วันที่ 22 มิ.ย.63 การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้ ในช่วงการตั้งกระทู้ถามด้วยวาจานั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถามเรื่อง การรื้อถอนโบราณสถาน บ้านบอมเบย์ เบอร์ม่า ที่จ.แพร่ว่า ขณะนี้เกิดการกระทำผิดกฎหมายชัดแจ้ง เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาด้วย เพราะอาคารแห่งนี้ถือเป็นโบราณสถาน ซึ่งอาจมีความเข้าใจผิดเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโบราณสถานแล้วจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเท่านั้น ตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพ.ศ.2504
โดยนิยามคำว่าโบราณสถานหมายถึง อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การเป็นโบราณสถานตามนิยามของกฎหมายไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด
ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งการดำเนินการตามกฎหมาย และการซ่อมแซมให้เหมือนเดิมมากที่สุด และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก
ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า ต้องขอโทษที่ทำให้ชาว จ.แพร่ เสียความรู้สึกจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น คือ เจ้าหน้าที่ไม่เห็นหัวอกของประชาชน ซึ่งการกระทำใด ๆ ของภาคราชการจะต้องถือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ ขณะนี้ได้ให้กรมอุทยานฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวน รวมถึงย้ายหัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวันแล้ว อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีการกระทำความผิดจะไม่ปกป้อง และต้องขอโทษที่ให้สัมภาษณ์ทั้งที่ยังได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน
ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น กรมอุทยานฯ จะขอรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพื่อให้อาคารกลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด ส่วนไม้ที่ถูกคัดแยกออกมา ทางกระทรวงฯ จะเป็นผู้ดูแล หากใครมีข้อมูลว่ามีการเอาไม้ไปขายขอให้แจ้งมาจะดำเนินการให้ถึงที่สุด
วันเดียวกัน นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ เป็นตัวแทนชาวบ้านจาก 18 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ประมาณ 70 คน เดินทางไปยังสนามข้างอาคาร บอมเบย์ เบอร์มา ที่ถูกรื้อทุบทิ้ง เพื่อทำพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่สิงสถิตอยู่ในบริเวณอาคาร หลังจากมีการถูกรื้อทิ้ง โดยพิธีมีการนำเอาดอกไม้ธูปเทียน สิ่งของบูชา แม่น้ำยม และภาพถ่ายจำลองของอาคารดังกล่าว โดยมีอาจารย์กล่าวคำขอขมา และมีการกล่าวสาบแช่งผู้กระทำคิดค้นในการทำลายทรัพย์สินของชาวแพร่
นายบำรุง พาใจ พ่ออาจารย์ บอกว่า พิธีดังกล่าวเป็นพิธีขอขมาแก่เจ้าที่เจ้าฐาน โดยการนำ ของมาใส่สะตง ประกอบด้วย ข้าว แกงส้มแกงหวาน บุหรี่ กล้วย หมาก ใบพู ขนม ปลาดิบ เนื้อดิบ อย่างละ 8 เรียกว่าเครื่อง 8 ใช้สำหรับไล่สิ่งไม่ดีออกไป สำหรับการทำพิธีในครั้งนี้ที่ได้ว่าเป็นการขับไล่สิ่งไม่ดีออกไปและเหมือนการสาบแช่ง หากใครคิดไม่ดีก็ขอให้มีอันเป็นไป แต่หากใครไม่มีเจตนาทำร้ายกรือทำลายก็ขอให้คุ้มครองให้ปลอดภัยจากสิ่งต่างๆ
หลังจากที่ทำพิธีแล้ว ตัวแทนชาวบ้าน 18 ชุมชน นำดอกไม้มาวางโต๊ะที่มีรูปภาพจำลองตั้งอยู่เพื่อเป็นการไว้อาลัย อาคารที่ถูกทุบทิ้ง บางคนถึงกับร่ำไห้ และกล่าวแสดงความเสียใจโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่เคยได้เห็นภาพและได้ผูกพันกับอาคารดังกล่าว จากนั้นก็ได้นำเอา สะตวง ที่ชาวบ้านนำมาทำพิธีไปลอยแม่น้ำยม