เหมืองหยกพม่าถล่ม ยอดตายพุ่ง 160 ราย

3 ก.ค. 63

จนท.พม่ากู้ร่างเหยื่อดินถล่มเหมืองหยกได้กว่า 160 ศพ คาดยังจมอยู่ใต้โคลนอีกเพียบ

ศพของคนขุดหาหยกมากกว่า 160 คน ถูกกู้ขึ้นจากทะเลโคลนหลังเกิดเหตุดินถล่มในพื้นที่ตอนเหนือของพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี ที่นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมที่อันตรายนี้ โดยในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจำนวนมากขณะทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมที่มักใช้แรงงานคนต่างถิ่นที่มีค่าแรงต่ำเข้าขุดหาอัญมณีที่เป็นที่ต้องการสูงในจีน

ภัยพิบัติครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังมีฝนตกหนักในบริเวณเหมืองในรัฐกะฉิ่นใกล้กับชายแดนจีน ที่เชื่อว่ามีหยกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ถูกสกัดออกไปจากพื้นที่ในแต่ละปี ส่วนหนึ่งของภูเขาเกิดพังถล่มร่วงลงสู่ทะเลสาบเบื้องล่างทำให้เกิดคลื่นโคลนซัดเข้าใส่คนงานที่วิ่งหนีขึ้นเนิน “มีคนลอยอยู่ในน้ำเยอะมาก” คนในพื้นที่กล่าว

เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่มาจากหน่วยดับเพลิงและตำรวจท้องถิ่นต่างทำงานกันตลอดทั้งวันเพื่อนำศพขึ้นจากทะเลโคลนท่ามกลางสายฝนที่ตกหนักต่อเนื่อง

“จนถึงเวลาประมาณ 19.15 น. พบศพทั้งหมด 162 ศพ” กรมดับเพลิงระบุ นอกจากนี้ยังมีคนได้รับบาดเจ็บอีก 54 คน ถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง

ร่างคนงานเหมืองไร้ชีวิตเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนนอนเรียงเป็นแถวใต้ผืนผ้าใบ บางคนรองเท้าหาย เป็นผลจากแรงปะทะของคลื่นโคลนที่ซัดเข้าใส่พวกเขา

“เราไม่สามารถขุดหรือหาศพที่ถูกฝังอยู่ใต้น้ำได้ เราเลยกู้เฉพาะศพที่ลอยอยู่” ตำรวจนายหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพี และว่าฝนตกหนักอาจทำให้เกิดดินถล่มอีก

พม่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตหยกที่ใหญ่ที่สุดของโลก และอุตสาหกรรมนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยความต้องการที่ไม่มีวันหมดจากจีน

องค์กรโกลบอลวิทเนสระบุว่าเหตุการณ์ดินถล่มควรทำหน้าที่เป็น “การปลุกให้ตื่น” สำหรับรัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ที่พรรคของเธอให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

106460711_10219032149527221_8

เหมืองที่เกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุดนี้เป็นของบริษัทยาดานาร์ เจ (Yadanar Kyay) ตามการรายงานของเว็บไซต์ข่าวของทหาร

ตำรวจกล่าวว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจสูงยิ่งกว่านี้ หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้เตือนประชาชนให้อยู่ห่างจากหลุมในวันก่อนหน้า

เหตุดินถล่มในพื้นที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูมรสุม และเหตุการณ์ดินถล่มครั้งใหญ่ในเดือนพ.ย. 2558 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และดินถล่มเมื่อปีก่อนก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 คน

คนขุดหาหยกเหล่านี้มักมาจากชุมชนชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ยากจนที่มองหาเศษหยกที่อาจหลงเหลือจากการทำเหมืองของบริษัทใหญ่ หยกคุณภาพต่ำสามารถแลกเปลี่ยนเป็นอาหารหรือขายได้ในราคา 20 ดอลลาร์

แต่คนงานยอมเสี่ยงชีวิตของพวกเขาทุกวันด้วยความหวังว่าจะได้เจอแจ็คพ็อต หยกคุณภาพดีที่อาจทำเงินได้หลายหมื่นดอลลาร์ และเปลี่ยนชีวิตของพวกเขา

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม