วันที่ 16 เม.ย.63 ที่ผ่านมา พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Ittaporn Kanacharoen แสดงความเป็นห่วงประชาชนในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยระบุว่า "COVID-19 กลุ่มต่าง ๆ กับการเปิดเมืองและสมดุล"
จากข่าวที่ประเทศจีนพบกลุ่มผู้รับเชื้อไร้อาการ 6,700 คน จึงอยากขอจำแนก COVID-19 ที่พบในวันนี้ออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อความเข้าใจ ได้แก่
1. ไม่มีเชื้อ COVID-19 อาจรับเชื้อได้ทุกเมื่อ
2. รับเชื้อไร้อาการ กลุ่มเงียบ-แพร่เชื้อให้กลุ่มแรก
3. รับเชื้อมีอาการน้อย ไม่พบแพทย์-แพร่เชื้อให้กลุ่มแรก
4. รับเชื้อมีอาการมาก พบแพทย์ ตรวจ-ถูกกักตรวจในแล็บ ส่วนหนึ่งเจอเชื้อ บางส่วนต้องตรวจซ้ำ ๆ จึงเจอเชื้อ กลุ่มที่ถูกกัก 14 วันจะไม่แพร่เชื้อ กลุ่มที่ตรวจไม่เจอครั้งแรก แต่ปล่อยกลับบ้านจะมีโอกาสแพร่เชื้อ
5. อาการหนัก อยู่ใน รพ.-ได้รับการดูแลและควบคุม-โอกาสแพร่เชื้อน้อย
โดยจะเห็นว่าปัญหาคือกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 ถ้ายังไม่สามารถตรวจและนำตัวมาแยกได้ จะแพร่ให้กับกลุ่มที่ 1 เช่น คนในชุมชนได้ตลอดเวลา โดยไม่สามารถมีรายงานตัวเลขรายวัน แต่มีอยู่จริง รอวันผู้ได้รับเชื้อมากขึ้นเป็นกลุ่มที่ 4 และกลุ่มที่ 5 ถึงจะเห็นตัวเลขเหนือภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งผู้สูงอายุและคนมีโรคประจำตัว จะอาการหนักกว่าคนสุขภาพแข็งแรง อยู่ในกลุ่มนี้และจะเสียชีวิตได้มากกว่า
ฉะนั้นการเตรียมเปิดเมืองจะทำได้ต่อเมื่อ มั่นใจว่าหมดกลุ่มที่ 2 แล้ว หรือมีน้อยจนไม่สามารถแพร่ให้เกิดการระบาดซ้ำได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เปิดเมืองได้คือ ความเข้มแข็งของประชาชน ในการป้องกันมิให้โรคลุกลาม ด้วยวินัยและศรัทธากับความพร้อมของตัวพวกเขาในการที่จะปรับพฤติกรรมไม่ทำให้เกิดระบาดใหม่ ไม่ใช่ความพร้อมของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว อาศัยความพร้อมประชาชนเป็นหลัก และมิใช่ความสามารถของแพทย์และพยาบาลในการรักษาผู้ป่วย นั่นเป็นปลายเหตุแล้ว
ทั้งนี้ความท้าทาย คือ รัฐจะต้องดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ให้มีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยความเหมาะสมพอเพียง หากเปิดเมืองยิ่งช้าเท่าไหร่ พวกเขาจะยิ่งลำบากมากขึ้นเท่านั้น ปัจจัย 4 ต้องถึงมือ มีที่อยู่มีอาหารทาน มีรายได้ ที่เหมาะสม
เมื่อเปิดเมืองแล้วหลายอย่างจะเปลี่ยนไป พฤติกรรมคนจะเข้าสู่โลกใหม่ มาตรฐานใหม่ หรือ New Normal ที่ติดต่อกันน้อยลง ประชาชนระดับล่างในหลายอาชีพอาจจะหายไป หรือลดจำนวนลง อาชีพใหม่จะเกิดขึ้น การพยากรณ์เหล่านี้ควรต้องสื่อสารให้กับประชาชนทราบ เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
สุดท้ายต้องบอกว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคของหมอ แต่เป็นโรคของพฤติกรรมการติดต่อของประชาชน การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ภาคประชาสังคมต้องเดินคู่ไปกับการแพทย์ ถ้าใช้การแพทย์นำอย่างเดียว สังคมอาจอยู่ลำบาก เราอาจต้องการความปลอดภัย ป่วยน้อยตายน้อย แต่ประชาชนต้องอยู่ได้ และชนะไปด้วยกัน ไม่ใช่โรคหาย แต่ประชาชนลำบากอยู่ไม่รอด ความสมดุลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด