าร่างกายฉันแค่นี้ สิ่งที่ฉันต้องการคือแค่นี้ ฉันจะไปคิดว่าทั้งสองเต้าเป็นของฉันและทุกครั้งของการกินจะต้องมารบกับน้องธาริน มันก็ไม่ใช่เรื่อง เพราะฉะนั้นผมมองว่าเป็นเรื่องฉลาดของการวางตัวของกันยา ว่าถ้าฉันจะขอก็ขอเท่านี้ในฐานะผู้ขอ ในฐานะผู้ร่วมแบ่งปัน กันยาเขาไม่ได้เอาเยอะ เขาขอเอาเท่าที่ร่างกายต้องการก็ทำให้เขามีชีวิตรอดได้ ผมมองตรงนี้แล้วผมน้ำตาซึมนิดนึงตรงที่ว่าจริงๆ แล้วกันยาไม่ใช่ช้างที่ไม่รู้เรื่องอะไร กันยารู้และรู้เยอะด้วยว่าอะไรมากน้อยแค่ไหนที่จะทำให้ตัวเองมีชีวิตรอด
กันยาจะง่วงทันทีเมื่ออยู่ใกล้เต้า เรื่องนี้ไม่ใช่โพสต์ขำๆ แต่มันเกี่ยวกับส่วนที่ขาดหายของกันยา ใต้เต้า ใกล้แม่ วนเวียนๆ เป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่นของลูกช้าง ลูกคน ลูกสัตว์ใดๆ ก็เป็นเช่นนี้
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทำให้ผู้คนที่ได้พบเห็นรู้สึกประทับใจและยิ่งรักในน้องกันยามากขึ้น และขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องที่ทำให้กันยามีชีวิตที่ดี มีบ้านใหม่ที่อบอุ่น
ข่าวร้ายมาไวแบบไม่ทันตั้งตัว
4 พ.ย. 2567 ทางเพจ ร่มแดนช้าง Tusker Shelter ได้โพสต์ข้อความระบุว่า น้องกันยาป่วย หมอเข้าดูแลจ่ายยาเบื้องต้น เตรียมส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติจังหวัดลำปาง หลังจากที่พบว่าน้องมีอาการซึม กินน้อย หน้าเริ่มบวม เจ้าหน้าที่จึงให้ยาต้านไวรัสทันที โดยมีพังแม่โมลาตามมาด้วยเพื่อจะช่วยลดการตื่นกลัวและความเครียดของลูกช้าง และมีพ่อควาญขลุ่ยและพี่ตุ่ยตามมาดูแลน้องกันยาอย่างใกล้ชิด ซึ่งทันทีที่ถึงโรงพยาบาลช้างลำปาง น้องกันยาได้เข้าสู่กระบวนการรักษาและรับยาต้านไวรัสในทันที
ก่อนผลตรวจเลือดจะออกมาพบว่าน้องติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง หรือ EEHV อย่างที่หลายคนกลัว โดยทางทีมหมอได้ถ่ายเลือดให้กับน้องในทันที ซึ่งเลือดดังกล่าวได้รับมาจากพังแม่ขอด
ด้านคุณหนูนา กัญจนา ได้ดำเนินการจัดซื้อสเต็มเซลล์จัดส่งให้กับทีมแพทย์เพื่อช่วยในการรักษาน้องมีนา พร้อมข้อความสุดซึ้งในช่วงเย็นของวันที่ 5 พ.ย. ระบุว่า คืนนี้สเต็มเซลล์ 100 ล้านยูนิตจะถูกส่งจากกรุงเทพไปลำปาง.. คุณหมอจะเริ่มฉีดให้น้องกันยาพรุ่งนี้ เพื่อให้กันยาอยู่รอด หายจากโรคนี้…ป้าให้ได้ไม่จำกัดเลยลูก โดยมีผู้คนเข้ามากล่าวคำขอบคุณพร้อมเฝ้ารออัพเดตการรักษาน้องกันยาทางเฟซบุ๊ก NuNa Silpa-archa อยู่เป็นระยะ
จนกระทั่ง 23.31 น.ของคืนวันที่ 5 พ.ย. ปรากฎข่าวเศร้าสะเทือนใจคนที่รอติดตามอาการของน้องกันยา เมื่อทางเพจ ร่มแดนช้าง Tusker Shelter โพสต์ข้อความระบุว่า 401 วัน ทุกนาทีที่มีแต่คนรัก #กันยา ลูกคือที่สุด
ด้านเพจโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย Elephant Hospital, TECC โพสต์ข้อความว่า ขอให้ได้ไปวิ่งเล่นอย่างมีความสุขบนดาวช้าง ไม่เจ็บ ไม่ป่วยแล้วนะเด็กหญิงกันยา
และคุณหนูนา กัญจนา โพสต์ว่า น้องกันยาได้พักแล้วนะคะ น้องสู้ที่สุด..ขอหนูสู่ภพที่สูงนะลูก.. พร้อมระบุเพิ่มเติมด้วยว่า สเต็มเซลมาถึงหลังจากน้องจากไป 5 นาทีค่ะ ตอนนี้บอกไม่ถูกแล้ว
เฮอร์ปีส์ไวรัส..ทำไมถึงเป็นภัยคุกคามช้างเด็ก
เฮอร์ปีส์ไวรัส มักถูกพบในลูกช้างที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี และโดยเฉพาะช้างที่กำพร้าแม่แต่เด็ก มันมีโอกาสติดไวรัสชนิดนี้ได้ง่าย เพราะช้างเด็กจากขาดภูมิคุ้มกันจากนมแม่ที่ต้องได้รับหลังคลอด ซึ่งอาการที่พบว่าเข้าข่ายความเสี่ยงคือ ช้างจะมีอาการง่วงซึม ไม่กินอาหารหรือกินน้อยกว่าปกติ มีไข้ ตาแดง ลิ้นแดง ท้องเสีย และหน้าบวม หากตรวจพบมีสิทธิ์ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายและไวมาก
ผศ.สพ.ญ.สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้ความรู้ถึงเรื่องนี้ในงานวันช้างไทย 13 มี.ค. 2567 เอาไว้ว่า
เฮอร์ปีส์ไวรัสถือเป็นโรคคุกคามประชากรช้างเลี้ยงในประเทศไทย คือโรคติดเชื้อที่เป็นอันตรายในกลุ่มช้างเด็ก อายุน้อยกว่า 10 ขวบ ถ้าช้างเด็กได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปแล้ว จะทำให้หลอดเลือดแตก เลือดออกทั่วร่างกาย และจะตายอย่างรวดเร็วภายใน 1-3 วัน ถ้ารักษาไม่ทันก็อาจจะเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากเป็นไวรัสชนิดใหม่ ถูกค้นพบเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งความยากเกี่ยวกับการทำงานรักษาสัตว์ป่าคือ ไวรัสชอบมีความจำเพาะ ไวรัสตัวนี้จะติดเฉพาะในช้าง ที่เป็นปัญหาเพราะเรายังไม่สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อตัวนี้ได้ในห้องปฏิบัติการ เพราะฉะนั้นการผลิตวัคซีนสำหรับใช้ในการป้องกันโรคจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากเราไม่รู้คุณสมบัติขงอไวรัสชนิดนี้ ฉะนั้นโรคนี้จึงยังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญกับประชากรช้าง ทั้งช้างป่าและช้างบ้าน
ช้างป่ากับรายงานผลการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส ถือว่ายังมีไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะพบเจอกับลูกช้างที่โดนฝูงทิ้ง ร่างกายช้างอ่อนแออยู่แล้ว พอร่างกายอ่อนแอก็จะได้รับเชื้อไวรัสได้ง่าย และเชื้อไวรัสแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ผศ.สพ.ญ.สุภาเพ็ญ ยังได้เปิดเผยข้อมูลการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสในกลุ่มช้างเลี้ยง ที่เริ่มมีการเก็บข้อมูลกันมาตั้งแต่ปี 2006 จนถึงปัจจุบัน 2566 พบว่ามีจำนวนช้างที่ติดเสียชีวิตด้วยการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัสทั้งหมด 85 ตัว หรือประมาณ 8-9 ตัวต่อปีด้วยโรคนี้ ในกลุ่มช้างเด็ก โดยในช่วงโควิด 2019-2021 ข้อมูลการเสียชีวิตของมากขึ้น ด้วยข้อจำกัดของโควิดทำให้ควาญไม่สามารถดูแลช้างได้เต็มที่ ซึ่งโรคนี้ถ้าเห็นอาการเร็ว รักษาเร็ว ก็จะมีโอกาสรอดได้ ถึงจะเป็นภัยคุกคามแต่ก็ถือว่ายังไม่ได้รุนแรงมากขนาดนั้น ขณะนี้เรากำลังรอวัคซีนที่เริ่มมีต่างชาติพัฒนาวัคซีนและจะทดลองใช้แล้ว โรคนี้ถึงจะรักษายาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะรักษาไม่ได้ หากรักษาได้ทันท่วงทีช้างก็จะรอด แต่ก็จะมีเอฟเฟ็คทางร่างกายเกิดขึ้นตามมาที่เห็นแล้วรับรู้ได้ทันทีว่าติดเฮอร์ปีส์ไวรัสมา อย่างเช่น น้องจะมีอาการหน้าบวมอย่างเห็นได้ชัด พร้อมพูดถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อยากสื่อสารกับเจ้าของปางช้างและควาญช้างในการเฝ้าระวังเฮอร์ปีส์ไวรัสและการรักษา คือการได้รับการถ่ายเลือดในช้าง วิธีนี้จะช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การจากไปของน้องกันยาในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งการสูญเสียช้างเด็กที่เป็นขวัญใจแม่ๆ ในโลกโซเชียล เพราะหากใครที่ติดตามเรื่องราวของน้องกันยามาตั้งแต่วันแรกที่พบน้อง จะรับรู้ถึงความสู้ของน้องมาโดยตลอด จนวันที่ได้มีบ้านที่ดีอยู่ มีพี่ควาญที่ดูแลเอาใจอย่างดี มีแม่รับคอยดูแลมีน้องคอยเล่นด้วย แต่โชคร้ายน้องต้องมาเจอกับไวรัสร้ายคุกคามจนต้องจากไปก่อนวัยอันควร และการจากไปของกันยาในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการรับมือกับโรคไวรัส EEHV Type4 อย่างจริงจังอีกด้วย