จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์รูปภาพกำลังอุ้มลูกน้อยกับภรรยา พร้อมระบุข้อความว่า "แฟนเพิ่งคลอดลูกได้ 2 วัน ได้รับโทรศัพท์ว่าให้ไปเซ็นรับทราบ รับเงิน 12,000 บาท แล้วถูกเลิกจ้าง #ลาคลอดอยู่แท้ ๆ แฟนทำงานโรงงานนี้มา 8 ปี"
ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ มีคนคอมเมนต์ให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก เเละบางส่วนก็ยังมีการแสดงความคิดเห็น แนะนำในเรื่องกฎหมาย หรือสิทธิต่าง ๆ ของลูกจ้าง
ล่าสุด วันที่ 8 มิ.ย. 63 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี เดินทางมาที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี น.ส.วิลัยลักษณ์ มิลาวรรณ อายุ 27 ปี เปิดเผยว่า ตนเองทำงานเป็น QC ของโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ในจังหวัดชลบุรี มา 8 ปี บริษัทคิดค่าเเรงเป็นรายวัน วันละ 349 บาท แล้วเงินออกเป็นวิก ซึ่งตามระเบียบของบริษัท กำหนดให้พนักงานลาคลอดได้ 98 วัน
ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 63 ตนเองได้ลางานเพื่อเตรียมตัวจะคลอด จากนั้นวันที่ 1 มิ.ย. 63 ก็ได้คลอดลูกสาว ตั้งชื่อว่าน้องอิง เเละวันถัดมา 2 มิ.ย. 63 ทางบริษัทได้ติดต่อมาหา บอกให้เดินทางไปที่บริษัท เพื่อให้เซ็นรับทราบว่าบริษัทได้ปลดพนักงาน เเล้วจะได้รับเงิน 12,000 บาท ซึ่งตนเองไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ เพราะยังอยู่ที่โรงพยาบาล เพิ่งคลอดลูกได้เพียงแค่วันเดียว เเละมาถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้เดินทางไป
น.ส.วิลัยลักษณ์ กล่าวต่อว่า ตนเองเพิ่งจะมาทราบภายหลังว่าทางบริษัทได้ปลดพนักงานพร้อมกันประมาณ 200 คน โดยที่ไม่มีการเเจ้งล่วงหน้า ตอนนี้ตนเองเครียดมาก กลัวว่าเงินจะไม่พอเลี้ยงลูก ตนเองก็ไม่รู้กฎหมาย ดังนั้นจึงตั้งใจว่าหากรักษาตัวเองหาย
ก็จะเดินทางไปปรึกษากับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานถึงเรื่องสิทธิที่ตนจะได้รับ ตนอยากจะขอความเห็นใจไปถึงบริษัท ขอใช้ชดเชยตามกฎหมาย เพราะทำงานอยู่ด้วยกันมาตั้ง 8 ปี ตนเองไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก ขอเพียงเเค่ได้รับการเยียวยาตามสิทธิ์เท่านั้น
นายจิรศักดิ์ บานบัว สามีของน.ส.วิลัยลักษณ์ อายุ 27 ปี เป็นเจ้าร้านขายอุปกรณ์ตกปลา บอกว่า หลังจากภรรยาถูกเลิกจ้าง ตอนนี้ก็เครียด ซึ่งตั้งเเต่เชื้อโควิด-19 ระบาด ทางร้านขายของไม่ค่อยได้ จากเดิมเคยขายได้เดือนละ 50,000-60,000 บาท ตอนนี้รายได้เหลือเพียง 12,000 บาทเท่านั้น ต้องแบกภาระค่าเช่าร้านเดือนละ 3,500 บาท กับค่าน้ำค่าไฟ เดือนละ 4,200 บาท อีกทั้งตอนนี้มีลูกน้อย เเละภรรยาก็ยังไม่สามารถทำงานได้ การที่บริษัทปลดพนักงานเเบบนี้ ตนเองมองว่าไม่เเฟร์ จึงอยากจะขอความเห็นใจด้วย
นางฝน (นามสมมติ) พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง เปิดเผยว่า ตนเองทำงานเป็นพนักงานฝ่ายผลิตมา 9 ปี บริษัทคิดค่าเเรงเป็นรายวัน วันละ 348 บาท โดยก่อนจะถูกปลด บริษัทไม่มีการเเจ้งพนักล่วงหน้า จนกระทั่งวันที่ 2 มิ.ย. 63 ตอนเช้าพนักงานทุกคนยังทำงานตามปกติ เเต่ช่วงเวลาประมาณเที่ยง บริษัทเรียกประชุมพนักงานที่โรงอาหาร จากนั้นคณะผู้บริหารของบริษัทได้ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 200 คน โดยชี้แจงว่าจากสถานการณ์โควิด-19 บริษัทไม่มีออเดอร์ ส่งผลต่อสภาพคล่อง จึงจำเป็นต้องปลดพนักงานบางส่วน ซึ่งบริษัทก็นำเอกสารมาให้เซ็น นำเงินใส่ซองให้คนละ 12,000 บาท ตนเองเสียใจมาก ไม่คิดว่าจะตกงานเเบบนี้ อีกทั้งเงินชดเชยที่ได้รู้สึกว่าน้อยเกินไป
นายสมภพ มาลีแก้ว หัวหน้าสำนักงานสวัสดิการคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ตนเองได้มีการเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว ทราบว่าบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่รับงานต่อจากบริษัทใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และตั้งแต่สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทางบริษัทใหญ่เกิดปัญหาในการนำเข้าชิ้นส่วนผลิต ส่งผลให้ทางบริษัทใหญ่ต้องส่งคืนบริษัทซัพคอนแทรค จำนวน 4 แห่ง
หลังจากนั้น บริษัทซัพคอนแทรค ทั้ง 4 แห่ง จึงได้ขอใช้สิทธิ์กรณีเหตุสุดวิสัย 62% จากประกันสังคม ในขณะเดียวกันทางบริษัทใหญ่ เห็นว่าด้วยการทำงานที่อยู่ด้วยกันมานานจึงได้ช่วยเหลือเยียวยาพนักงานของบริษัทรายละ 12,000 บาท เพื่อให้ครบ 100% จากการใช้สิทธิ์ กรณีเหตุสุดวิสัย 62% ประกันสังคม ปรากฎว่ามีแค่ 1 ในบริษัทซัพคอนแทรคที่ทำตามเงื่อนไข ชดเชยพนักงาน ส่วนอีก 3 บริษัทกลับลอยแพพนักงาน และบอกพนักงานว่าจะจ่ายให้ 12,000 บาท แต่ให้เขียนใบลาออกด้วย ส่งผลให้ น.ส.วิลัยลักษณ์ ที่เป็นพนักงานของบริษัทเข้าใจผิด
ด้านนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ข้อมูลว่า การเลิกจ้างพนักงาน โดยอ้างว่าขาดทุน ต้องเลิกจ้างทั้งบริษัท ไม่ใช่คัดออกเป็นกลุ่ม ๆ และต้องนำบัญชีผลประกอบการและกำไรสะสมมาแสดงว่า ขาดทุนจริงหรือไม่ หรือแค่ขาดทุนกำไร, การเลิกจ้างพนักงาน ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 เดือน หรือ 1 งวดค่าจ้าง และกฎหมายแรงงานเขียนไว้ชัดว่า ห้ามเลิกจ้างหญิงมีครรภ์ ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ดังนั้น พนักงานที่ลาคลอดบุตรแล้วถูกเลิกจ้างสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายแรงงานได้