มาติดตามความคืบหน้า มาตรการจ่ายเงินเยียวยา "กลุ่มเปราะบาง" จำนวนกว่า 13 ล้านคน เดือนละ 1,000 บาท 3 เดือน รวม 3,000 บาท มาดูรายละเอียดคนกลุ่มไหนเข้าเกณฑ์บ้าง ?
หลังจากที่รัฐบาลสรุปมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด โดยมาตรการเยียวยาล่าสุดที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 คือ "เงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง" มาดูรายละเอียดมาตรการนี้กัน
ข่าวที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19
- มาแล้วงวดแรก! 10 มิ.ย. รับโอนเงินเยียวยา 'กลุ่มเปราะบาง ' เด็กแรกเกิด-6 ปี 1.4 ล้านคนรับก่อน
- เปิดวันโอน "เราไม่ทิ้งกัน" เดือนมิถุนายน เงินเข้าวันไหนกันแน่
- รีบเลยก่อนหมดสิทธิ! "เราไม่ทิ้งกัน" ปิดร้องทุกข์ 29 พ.ค. นี้
- เช็กสถานะโอนเงิน "เยียวยาเกษตรกร" ธ.ก.ส. เร่งโอนครบ 2 ล้านราย ภายใน 29 พ.ค.
สำหรับ "กลุ่มเปราะบาง" มีด้วยกัน 3 กลุ่มคือ เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี, ผู้สูงอายุ และผู้พิการ จะได้รับเงินเยียวยารายละ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีผู้ที่ได้รับสิทธิ์กว่า 13 ล้านคน ซึ่งรายละเอียดการจ่ายเงินจะเริ่มเมื่อไร หรือมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างนั้น ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะแถลงความชัดเจนอีกครั้งในสิ้นเดือนนี้
ปัจจุบัน "กลุ่มเปราะบาง" มีจำนวน 13,143,079 คน ประกอบด้วย
1. เด็กแรกเกิด ถึง 6 ปี จากครัวเรือนยากจน ไม่เกิน 1,451,468 คน
2. ผู้สูงอายุ ไม่เกิน 9,664,111 คน
3. ผู้พิการ ไม่เกิน 2,027,500 คน
สำหรับการเยียวยากลุ่มเปราะบางจะจ่ายเงินให้รายละ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 2563 โดยการจ่ายของงวดเดือน พ.ค. จะจ่ายพร้อมกับงวดเดือน มิ.ย. เป็นจำนวน 2,000 บาท ส่วนอีก 1,000 บาทจะจ่ายงวดเดือน ก.ค.
อย่างไรก็ตาม จากข้อสงสัยว่าจะต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ใหม่หรือไม่นั้น เบื้องต้นยังไม่มีการให้ลงทะเบียน เพราะจำนวนฐานข้อมูลของทั้ง 3 กลุ่ม ทางกระทรวง พม.มีข้อมูลอยู่แล้ว เนื่องจากในแต่ละเดือนจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอยู่แล้ว เดือนละ 600 บาท, เงินผู้พิการเดือนละ 800 บาท และเงินผู้สูงอายุเดือนละ 600-1,000 บาท
ส่วนเงินเยียวยาผู้พิการ 1,000 บาทที่จะจ่ายให้ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ จะมีความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ เบื้องต้น ทางกระทรวง พม.ชี้แจงว่า เป็นเงินคนละส่วนกัน โดย 1,000 บาทที่จะจ่ายให้ผู้พิการในวันที่ 29 พ.ค.นี้จะมาจากเงินกองทุนคนพิการ ที่จ่ายให้ครั้งเดียว