ไม่ใช่สายเหลือง! พระวัดดอนเมืองแจ้งจับคนใส่ร้าย แจงภาพว่อนชายบนกุฏิ แค่ศิษย์ช่วยงาน (คลิป)

3 พ.ย. 60
จากกรณีที่สังคมออนไลน์แชร์เรื่องราว พระสงฆ์รูปหนึ่งเจ้าของเฟซบุ๊ก "วิเชียร ตุ่นแก้ว" โพสต์รูปเด็กวัด 4-5 คน กำลังทำความสะอาดกุฏิ และซักจีวร พร้อมโชว์เงิน พระอ้างว่าให้เป็นค่าขนม หลังพระรูปนี้กลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา สังคมจึงตั้งคำถามว่า เป็นการกระทำที่เหมาะสมหรือไม่ ในการพาเด็กชายหลายคนมาบนกุฏิ และมีการให้เงิน ซึ่งพระรูปดังกล่าวถูกมองว่าเป็นพระสายเปย์ หรือพระสายเหลือง ล่าสุด วันนี้ (2 พ.ย.60) ทีมข่าวเดินทางมาที่ วัดดอนเมืองพระอารามหลวง เพื่อมาพบกับ ดร.พระมหาวิเชียร กุลยาณเมธี พระสงฆ์ที่ปรากฏในภาพ และเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว ออกมายืนยันว่า ไม่ได้เป็นพระสายเหลือง พระสายเปย์ อย่างที่สังคมกำลังสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ตนเองเสียหาย เพราะสังคมกำลังเข้าใจผิด
ดร.พระมหาวิเชียร กุลยาณเมธี พระสงฆ์ที่ปรากฏในภาพ
พระมหาวิเชียร ระบุว่า ภาพดังกล่าวถ่ายไว้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตนเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อจะมาร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพฯ ซึ่งตนไม่ได้กลับประเทศไทยมากว่า 1 ปี ทำให้กุฏิที่อยู่สกปรก เมื่อลูกศิษย์ และญาติโยมทราบว่า ตนจะกลับมา จึงช่วยทำความสะอาด กลุ่มเด็กในภาพพ่อแม่ ก็ส่งให้มาช่วย เมื่อทำความสะอาดกุฏิเสร็จแล้ว จึงให้เงินตอบแทนเป็นสินน้ำใจให้กับเด็กๆ ตลอดเวลาที่กลุ่มเด็กชายมาช่วยงานที่กุฏิ พระมหาวิเชียร ได้ถ่ายภาพไว้และโพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อมาได้มีแฟนเพจเฟซบุ๊กสำนักข่าวหนึ่ง นำรูปดังกล่าวไปโพสต์ให้เสียหายว่า เป็นพระสายเปย์ สายเหลือง ทำให้ถูกสังคมออนไลน์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่พระมหาวิเชียรเป็นอย่างมาก ทำให้คนเข้าใจผิดว่า เป็นพระที่ทำสิ่งไม่ดี เพราะสิ่งที่เพจดังกล่าวนำไปโพสต์ไม่ใช่ความจริง เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กวัด ไม่ได้นอนที่วัด แต่เป็นเด็กที่รู้จักกันมานาน เป็นเด็กที่ครอบครัวส่งมาช่วยเหลืองานวัดเป็นประจำ พระมหาวิเชียร ระบุว่า เป็นพระประจำที่ วัดดอนเมือง มานานกว่า 20 ปี บวชเป็นพระมากว่า 30 พรรษา หากตนเป็นพระปฏิบัติไม่ดี ก็คงอยู่ในผ้าเหลืองไม่ได้นานขนาดนี้ ล่าสุดพระมหาวิเชียร ได้เดินทางไปแจ้งความที่ สน.ดอนเมืองเรียบร้อยแล้ว โดยยืนยันว่าจะเอาเรื่องเพจดังกล่าวให้ถึงที่สุด
นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนา
ขณะที่ นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนา มองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ที่ให้เงินลูกศิษย์ หลังจากมาช่วยทำความสะอาดกุฏิ และซักจีวร แล้วถ่ายภาพมาลงเฟซบุ๊ก เนื่องจากพระไม่จำเป็นต้องอวดอ้างเรื่องการให้เงิน ขณะเดียวกันในความเป็นจริง พระวินัยระบุว่า พระสงฆ์ควรทำความสะอาดกุฏิ และซักผ้าจีวรด้วยตนเอง แต่พระรูปนี้อาจจะเหนื่อยล้า จากการเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตามที่ให้เหตุผลในเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่แปลกที่ลูกศิษย์จะมาปรนนิบัติ รับใช้ เพราะลูกศิษย์วัดเป็นเด็กผู้ชาย และทุกวันนี้เด็กวัดก็หายาก แต่ถ้าหากพระรูปดังกล่าว ให้ญาติโยมที่เป็นผู้หญิงมาทำความสะอาดให้ จะไม่เหมาะสมยิ่งกว่า สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเรื่อง นานาจิตตัง มองได้ 2 มุม บางคนอาจมองว่า ไม่ถูกต้องที่ให้เงินเด็กวัด หรือลูกศิษย์ บางคนอาจจะมองเป็นเรื่องดีที่พระให้เงินลูกศิษย์ เป็นค่าขนม หรือทุนการศึกษา อย่างไรก็ตาม นายจตุรงค์ นักวิชาการอิสระด้านพุทธศาสนา มีความเห็นว่า ปัจจุบันพระมอบเงิน ให้ทุนการศึกษา ไม่ใช่เรื่องแปลก มีให้เห็นอยู่ทั่วไป แต่พระต้องทำเป็นกิจลักษณะ ต้องนำเงินใส่ซอง แล้วมอบให้ลูกศิษย์ พร้อมแนะนำว่า ถ้าพระรูปดังกล่าว อยากจะมอบเงินให้ลูกศิษย์ ควรทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ให้เงินแล้ว นำมาโพสต์โอ้อวดลงเฟซบุ๊ก นั่นคือการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก วิเชียร ตุ่นแก้ว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ