สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบินไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการที่ ก.คมนาคม เสนอให้ ก.คลังลดสัดส่วนถือหุ้น ระบุทำลายความเชื่อมั่นนักลงทุน และเครดิตของรัฐบาล หวั่น พนง.จะหมดสิทธิ์ได้รับคุ้มครองตาม พรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง จุดยืนของสหภาพแรงงานในเรื่องแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงการคมนาคม เสนอให้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี ครม.พิจารณา
โดยระบุว่า จากการที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อเสนอแผนฟิ้นฟูการบินไทยมาโดยตลอด และได้รับทราบข้อมูลแผนฟื้นฟูล่าสุดที่กระทรวงคมนาคม ได้เสนอ คนร.พิจารณา มี 2 ประเด็นหลัก คือ
1. เสนอให้ บริษัทการบินไทย ใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งบรรจุอยู่ในกฎหมายล้มละลายโดยผ่านกระบวนการศาลล้มละลายกลาง เป็นทางเลือกในการฟื้นฟูบริษัท สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว และเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ในประเด็นนี้ จะส่งผลดีกับบริษัทการบินไทยที่จะฟื้นฟูได้จริง และสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและผลกำไรดีกว่าเดิม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "การบินไทย"
- การบินไทยยังประกอบธุรกิจตามปกติแม้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
- "การบินไทย" พ้นรัฐวิสาหกิจ ครม.ไฟเขียว ยื่นศาลล้มละลาย
- สหภาพแรงงานฯการบินไทย ร่อนแถลงการณ์ค้านมติลดสัดส่วน ก.คลังถือหุ้น
- การบินไทยไขข้อข้องใจ พนักงานได้ตั๋วบินฟรีปีละ 7 ใบ?
- ส.ส.ภูมิใจไทย ถามจะอุ้ม "การบินไทย" ไปเพื่ออะไร
- สหภาพแรงงานการบินไทย ซัด "ทักษิณ" ต้นเหตุขาดทุนสะสมต่อเนื่อง
2. ประเด็นที่กระทรวงคมนาคม เสนอให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือครองหุ้น โดยกระทรวงการคลังลง 2% นั้น สหภาพขอแสดงจุดยืนคัดค้านในประเด็นนี้ ด้วยเหตุผลการคัดค้านดังต่อไปนี้
2.1 การบินไทยกำลังเข้าแผนฟื้นฟูกิจการโดยกระบวนการทางศาล ดังนั้น การที่กระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทในเวลานี้ อาจส่งผลให้เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านการร้องขอต่อศาลในการขอฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยบทบัญญัติในกฎหมายล้มละลายได้ เนื่องจากการที่บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ และหรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ เจ้าหนี้ิและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในบริษัทได้ ก็โดยอาศัยสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัท ดังนั้นการลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลัง ในช่วงที่การบินไทยกำลังจะเข้าแผนฟื้นฟูนั้น จึงเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของบริษัทในสายตาของเจ้าหนี้ และนักลงทุน
2.2 การลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังลงเหลือต่ำกว่า 50% จะส่งผลทำให้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยถูกยุบไปตามกฎหมาย (พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543) จะส่งผลทำให้พนักงานของบริษัท ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในช่วงการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งในแผนฟื้นฟู จะต้องมีการปรับลดพนักงาน ลด หรือยุบ บางตำแหน่งงาน รวมถึงลดสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอื่น ๆ ของพนักงาน ดังนั้น การลดสัดส่วนหุ้นของกระทรวงการคลังในช่วงนี้ จึงอาจทำให้ถูกมองได้ว่า รัฐไม่มีความจริงใจในการสนับสนุนการคุ้มครองแรงงานตามวิถีทางของกฎหมาย และเลือกปฏิบัติในแนวทางที่ไม่คำนึงถึงสิทธิของลูกจ้าง
สหภาพจึงไม่เห็นด้วย ในการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง และจะคัดค้านจนถึงที่สุด