ครอบครัว "น้องเมย" ใจเหี่ยว "บิ๊กป้อม" พูดเคยซ่อมแค่สลบแต่ไม่ตาย ซ้ำคาใจวงจรปิดลูกล้ม หาย (คลิป)

23 พ.ย. 60
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่นายพิเชษฐ และ นางสุกัลยา ตัญกาญจน์ ได้นำร่างของลูกไปชันสูตรและพบว่าอวัยวะภายในหาย และยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิตว่า กองบัญชาการกองทัพไทยชี้แจงหมดแล้ว รวมถึงมีกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐาน และแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ทุกอย่างว่าไปตามระเบียบ และกฎหมาย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทางแพทย์ได้ประสานไปยังผู้ปกครองให้รับอวัยวะ ภายในคืนแล้วจำนวน 4 ชิ้น ภายหลังการพิสูจน์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ผ่านมา 1 เดือน และทางโรงเรียนเตรียมทหารได้ติดต่อพูดคุยกับครอบครัว รวมถึงการช่วยเหลือจัดงานฌาปนกิจศพ ซึ่งตนเห็นใจครอบครัวที่มีลูกชายเพียงคนเดียว พ่อแม่ก็ต้องเสียดาย ทั้งยังเป็นนักเรียนเตรียมทหารด้วย พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า เรื่องชิ้นส่วนอวัยวะที่ถูกตัดไปพิสูจน์ ไม่ได้เป็นการปกปิดข้อมูล และทางพนักงานสอบสวนได้รายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว ถือเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ และทางพ่อแม่ไม่ได้แจ้งมาเช่นกันว่า ยังไม่ได้รับชิ้นส่วนดังกล่าวคืน "ผมยืนยันว่าเด็กเสียชีวิต เนื่องจากสุขภาพของเด็กเอง ไม่มีการซ้อมอะไรทั้งสิ้น เขาป่วยและเชื่อว่าทางโรงเรียนไม่ได้ปิดบังข้อมูล แม้ว่าบริเวณที่เด็กล้มลงจะไม่มีภาพวงจรปิดก็ตาม เพราะหากเด็กเสียชีวิต ใครจะมาปิดบังสาเหตุก็ไม่ได้" พล.อ.ประวิตร กล่าว ส่วนที่เปิดบันทึกประจำวันของเด็ก ที่ระบุว่า น้องเมย โดนซ้อม พล.อ.ประวิตรคิดว่า "ก็โดนซ่อมกันทุกคน ผมก็เคยโดนมาเหมือนกัน เช่น วิดพื้น, วิ่ง, สก็อตจั๊มพ์ ไม่ต้องถูกตัวกัน และการซ่อมไม่ได้มากมายอะไร ขณะเดียวกันประเด็นที่เด็กเคยโดยซ่อมจนหยุดหายใจไปครั้งหนึ่งนั้น เพราะเขาเป็นโรคฮีทสโตรก ซึ่งการเป็นโรคนี้เกิดจากการฝึก หรือแม้แต่ยืนตากแดดเฉยๆ ก็เป็นเพราะอากาศร้อน ใครจะไปรู้ว่าลูกเขามีภาวะหัวใจล้มเหลวฉับพลัน พร้อมทั้งยืนยันว่า การซ่อมไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" พร้อมบอกต่อว่า "ผมก็เคยโดนซ่อม จนเกินกำลังจะรับได้ จนสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย เรื่องเหล่านี้ ก่อนจะรับเด็กเข้ามาต้องตรวจเช็คร่างกายเป็นอย่างดี แต่เข้ามาแล้วเป็นโรคฮีทสโตรกก็ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ที่ผ่านมา สัดส่วนนักเรียนเสียชีวิตจากโรคนี้จะน้อย แม้ว่าจะโดนซ่อม แต่ร่างกายแข็งแรง"
ครอบครัวของ "น้องเมย"
นอกจากนี้ นายพิเชษฐ นางสุกัลยา และ น.ส.สุพิชชา ตัญกาญจน์ พ่อแม่ และพี่สาวของน้องเมย ได้นำผลเอกซเรย์ร่างกายของ น้องเมย จากโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา ครั้งสุดท้ายก่อนเสียชีวิต 4 วัน มาเปิดเผยว่า ไม่มีกระดูกซี่โครงหัก น้องเมย ร่างกายแข็งแรง ไม่มีภาวะของโรคหัวใจใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมยืนยันว่า ครอบครัวไม่ได้กล่าวหาว่า ขโมยอวัยวะ เพียงแค่อยากได้คืน พร้อมสงวัยว่า ตามระเบียบหากเอาอวัยวะน้องเมยไป ก็ควรต้องแจ้งให้ครอบครัวรู้ ส่วนพนักงานสอบสวน สภ.นครนายก ไลน์มาบอกว่า ให้ไปรับอวัยวะน้องเมย ได้ที่ รพ.พระมงกุฎฯ ในวันพฤหัสบดี ( 24 พ.ย.60) แล้วทางครอบครัวจะนำอวัยวะไปตรวจดีเอ็นเอ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงต่อไป นายพิเชษฐ ได้เปิดเผยกับทีมข่าวอีกว่า ตนได้ทราบถึงการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ส่วนตัวรู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวมาก หลังได้ฟังประโยคคำพูดของ พล.อ.ประวิตร ที่ระบุว่า เคยถูกลงโทษเหมือนกัน แต่ตนไม่ถึงกับสลบ และคงให้ประชาชนตัดสินจากคำพูดดังกล่าวเอง ซึ่งอาจจะถูกต่อว่าด้วยซ้ำที่ออกมาพูดเช่นนี้ โดยตนต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่พูดให้ครอบครัวรู้สึกมีกำลังใจ ที่ท่านขอให้ไปพูดคุยกันเพื่อนำมาตรวจสอบอีกครั้ง และหากการเสียชีวิตในครั้งนี้ ไม่ใช่การเสียชีวิตโดยธรรมชาติ พล.อ.ประยุทธ บอกว่าก็ต้องลงโทษผู้ที่ทำผิด ส่วนคำแถลงของ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย ตนยิ่งรับไม่ได้อย่างยิ่ง เพราะไม่ให้ราคาลูกของตน ไม่นึกถึงหัวอกคนเป็นพ่ออย่างตนเลย และมีแนวทางที่คิดไว้คือ การยื่นร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่จะต้องมีการปรึกษากับทางลูกสาวอีกครั้ง
นายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ขณะที่ นายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะโฆษก และ พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะรองโฆษก ร่วมแถลงการผ่าพิสูจน์ชันสูตรศพ น้องเมย นายสมณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. สถาบันนิติวิทยาศาตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ จ.นครนายก ให้ตรวจผ่าชันสูตรศพของ น้องเมย เป็นครั้งที่ 2 ต่อมาวันที่ 27 ต.ค.ทางสถาบันฯ รับเรื่องดังกล่าว หลังจากนั้นจึงได้มีการตั้งคณะทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ 3 คน ให้ดำเนินการตรวจผ่าศพ วันที่ 30 ต.ค. โดยวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ทีมแพทย์ได้ดำเนินการผ่าพิสูจน์ ปรากฏว่าไม่พบอวัยวะภายในร่างกายบางส่วน ประกอบด้วย สมอง หัวใจ และกระเพาะอาหาร จึงประสานให้พนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ ดำเนินการติดตามหาอวัยวะเพื่อนำมาตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตใน วันที่ 3 พ.ย. ขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปผลการผ่าพิสูจน์ได้ เนื่องจากอวัยวะร่างกายยังไม่ครบ เพราะสมอง และหัวใจ สามารถบอกโรคการเสียชีวิตได้ จึงต้องรออวัยวะทั้งหมดเพื่อนำมาตรวจสอบ ถึงจะสรุปผลการผ่าพิสูจน์ และทราบสาเหตุเสียชีวิตได้ โดยในการผ่าพิสูจน์อวัยวะ จะให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้ามาดูการผ่าด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (23 พ.ย.) สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า จะนำอวัยวะทั้ง 3 ชิ้น กลับมาให้ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจพิสูจน์ และจะทราบผลการตรวจภายใน 1 สัปดาห์ จะทราบผล
นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ด้าน นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตมี 2 แบบ คือ 1.การเสียชีวิตตามธรรมชาติโดยป่วยตาย หมอจะวินิจฉัยเพิ่มโดยผ่าชันสูตร ต้องมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากญาติ แต่การผ่าพิสูจน์อาจยังวินิจฉัยไม่ได้ในทันที อาจขออวัยวะมาตรวจสอบให้ละเอียด มีกระบวนการหลายขั้นตอน 2.การเสียชีวิตโดยไม่ใช่แบบธรรมชาติ เช่น ถูกคนอื่นฆ่าให้ตาย หรือโดยสัตว์ทำ อุบัติเหตุ หรือไม่ปรากฏเหตุ โดยแพทย์สามารถผ่านำชิ้นเนื้ออวัยวะไปตรวจสอบได้ หากอวัยวะใดน่าจะมีประโยชน์จะต้องมีการขออนุญาตจากญาติเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ขณะเดียวกัน สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า เป็นสถาบันที่มีนักเรียนแพทย์ศึกษาอยู่ด้วย เมื่อเกิดกรณีการตายผิดธรรมชาติแบบพิเศษ อาจจะมีการเก็บชิ้นส่วนอวัยวะเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษาต่อไป นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า สภาพร่างกายและอวัยวะของผู้เสียชีวิตนั้นเป็นปกติดีในตอนผ่า เพราะมีการแช่ฟอร์มาลีน สำหรับประเด็นการนำอวัยวะของผู้ตายออกไปโดยไม่แจ้งญาตินั้น ทางสถาบันฯ ไม่สามารถตัดสินใจตอบเองได้ แต่จะมีสภาองค์กรวิชาชีพ หรือแพทยสภา สามารถบอกได้ว่า ผิดจรรยาบรรณหรือไม่ ส่วนกรณีที่มีการปั๊มหัวใจหรือ CPR ผู้เสียชีวิต 4 ชั่วโมงจนกระดูกซี่โครงหัก ตรงนี้ไม่สามารถตอบได้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยโดยจะทำจนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นขึ้นมา ซึ่งการทำ CPR มีหลายแบบเช่น การให้ท่ออากาศหายใจ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องปั๊มหัวใจอย่างเดียว
พญ.ปานใจ โวหารดี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์
ขณะเดียวกัน พญ.ปานใจ อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับการเก็บชิ้นอวัยวะทางแพทย์สามารถเก็บได้โดยไม่ต้องแจ้งญาติ แต่จะดูความสำคัญในขณะนั้นเป็นอันดับแรก ว่าแพทย์จะนำไปตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร โดยในประเทศไทยยังไม่มีแผนปฏิบัติว่าจะต้องแจ้งญาติทุกครั้ง แต่เพื่อให้สบายใจทุกฝ่ายก็ควรแจ้งให้ญาติทราบ (อ่านข่าว : เปิดภาพวงจรปิด! ลำดับเหตุการณ์ วินาทีก่อน “น้องเมย” เสียชีวิต )

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวที่ได้รับความสนใจ